Lifestyle

สูงวัยแบบ"กายฟิต-จิตดี-มีออม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พ.ศ 2564 สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

          พ.ศ 2562 “สังคมสูงวัย” คือหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนระดับชาติ เพราะประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยในอัตราเร่งที่เร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และใน พ.ศ 2564 เราจะมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มูลนิธิไฟเซอร์ ประเทศไทย และ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้ดำเนินโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” ควบคู่ไปด้วย ซึ่งผลจากการดำเนินงานมา 3 ปี พบว่า ภาคประชาชนและชุมชน คือหนึ่งในกลไกลที่สำคัญที่สุด ที่จะขับเคลื่อนและเตรียมพร้อมประเทศไทยให้เป็นสังคมสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพอย่างยั่งยืนทัดเทียมนานาประเทศ

สูงวัยแบบ"กายฟิต-จิตดี-มีออม"

ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ

          ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” มีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับประชากรวัยก่อนสูงอายุ และวัยสูงอายุ เพื่อนำไปสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “กายฟิต จิตดี มีออม” ในพื้นที่เป้าหมาย เป็นการทำงานที่เชื่อมโยงทั้งระดับประเทศและชุมชน มีการคัดเลือกผู้ที่มีอายุระหว่าง 45–59 ปี ใน 4 กลุ่มหลัก คือ อาสาสมัครสาธารณสุข ครู บุคลากรสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับท้องถิ่น เข้าพัฒนาศักยภาพให้กลายเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ให้มีความรู้และทักษะจำเป็นเกี่ยวข้องกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความมั่นคงทางการเงิน ผ่านการอบรมและกิจกรรมภายใต้หัวข้อต่างๆ ซึ่งจากการดำเนินงานในระยะเวลา 3 ปี ทำให้ได้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำนวน 41 ท่าน ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือ ต้นแบบ ของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตัวเอง และขยายผลสู่สมาชิกในกลุ่มหรือชุมชน ด้วยการสร้างสรรค์โครงการที่ช่วยพัฒนาชุมชนของตัวเองให้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

สูงวัยแบบ"กายฟิต-จิตดี-มีออม"

ศรีรัตน์ นาผลงาม 

          หนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ ต้นแบบของชาวเขตคลองเตย ศรีรัตน์ นาผลงาม เล่าว่าจากการที่ตัวเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) อยู่ในเขตพื้นที่คลองเตยมาถึง 12 ปี ทำให้ทราบถึงปัญหาของคนในชุมชนเป็นอย่างดี ปัญหาหลักที่พบคือคนสูงวัยจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง หรือโรค NCDs เป็นจำนวนมาก และพบปัญหาของเด็กๆ ในชุมชนถูกเลี้ยงแบบตามมีตามเกิด ปล่อยให้ใช้ชีวิตไปกับการทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงานจนไม่มีเวลาดูแลลูกตัวเอง จึงคิดทำโครงการ “โยคะ–ตันเถียน ล็อค 6 และ นวดเท้าเพื่อสุขภาพ” ขึ้นมา เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของสมาชิกในชุมชนคลองเตย ให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

สูงวัยแบบ"กายฟิต-จิตดี-มีออม"

กลุ่มสมาชิกในชุมชนคลองเตยสาธิตการทำโยคะ

          “กิจกรรมการเรียนโยคะเป็นการร่วมมือกับกลุ่มคนรักสุขภาพในชุมชน มีอาจารย์สอนโยคะที่รู้จักกันเข้ามาช่วยสอนให้ฟรี เริ่มจากการชวนคนในชุมชนให้มาออกกำลังกายด้วยโยคะ จากเดิมมีไม่กี่คนแต่ตอนนี้มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 30 คน กิจกรรมจัดขึ้นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ช่วงวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ผลที่ได้นั้นนอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้สูงวัยออกจากบ้าน ได้มาเข้าสังคม พบปะกัน ลดความเหงาที่ต้องอยู่ลำพังในบ้านแล้ว การออกกำลังกายด้วยโยคะยังช่วยเสริมสร้างการมีสุขภาพที่ดี เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย และยังสามารถกลับไปฝึกทำที่บ้านได้ด้วย” หนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง กล่าว

สูงวัยแบบ"กายฟิต-จิตดี-มีออม"

กิจกรรมในโครงการต่างๆ โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลง

          การขับเคลื่อนสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ จำเป็นต้องอาศัย “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่เป็นคนในชุมชน ที่จะผลักดันหรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในชุมชนได้ แม้ว่าลักษณะแต่ละชุมชนจะมีบริบทที่แตกต่างกันไป แต่การเริ่มสร้างความร่วมมือร่วมใจจากในชุมชนก่อนจึงทำได้ง่ายกว่า เมื่อชุมชนเข้มแข็ง โอกาสในการขยายผลสู่ระดับสังคม และระดับประเทศย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ