Lifestyle

เฟซบุ๊ก "ฉาว" ขโมยข้อมูล "เสียง" ผู้ใช้งาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "อินโนสเปซ" โดย "บัซซี่บล็อก" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

**************************

 

เมื่อต้นเดือนเพิ่งเขียนถึงความ ‘เข้ม’ ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป หรือ GDPR (General Data Protection Regulation) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาได้แค่ปีกว่าๆ แต่ก็กวาดเงินค่าปรับจากผู้ละเมิดซึ่งรวมถึงบริษัทระดับโลกหลายรายไปได้แล้วหลักหมื่นล้านบาท

 

และยังไม่รวมถึงกรณีเฟซบุ๊ก ที่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมปีนี้ ก็ถูกลงโทษจากคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) ให้จ่ายค่าปรับ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อหาการละเมิดระเบียบในเรื่องการหลอกลวงผู้ใช้เกี่ยวกับความสามารถในการควบคุมความเป็นส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคล

 

อีกทั้งยักษ์โซเชียลเบอร์หนึ่งของโลกรายนี้ ยังมีชื่อติดอยู่ในกระบวนการสอบสวนการละเมิดกฎหมาย GDPR ถึง 19 กรณี

 

"หัวใจ” ของกฎหมาย GDPR ก็คือ กำหนดหลักเกณฑ์ให้ทุกผู้ประกอบการต้องเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่มีสัญชาติหรือที่มีถิ่นพำนักในสหภาพยุโรปให้ได้ตามมาตรฐาน

 

มิฉะนั้นแล้วจะถูกดำเนินคดีที่มีเพดานค่าปรับสูงถึง 20 ล้านยูโร หรือ 4% ของรายได้รวมทั้งปีของธุรกิจ แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่า

 

 

สื่อใหญ่รุม ‘แฉ’ เฟซบุ๊กขโมย ‘เสียง’ ผู้ใช้

 

ล่าสุด เฟซบุ๊ก เจอมรสุมลูกใหญ่อีกครั้ง หลังถูกเปิดโปงจนต้องยอมรับกับสำนักสื่อใหญ่อย่าง ‘บลูมเบิร์ก’ ว่า ได้ส่งต่อ ‘เสียงพูด (Speech)’ ของผู้ใช้แอพเมสเซนเจอร์ (Messenger) ของเฟซบุ๊ก ไปให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทที่รับงานจากเฟซบุ๊ก ‘ฟัง’ เพื่อถอดความและพิมพ์ออกมาเป็นตัวอักษร (Text)

 

 

เฟซบุ๊ก "ฉาว" ขโมยข้อมูล "เสียง" ผู้ใช้งาน

 

 

ประเด็นสำคัญก็คือ บุคคลที่เป็นเจ้าของเสียงพูดรายนั้นๆ ไม่รู้ตัวเลยว่ามีพฤติกรรมนี้เกิดขึ้น

 

ปัจจุบันในจำนวนสาวกเฟซบุ๊กกว่า 2.38 พันล้านคน มีจำนวนผู้ใช้ Messenger ไม่ต่ำกว่า 1.3 พันล้านคน และด้วยความที่มีโปรแกรมอำนวยความสะดวกให้คนขี้เกียจพิมพ์อย่าง Speech Recognition หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถแปลงเสียงพูด (Audio File) เป็นข้อความตัวอักษร (Text)

 

โดยสามารถแจกแจงคำพูดต่างๆ ที่มนุษย์สามารถพูดใส่ไมโครโฟน โทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นๆ และเข้าใจคำศัพท์ทุกคำอย่างถูกต้องเกือบ 100% ทำให้หลายๆ คนนิยมใช้งานโปรแกรมนี้

 

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป รวมถึงที่มีการสื่อสารออกมาของเฟซบุ๊ก ตลอดจนบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายในวงการนี้ ก็คือ ‘สิ่ง’ ที่รับฟังเสียงเราและพิมพ์ออกมาก็คือ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มั่นใจได้ว่าร้อยทั้งร้อยไม่เคยจินตนาการไปถึงขั้นที่ว่าจะมีการ ‘จ้าง’ คนมาฟัง

 

 

เฟซบุ๊ก "ฉาว" ขโมยข้อมูล "เสียง" ผู้ใช้งาน

 

 

ดังนั้น ข่าวที่บลูมเบิร์กเปิดโปงออมาครั้งนี้จึง ‘กระหึ่ม’ และสำนักสื่อใหญ่ๆ ทั่วโลกช่วยกันโหมกระพือข่าวกันอย่างไม่ยั้งมือ ยกตัวอย่างเช่น บีบีซี, ฟอร์บส์, เทคครันซ์ (TechCrunch) เป็นต้น

 

อีกข้อที่น่าวิตกสำหรับกรณีเฟซบุ๊กก็คือ เบอร์ 1 แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ของโลกรายนี้ กำลังพิจารณาการผนวกรวมสมาชิกที่เป็นผู้ใช้งานแอพในกลุ่มโปรแกรมสนทนา (แชท) อย่าง WhatsApp ที่ซื้อเข้ามาอยู่ใต้ชายคาเฟซบุ๊ก ตั้งแต่ปี 2557

 

และปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกทะลุ 1.5 พันล้านคน เข้าไว้ด้วยกันกับ Messenger ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเคลียร์ตัวเองให้หลุดจากการถูกจับตามอง ในประเด็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน

 

 

เสียง’ คือข้อมูลส่วนตัวที่ต้องได้รับการคุ้มครอง

 

ในรายงานข่าวของบลูมเบิร์ก ยังอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของพนักงานบริษัทภายนอกที่เฟซบุ๊กว่าจ้างเข้ามาทำงานนี้ ว่า ข้อความเสียงที่พวกเขาทำงานด้วยนั้นได้มาจากแอพ Messenger

 

ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นจะถูกนำมาจับคู่กับสิ่งที่พวกเขาถอดข้อความเสียงออกมา และเทียบเคียงกับที่ได้จากระบบ AI ของเฟซบุ๊ก เพื่อดูว่า AI คลาดเคลื่อนหรือไม่

 

 

ทั้งนี้ พนักงานจากภายนอกที่ทำงานนี้ให้กับเฟซบุ๊ก ก็ตระหนักดีว่า งานนี้ผิดจรรยาบรรณ เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่ได้เปิดเผยให้ผู้ใช้ทราบว่า มีบุคคล/บริษัทภายนอกได้รับฟังเสียงพูด/ข้อความสนทนาของพวกเขาด้วย และในประกาศนโยบายความเป็นส่วนตัว ก็ไม่ได้ระบุถึงเรื่องที่อาจมีการฟังเสียงที่บันทึกไว้ของผู้ใช้

 

ขณะที่ ในหน้าศูนย์ช่วยเหลือก็บอกว่า การแปลงเสียงไปสู่ข้อความโดยใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Voice to Text uses machine learning) ไม่ได้บอกว่ามีการใช้คนมาฟังด้วย

 

จนถึงวันนี้ ในส่วนของเฟซบุ๊กเอง ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อะไร อย่างไรก็ตาม ล่าสุดโฆษกของเฟซบุ๊ก ได้ออกแถลงการณ์ว่า ยกเลิกการว่าจ้างบริษัทภายนอกมากถอดข้อความเสียงของลูกค้าแล้ว เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้

 

 

 

เฟซบุ๊ก ไม่ใช่รายแรกที่ขโมย ‘เสียง’

 

ด้านโฆษกของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูล (Data Protection Commission) ประเทศไอร์แลนด์ ที่กำกับดูแลเฟซบุ๊ก เนื่องจากสำนักงานใหญ่เฟซบุ๊ก ตั้งอยู่ที่กรุงดับลิน ในประเทศนี้ บอกว่า กำลังขอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของฟีเจอร์แปลงเสียงเป็นข้อความ และวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยก่อนหน้านี้ ก็ดำเนินการลักษณะเดียวกันนี้กับ กูเกิล แอปเปิล ไมโครซอฟท์

 

 

เฟซบุ๊ก "ฉาว" ขโมยข้อมูล "เสียง" ผู้ใช้งาน

 

 

ซึ่งล้วนเป็นบริษัทไอทีระดับโลก เพราะพฤติกรรมนี้ถือเป็นการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามที่กฎหมาย GDPR กำหนดไว้

 

การแข่งขันการพัฒนาความสามารถขั้นเทพ ให้แก่โปรแกรมที่เป็นระบบซอฟต์แวร์ควบคุมด้วยเสียง (Voice Command System) หรือการใช้แชทบอท มาเป็นผู้ช่วยในการพูดคุยโต้ตอบ รับฟังและแนะนำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ใช้งาน

 

ไม่ว่าจะเป็น Alexa ของ Amazon, โปรแกรม Google Assistant ของกูเกิล และสิริ (Siri) ของแอปเปิ้ล ซึ่งในการทำงานจริงไม่ใช่ด้วยความสามารถของ AI ทั้ง 100%

 

ล่าสุดก็ได้หยุดใช้คนในการรีวิวเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกลงดาบด้วยกฎหมาย GDPR

 

หันกลับไปฟังเฟซบุ๊ก ได้ชี้แจงเบื้องต้นว่า ข้อมูลเสียงที่ส่งไปยังบริษัทภายนอกนั้น มีการปกปิดและไม่ระบุตัวตนของเจ้าของเสียง และการรวบรวมข้อมูลเสียงก็ทำเฉพาะกรณีผู้ใช้ Messenger เลือกใช้ฟีเจอร์แปลงเสียงเป็นข้อความ (Voice to Text)

 

 

เฟซบุ๊ก "ฉาว" ขโมยข้อมูล "เสียง" ผู้ใช้งาน

 

 

และอนุญาตให้มีการเข้าถึงข้อมูลการใช้งานไมโครโฟนเท่านั้น ไม่เคยดักฟังจากไมโครโฟนของผู้ใช้งาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอุปกรณ์หรือการเปิดใช้งานที่ชัดเจนของผู้ใช้

 

ขณะที่ ในฝั่งของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ก็มองว่า การถอดข้อความเสียงนั้น แม้จะทำโดยโปรแกรม AI ก็อาจเป็นประเด็นปัญหาได้เช่นกัน เนื่องจากในเสียงที่ถูกบันทึกไว้นั้น ยังอาจมีเนื้อหาที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของ ‘บุคคลที่ 3’ รวมอยู่ด้วย (นั่นหมายความว่า แม้จะได้รับอนุญาต

 

จากการยอมรับในหน้าศูนย์ช่วยเหลือที่ระบุแจ้งไว้ว่า “การแปลงเสียงไปสู่ข้อความโดยใช้แมชชีนเลิร์นนิง (Voice to Text uses machine learning)” แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่ 3 ซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกเสียงนั้นด้วยล่ะ จะทำอย่างไร

 

พร้อมยกตัวอย่างกรณี ไฟล์เสียงที่ ‘หลุด’ จากระบบผู้ช่วยเสียง (Google Assistant) ไปถึงสื่อเบลเยียม ซึ่งแค่ได้ยินเนื้อหา นักข่าวก็สามารถระบุข้อมูลส่วนบุคคลได้แล้ว โดยเฉพาะถ้ามีการเอ่ยชื่อ

 

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีคลิปเสียงภาษาดัตช์หลุดออกมา โดยสื่อสำนักหนึ่งของเบลเยียมได้รับคลิปเสียงมากกว่า 1,000 คลิป ในนั้นมีราว 150 คลิป ที่ถูกบันทึกโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

 

เฟซบุ๊ก "ฉาว" ขโมยข้อมูล "เสียง" ผู้ใช้งาน

 

 

ทำให้ในที่สุด กูเกิล ออกมายอมรับว่าพนักงานสามารถเข้าไฟล์เสียงการพูดคุยที่ทาง Google Assistant บันทึกไว้ได้ โดยกำลังสืบสวนอยู่ว่าหลุดออกมาได้อย่างไร

 

ทั้งนี้ กูเกิล บอกว่า ทีมงานรีวิวบทสนทนาบน Google Assistant (หมายเหตุ : เวลาที่เราใช้งาน Google Assistant ระบบจะทำการบันทึกเสียงอัตโนมัติ เมื่อเราพูดว่า “OK, Google”

 

ซึ่งทางบริษัทบอกว่า เก็บข้อมูลเพื่อให้เข้าใจภาษาพูดให้ดียิ่งขึ้น) ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้ซอฟต์แวร์ของกูเกิล ทำงานได้หลายภาษา และเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างเทคโนโลยีวิเคราะห์เสียงพูด (Speech Technology)

 

 

จ่อ’ โดนค่าปรับหลายหมื่นล้านบาท

 

กรณีของเฟซบุ๊ก ก็มีการรายงานล่าสุดจากวอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) ว่า ค่าปรับอาจทะลุหลักพันล้านยูโร หรือหลายหมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ ต้องรอผลการตัดสินใจอย่างเป็นทางการซึ่งทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ จะส่งไปยังหน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป ในปลายเดือนกันยายนนี้

 

 

เฟซบุ๊ก "ฉาว" ขโมยข้อมูล "เสียง" ผู้ใช้งาน

 

 

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป ก็ระบุว่า ใกล้ได้ข้อยุติผลการสืบสวนเฟซบุ๊ก ในหลายข้อหาที่เกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมาย GDPR ทั้งนี้ ทางไอร์แลนด์ เป็นผู้ยื่นข้อหาทั้งหมด 11 ข้อหาให้ทางอียูสอบสวน

 

ซึ่งบางส่วนผลจะออกมาปลายกันยายนนี้ โดยมีทั้งกรณีที่ต้องจ่ายค่าปรับ และมีมาตรการลงโทษ

 

คาดว่าผู้บริหารเฟซบุ๊ก รวมทั้งผู้ถือหุ้น คงหนาวๆ ร้อนๆ กับผลประกอบการปีนี้ที่น่าจะหดหายลงไปแยะ

 

เพราะเมื่อไม่นานนี้ก็เพิ่งโดนค่าปรับในข้อหาลักษณะเดียวกันในบ้านตัวเองไปแล้วถึง พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ1.5 แสนล้านบาทซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว

 

**************//***************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ