Lifestyle

'ส่อง' สถานการณ์สงครามต้าน 'เฟคนิวส์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "อินโนสเปซ" โดย "บัซซี่บล็อก" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

******************************

 

ผลการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (MIT) ที่จัดทำกับกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ พบว่า ข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ (Fake News) จะได้รับความสนใจและการแชร์ต่อ หรือรีทวีต (retweet) ‘มากกว่าข่าวจริงถึง 70%

 

และเมื่อวัดผลในการ เข้าถึง ข่าวปลอมเหล่านี้จะไปถึงตัวผู้รับปลายทางจำนวน 1,500 คนในเวลา รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่าตัว

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอมถึงแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางภายในแค่เสี้ยววินาที ก่อให้เกิด ความตื่นตัวกับรัฐบาลและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และความมั่นคงของชาติในหลายประเทศทั่วโลก

 

 

'ส่อง' สถานการณ์สงครามต้าน 'เฟคนิวส์'

 

 

เพราะตัวเลขนี้ตอกย้ำความน่ากลัวของปริมาณการแพร่กระจายข่าวลวงในโลกออนไลน์สู่โลกจริง เพราะนี่คือตัวเลขที่ทำการศึกษาเฉพาะกับทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญอันดับ 3 ของโลก  ซึ่งข้อมูลอย่างเป็นทางการ ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ มีผู้ใช้งานทั่วโลกราว 330 ล้านคน อย่างไรก็ตาม สำหรับโซเชียลเบอร์ 1 อย่างเฟซบุ๊ก ที่มีจำนวนผู้ใช้กว่า 2.38 พันล้านคนนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยงานศึกษาในลักษณะนี้สู่ธารณะ

 

 

ทวิตเตอร์ ผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงแห่งการ ‘กระจายข่าว’

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งการแชร์หรือบอกต่อข่าวสาร ตัวเลขผู้ใช้งานไม่ใช่หัวใจสำคัญ แต่พฤติกรรมผู้ใช้งานนั่นแหละคือ ‘ของจริง’

 

เพราะปัจจุบันวงการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์การตลาด ยอมรับกันว่าอิทธิพลของ ‘ทวิตเตอร์’ ในอุตสาหกรรมนี้มาแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจุดเด่นของแพลตฟอร์มคือ Real-time และ สั้น-กระชับ-ได้ใจความ

 

ด้วยความที่จุดต้นกำเนิดของ “Twitter” คือ Micro Blog ที่ให้ผู้ใช้งาน Tweet เรื่องราวสั้น – กระชับ จำนวน 140 ตัวอักษร ซึ่งปัจจุบันเพิ่มเป็น 280 ตัวอักษรแล้วนั้น ตรง “จริต” ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการติดตามเรื่องราวข่าวสารเร็ว สั้น และตรงประเด็น ถือเป็นเสน่ห์ของทวิตเตอร์

 

และที่สำคัญ ประชากรวัยรุ่นเริ่มหนีจากแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นเข้ามาเป็น สาวกของทวิตเตอร์เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

 

อีกคุณลักษณะของการส่งต่อข้อความ หรือรีทวีต ก็คือ การแสดงความเห็นด้วยกับสิ่งที่ ‘ต้นทาง’ คิด และทำให้เกิดการโต้ตอบระหว่างกันกับผู้ติดตาม (Followers)

 

อีกทั้ง การรีทวีต เปรียบได้กับการเป็น Word of mouth Communication ที่เรียบง่าย แต่ทรงพลังที่สุด เพราะทุกคนที่เป็นเพื่อนกับผู้ที่ Retweet ข้อความต้นทาง รวมถึงชาวโลก ก็จะเห็นข้อความนั้นๆ ไปพร้อมกันด้วย

 

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เจ้าของโครงการศึกษาครั้งนี้ของเอ็มไอที (MIT) บอกด้วยว่า “เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ข่าวปลอมได้รับการแชร์ต่อมากกว่าก็คือ ข่าวพวกนี้น่าสนใจกว่าข่าวจริง มีความดราม่า และคนเราก็ชอบแชร์เรื่องดราม่า และอยากแชร์เพื่อบอกโลกว่ารู้เรื่องนี้นะ

 

 

'ส่อง' สถานการณ์สงครามต้าน 'เฟคนิวส์'

 

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า การรีทวีตข้อมูลผิดๆ ไปได้เร็วกว่าและเจาะกลุ่มผู้รับได้ลึกกว่าข่าวจริง และหากไม่มีการสะดุดระหว่างการรีทวีต ข้อมูลผิดหรือข้อมูลปลอมเหล่านั้น จะเดินทางได้เร็วกว่าข่าวจริง 10-20 เท่าตัวตลอดห่วงโซ่ของการส่งข้อความ

 

 

ส่องกฎหมายจัดการข่าวปลอมทั่วโลก

 

ความรวดเร็วและผลกระทบของข่าวปลอม ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติของหลายประเทศทั่วโลกมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังเห็นอิทธิพลความแพร่กระจายของสื่อโซเชียลที่ขยายวงอย่างไม่มีวี่แววสิ้นสุด

 

โดยก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอภาพรวมของท่าทีรัฐบาลทั่วโลกในการต่อสู้สงครามข่าวปลอมผ่านการออกกฎหมาย

 

เริ่มจากเพื่อนบ้านชาวเอเชียของเรา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ได้ผ่านกฎหมายเฉพาะลงโทษบุคคลที่สร้างหรือเผยแพร่ข่าวลวงต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 100,000 เปโซ ถึง 5,000,000 เปโซ และอาจถูกลงโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี หรือทั้งจำคุก และปรับ

 

นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดดังกล่าวนี้จะถือว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

 

มาเลเซีย รัฐสภาผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวลวง (Anti-Fake News Bill)  ในสมัยรัฐบาลนายนาจิบ ราซัค ประกาศใช้ในวันที่ 2 เมษายน 2561 กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี และปรับ 500,000 ริงกิต (ราว 4 ล้านบาท) ต่อผู้เผยแพร่ข่าวลวงทั้งในและนอกดินแดนมาเลเซีย รวมทั้งชาวต่างชาติ ถ้าประเทศหรือพลเมืองมาเลเซียได้รับผลกระทบจากข่าวลวง โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลครอบคลุมทั้งสำนักข่าว สื่อดิจิทัล และสื่อสังคม

 

อินเดีย กระทรวงข่าวสาร กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ประกาศนโยบายว่าจะออกกฎหมายควบคุมข่าวลวงด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตของนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวลวงแบบชั่วคราวหรือถาวร โดยผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะถูกห้ามเข้าสำนักงานรัฐบาล ห้องแถลงข่าว ห้องสัมมนา หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล

 

สิงคโปร์  เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 62  รัฐสภาของสิงคโปร์ ได้ผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม  กำหนดให้แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต้องดำเนินการแก้ไขหรือลบเนื้อหาที่รัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องเท็จ และผู้กระทำผิดจะได้รับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีหรือปรับ 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

 

 

'ส่อง' สถานการณ์สงครามต้าน 'เฟคนิวส์'

 

 

กำกับดูแลผู้ให้บริการเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม

 

นอกจากการออกกฎหมายมาขจัดการแพร่กระจายของข่าวลวงแล้ว แนวทางกำกับดูแลผู้ให้บริการเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม หลายประเทศก็ใช้แนวทางนี้ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมต้องรับผิดชอบในการควบคุมการแพร่กระจายข่าวลวง ไม่ว่าจะเป็นการนำเนื้อหาที่เป็นข่าวลวงออกจากสื่อสังคม

 

หากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมาย จะถูกปรับจำนวนเงินมหาศาล หรืออาจถูกจำคุกหากมีส่วนร่วมหรือมีส่วนรู้เห็นในการแพร่กระจายข่าวลวงดังกล่าว

 

เยอรมนี กฎหมายการบังคับใช้โครงข่าย (Network Enforcement Act) กำหนดโทษปรับสูงสุดถึง 50 ล้านยูโร กับบริษัทสื่อสังคมที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมนำเนื้อหาผิดกฎหมายอย่างชัดเจนออกไปภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับคำร้องเรียน และกำหนดให้บริษัทสื่อสังคมมีหน้าที่ต้องปิดกั้นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ตภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะต้องถูกปรับ

 

สหรัฐอเมริกา รัฐสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายโฆษณาหลอกลวง (Honest Ads Act) กำหนดให้บริษัทอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่ต้องเปิดเผยรายละเอียดโฆษณาทางการเมือง ที่ดำเนินการผ่านช่องทางแพลตฟอร์มของตนเอง พร้อมมาตรการป้องกันการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนทางการเงินของต่างชาติที่มีวัตถุประสงค์เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐฯ ในรูปแบบการโฆษณาออนไลน์

 

 

'ส่อง' สถานการณ์สงครามต้าน 'เฟคนิวส์'

 

 

แนวทางการมีส่วนร่วมหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder)

 

ขณะที่ บางประเทศใช้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ในการจัดการกับปัญหาข่าวลวง และเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ เช่น การสร้างกลไกหรือรณรงค์ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและตอบโต้ข่าวลวงด้วยการสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ตรวจสอบ (Fact-checking website)  ได้แก่

 

มาเลเซีย ได้สร้างเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือข่าวได้ เรียกว่า “sebenarnya.my”

 

กาตาร์ ได้สร้างเว็บไซต์ชื่อ “Lift the Blockade” เพื่อต่อสู้กับการรณรงค์เผยแพร่ข่าวลวงและได้ให้ข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลด้วย

 

นอกจากนี้ มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมาย ยังรวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) และมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ประเทศแคนาดา อิตาลี และไต้หวัน ได้บรรจุเรื่องการแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงไว้ในหลักสูตรการเรียนของนักเรียน หรือประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลได้ขอความร่วมมือกับบริษัทสื่อและผู้นำสื่อสังคมให้ช่วยกันให้ความรู้และรณรงค์ในเรื่องการต่อสู้กับข่าวลวง เป็นต้น

 

 

ประเทศไทย เดินหน้าตั้งศูนย์รับมือข่าวปลอม

 

สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลจาก เดอะการ์เดียน ระบุว่า คนไทย 52% เชื่อข้อมูลจากโซเซียลมีเดีย ขณะที่บ้านเรายังมีเพียง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่ภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัลและอาชญากรรมออนไลน์

 

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่สื่อโซเชียล นำพาข่าวปลอมให้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หลายข่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับสาธารณชนที่หลงเชื่อ หรืออาจก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อความมั่นคงสงบสุขของสังคมและประเทศชาติ

 

ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จึงต้องทำหน้าที่เชิงรุกในการจัดการปัญหาเฟคนิวส์ในสังคมไทย  โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอี  ได้จัดให้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Fake News)

 

ถือเป็นการเร่งรัดนโยบายด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านดิจิทัล มุ่งเน้นด้านการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง โดยจะตั้งหน่วยงานศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ (Fake News Center)

 

โดยย้ำว่า ศูนย์แห่งนี้ จะเน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การหลอกลวงให้ลงทุน การขายสินค้าอันตรายและผิดกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ

 

รวมถึงเร่งรัดหามาตรการในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ กับภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัลและอาชญากรรมออนไลน์ตาม พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับข้างต้น

 

“ประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยโทรศัพท์มือถือสูงถึง 180% ของประชากร และมีการใช้สื่อ Social Media สูงมาก โดยมีผู้ใช้งาน Facebook สูงสุดถึง 54 ล้านคน Line 42 ล้านคน Twitter 12 ล้านคน

 

 

'ส่อง' สถานการณ์สงครามต้าน 'เฟคนิวส์'

 

 

ซึ่งการใช้สื่อ Social Media ของประชาชนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณี และมีความขัดแย้งต่อกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายด้านการจัดเก็บภาษี กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น”

 

สำหรับหน่วยงานที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเบื้องต้นกับภารกิจของศูนย์เฟคนิวส์ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ มีกว่า 15 หน่วยงาน อาทิ กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 

สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สํานักข่าวกรองแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม กองทัพบก ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

 

ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของพี่น้องประชาชนเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนสมัยก่อนมาก ประชาชนใช้เวลาในการเข้าถึงข่าวสารได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ กระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งใจบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

โดยจะตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานและศึกษาถึงกรอบแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ พรบ. กฎหมายต่างๆทึ่แต่ละหน่วยงานถืออยู่ เพื่อผลักดันและเกิดศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ (Fake News Center) อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนหลังจากนี้นายพุทธิพงษ์กล่าว

 

******************//*****************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ