Lifestyle

อี-คอมเมิร์ซ 'รุ่ง' สวนทางเศรษฐกิจโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "อินโนสเปซ" โดย " บัซซี่บล็อก" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 8-9 มิถุนายน 2562

 

*****************

 

          ท่ามกลางความสั่นไหวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในไทยและทั่วโลก ที่แทบจะพร้อมใจกันหักหัวเข้าสู่ภาวะ ‘ขาลง’ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับมีการทยอยเปิดเผยคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของภาคธุรกิจการค้าขายทางออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ ที่ตลาดในกลุ่มนี้ทั่วโลกแข่งกันเติบโตสูงถึงหลักเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือทางออกที่ ‘ใช่’ สำหรับการฝ่าฟันพายุเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่นี้

 

          เว็บไซต์ beeketing เผยแพร่บทวิเคราะห์น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของอี-คอมเมิร์ซว่า แม้จะมีความท้าทายใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ แต่ก็ยังมีตัวเลขเติบโตอย่างต่อเนื่องและสดใสยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

 

          โดยมีประมาณการณ์ว่า มูลค่ารวมตลาดอี-คอมเมิร์ซในส่วนของค้าปลีกทั่วโลกจะขยับขึ้นแตะหลัก 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตถึง 265% จากตัวเลข 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2557 (ที่มาข้อมูล : www.statista.com)

 

          และที่น่าสนใจก็คือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์กำลังค่อยๆ เข้าไป ‘กลืนกิน’ ตลาดค้าปลีกรูปแบบเดิม โดยมีการประเมินไว้ว่าภายในปี 2564 ค้าปลีกออนไลน์จะเข้าไปกินส่วนแบ่งจากตลาดค้าปลีกในภาพรวมทั่วโลกได้ถึง 17.5%

 

อี-คอมเมิร์ซ 'รุ่ง' สวนทางเศรษฐกิจโลก

 

 

เติบโตทะลุ 200% VS ตัวเลข 2.7%

 

          ปรากฎการณ์ความเฟื่องฟูของการขยายตัวในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ สวนทางกันอย่างชัดเจนกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอยู่ในระดับตัวเลขหลักเดียวมาต่อเนื่องยาวนาน

 

          โดยเฉพาะจากการแถลงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเมื่อไม่กี่วันของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในรายงานที่ชื่อว่า 2019Global Economic Prospects: Heightened Tensions, Subdued Investment ซึ่งระบุว่าปีนี้การเติบโตน่าจะต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ตัวเลข 2.6% ส่วนปี 2563 ก็น่าจะขยับขึ้นมาเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 2.7%

 

          ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าแม้แต่ตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ซึ่งเคยเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ก็คงไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือใครได้ในภาวะนี้ เพราะจากรายงานฉบับข้างต้นก็ยอมรับว่า ประเทศในกลุ่มตลาดที่กำลังเติบโตเหล่านั้น ก็อยู่ในภาวะประคับประคองตัวเลขทางเศรษฐกิจของตัวเองเช่นกัน เพื่อรักษาอัตราเติบโตให้อยู่คงที่

 

อี-คอมเมิร์ซ 'รุ่ง' สวนทางเศรษฐกิจโลก

 

          จากตัวเลขเปรียบเทียบข้างต้น จึงสร้างโจทย์ใหม่ที่น่าท้าทายโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยว่า ถ้าอยากมีโอกาสเติบโตสู่อนาคต ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องเกาะติดแนวโน้มด้านอี-คอมเมิร์ซ และเริ่มขยับจากการค้าขายผ่านหน้าร้าน หรือช่องทางออฟไลน์ ขึ้นมาอยู่บนออนไลน์

 

 

ใครเป็นใครในโลกการค้าแบบอี-คอมเมิร์ซ

 

          ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา ยังครองตำแหน่งเจ้าตลาดใหญ่สุดในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของโลก โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ readwrite บอกว่า ชาวมะกันทุก 51 ใน 100 คนพึงพอใจกับการซื้อสินค้า/บริการผ่านช่องทางออนไลน์ และ 96% ของประชากรชาวอเมริกันเคยมีประสบการณ์ซื้อสินค้าออนไลน์

 

          สำหรับปัจจัยหนุนความนิยมการซื้อสินค้า/บริการรูปแบบนี้ ก็มาจากความแพร่หลายของการใช้มือถิอสมาร์ทโฟนนั่นเอง เพราะเป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกสบายในกิจกรรมนี้

 

อี-คอมเมิร์ซ 'รุ่ง' สวนทางเศรษฐกิจโลก

 

          ขณะที่ จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ Easyship ในปีที่ผ่านมา พบว่า เมื่อปี 2560 เฉพาะในอเมริกาเหนือ มีตัวเลขมูลค่าการค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์สูงถึง 432 พันล้านดอลลาร์สหร้ฐ และยังคงมีอัตราการขยายตัวเป็นเลข 2 หลัก

 

          สำหรับตลาดอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก็คือ ภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 5 ประเทศของสหภาพยุโรป (อียูได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และอังกฤษ

 

          โดยมีข้อมูลจากเว็บไซต์ emarketer ระบุตัวเลขคาดการณ์มูลค่าค้าปลีกออนไลน์ในตลาดอี-คอมเมิร์ซทั้ง 5 ประเทศนี้รวมกันว่า ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 325 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์

 

          ข้อมูลจากยูโรสแตท (Eurostat) รายงานผลสำรวจของปี 2561 ว่า 32% ของชาวอังกฤษนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์ ตามมาด้วยเยอรมัน 23% ฝรั่งเศส 17% สเปน 12% และอิตาลี 6%

 

 

ยุโรปจับมือไทยจัดเวทีหนุนอี-คอมเมิร์ซ

 

          ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (The Mission of Thailand to the EU) ได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดสัมมนาหัวข้อ “Thailand-EU Seminar on E-Commerce and GDPR”

 

อี-คอมเมิร์ซ 'รุ่ง' สวนทางเศรษฐกิจโลก

 

          โดยสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) ได้ระบุว่า จุดประสงค์การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดยุโรป ซึ่งดำเนินยุทธศาสตร์ EU Digital Single Market Strategy ตลอดจนกฎระเบียบและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

 

          อาทิ คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation หรือ GDPR) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ตลาดยุโรป

 

          ในงานนี้ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรป อาทิ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านความยุติธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค (DG JUST) องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและสังคม จากมหาวิทยาลัย Namur ประเทศเบลเยี่ยม

 

          รวมถึงสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความข้าใจเกี่ยวกับตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

          ความสำคัญของเวทีสัมมนานี้วัดได้อย่างชัดเจนจากรายชื่อผู้ร่วมเปิดงาน ได้แก่ เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

 

อี-คอมเมิร์ซ 'รุ่ง' สวนทางเศรษฐกิจโลก

 

 

 

10 เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ ‘ได้ใจ’ นักช้อปไทย

 

          สดๆ ร้อนๆ กับการประกาศรายชื่อ 10 อันดับเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ(ยอดคลิก)ขายดีในเมืองไทย ประจำปี 2562 จากการสำรวจข้อมูลโดย ASEAN UP

 

          ซึ่งปีนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะมีทั้งผู้ที่ครองตำแหน่งร่วมกัน และเว็บไซต์ทีมีนายทุนเบื้องหลังรายเดียวกัน ขณะที่ 2 อันดับแรกก็ไม่พลิกโผเพราะล้วนเป็นหน้าเดิมทุนหนาจากต่างชาติที่มีเครือข่ายระดับภูมิภาค

 

          รายใหญ่สุดของอี-คอมเมิร์ซในไทย ก็คือ 1.ลาซาด้า (Lazada) แต่ละเดือนมียอดส่องจากนักช้อป 44.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรไทยเลยทีเดียว

 

          อันดับรองๆ ลงมา ประกอบด้วย ช้อปปี้ (Shopee) 30.1 ล้านคน 3. JIB 2.3 ล้านคน 4. Chilindo 1.75 ล้านคน 5. Advice 1.6 ล้านคน 6. เพาเวอร์บาย (Power) 1.5 ล้านคน

 

          ส่วนอันดับ 7 มีผู้ครองตำแหน่งร่วมกัน 3 ราย ได้แก่ เซ็นทรัล (Central) ซีเอ็ด (Se-ed) และเจดี เซ็นทรัล (JD Central) ทุกรายต่างก็มียอดนักช้อปคลิกเข้าไปส่องและซื้อสินค้า เดือนละราว 1.2 ล้านคน และข้ามมาอันดับ 10. โฮมโปร (HomePro) 1.15 ล้านคน

 

          ทั้งนี้ ASEAN UP ระบุว่า ประเทศไทยเป็นตลาดเศรษฐกิจดิจิทัล อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้วยจำนวนผู้ใช้ออนไลน์ และการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ ด้านการแข่งขันก็คึกคักทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมที่ขยายจากหน้าร้านกายภาพมาอยู่บนออนไลน์ด้วย

 

          และผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซที่ไม่หวั่นต่อการท้าชิงส่วนแบ่งตลาด การแข่งขันนี้เป็นการปะทะกันทั้งผู้เล่นระดับภูมิภาคและผู้เล่นท้องถิ่น

 

          จากผลการสำรวจล่าสุดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) ระบุว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทยเมื่อปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปี

 

อี-คอมเมิร์ซ 'รุ่ง' สวนทางเศรษฐกิจโลก

 

          และยังมีแนวโน้มขยายตัวตามพฤติกรรมการใช้งานสื่อออนไลน์และโซเชียลของคนไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน ผู้ใช้มือถือกว่า 124.8 ล้านราย ผู้ใช้ไลน์กว่า 44 ล้านคน และผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 52 ล้านราย

 

          พร้อมทั้งเผยว่า การเติบโตของ B2C ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มกว่า 1.6 แสนล้านบาท จากความเชื่อมั่นในระบบ e-Payment ที่สะดวก

 

          รวมถึงธุรกิจห้างสรรพสินค้าออนไลน์เติบโตจากโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจ สำหรับกลุ่มสินค้าที่นิยม ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ