Lifestyle

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โศกนาฏกรรมของมหาวิหารนอเทรอดาม สิ่งมีค่าแห่งประวัติศาสตร์ ยังมีความหวังที่การบูรณะให้ฟื้นคืนสภาพเดิมด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ

 

          โศกนาฏกรรมของมหาวิหารนอเทรอดาม (Notre-Dame) แห่งกรุงปารีส เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา จากเหตุเพลิงไหม้จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะสัญลักษณ์อันโดดเด่นของอาสนวิหารอายุกว่า 850 ปีแห่งนี้ ทั้งบริเวณยอดแหลมของมหาวิหารที่พังทลาย กระจกสีเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเยซูและคริสต์ประวัติ งานแกะสลักไม้และภาพวาดเก่าแก่ สร้างความสะเทือนใจร่วมกันให้แก่คนทั่วโลก จนสามารถระดมเงินทุนก้อนมหาศาลสำหรับการซ่อมแซมบูรณะได้ร่วม 700 ล้านยูโร ภายใน 1-2 วัน และมีแนวโน้มจะมีผู้บริจาครายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีก

          อย่างไรก็ตามข้อกังวลที่ยังมีอยู่ก็คือ ความเป็นไปได้ที่ทุกคนอยากเห็นการบูรณะซ่อมแซมฟื้นฟูความเสียหายของผลงานทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ให้คืนกลับสู่สภาพเดิมให้ได้สมบูรณ์ที่สุด และภายในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานเกินไป ซึ่งต้องขอบอกว่าในยุคที่เทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและแทบทุกกิจกรรมของมวลมนุษยชาติ ทำให้ความคาดหวังนี้สามารถกลายเป็น “จริง” ได้

 

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

 

แผนที่ดิจิทัล 3 มิติของ “นอเทรอดาม”

 

          เว็บไซต์ข่าวชื่อดัง ZDNet.com ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ ศจ.สตีเฟน เมอร์เรย์ (Stephen Murray) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นสามารถได้รับการบูรณะให้ฟื้นคืนสภาพเดิมได้อย่างแน่นอน ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของมหาวิหารแห่งนี้ ซึ่งถูกสแกนเก็บไว้ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ โดย ศจ.แอนดรูว์ เจ.ทาลลอน (Andrew J.Tallan) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้หลงใหลในเทคโนโลยี ซึ่งแม้เจ้าตัวจะล่วงลับไปแล้วเมื่อปลายปี 2561 แต่ฐานข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาลที่จัดเก็บไว้ สามารถใช้เป็น Big Data ในการแกะรอยเพื่อฟื้นฟูจากความเสียหายสู่ความตระการตาดั้งเดิมได้อย่างไม่ยากเย็น

 

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

 

          ทั้งนี้ ศจ.เมอร์เรย์ และศจ.ทาลลอน นับเป็นผู้บุกเบิกงานในสาขาการอนุรักษ์ดิจิทัล (Digital preservation) ผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีการสแกนด้วยเลเซอร์ เข้าใช้จัดเก็บข้อมูลรายละเอียดสถาปัตยกรรมมหาวิหารสไตล์กอธิค (Gothic) เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2543 จากนั้นในปี 2554 ทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้งโครงการโอเพ่นซอร์สที่ชื่อว่า Mapping Gothic France แหล่งรวมฐานข้อมูลรูปภาพ ข้อความ และแผนที่สถาปัตยกรรมสไตล์กอธิค ของฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 12-13

 

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

 

          สำหรับการเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมของมหาวิหารนอเทรอดาม ศจ.ทาลลอน ใช้อุปกรณ์สำรวจทางธรณีวิทยา 3 มิติ “Leica Geosystems laser scanner” (หมายเหตุ : อุปกรณ์สำรวจลักษณะเดียวกับที่ใข้ในการช่วยค้นหาตำแหน่งของ 13 ชีวิตทีมหมูป่าในภารกิจถ้ำหลวง จ.เชียงรายโดยส่งแสงเลเซอร์ออกไปเพื่อวัดระยะห่างระหว่างตัวอุปกรณ์กับพื้นผิวที่เลเซอร์ไปสัมผัส รวบรวมข้อมูลกลับมาพล็อตเป็นจุดนับพันล้านจุดเพื่อจำลองเป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบและแสดงเป็นภาพ 3 มิติได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์

          ทั้งนี้ตามข้อมูลที่เว็บไซต์ Mashable อ้างถึงข้อมูลที่ ศจ.ทาลลอน เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ระบุว่า แผนที่ 3 มิติของนอเทรอดาม ที่เขาจัดทำขึ้นนี้มีรายละเอียดความแม่นยำของพื้นที่ในระดับต่อ 5 มิลลิเมตรเลยทีเดียว

 

ย้อนอดีตการบันทีกแผนที่ 3 มิติของมหาวิหาร

          ล่าสุดเว็บไซต์เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก (คลิกอ่านและชมบันทึกบทสัมภาษณ์ได้ที่นี่ : https://news.nationalgeographic.com/2015/06/150622-andrew-tallon-notre-dame-cathedral-laser-scan-art-history-medieval-gothic/)

          ได้อัพเดทเนื้อหาประกอบคลิปวิดีโอที่เคยสัมภาษณ์การทำงานของ ศจ.ทาลลอน ในการจัดทำแผนที่ดิจิทัล 3 มิติของมหาวิหารนอเทรอดาม เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนในปี 2558 ซึ่งตลอดความยาวประมาณ 5 นาทีของการรับชม ได้เห็นความทุ่มเทและความตั้งใจของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ท่านนี้ในการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการอนุรักษ์ศิลปกรรม สำหรับส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้อย่างเที่ยงตรง

 

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

 

          ย้อนหลังไปเมื่อปี 2558 ศจ.ทาลลอน ได้ใช้เลเซอร์ทำการสแกนแบบละเอียดยิบ นำข้อมูลมาจัดทำแผนที่มหาวิหารนอเทรอดามทั้งหลัง จนสร้างออกมาเป็นภาพ 3 มิติได้อย่างแม่นยำทุกรายละเอียดครอบคลุมทั้งโครงสร้างภายนอกและภายในของมหาวิหาร พร้อมเปิดเผยกระบวนการทำงานนี้ไว้เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับสาธารณะ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะกลายเป็น “ข้อมูลสำคัญยิ่ง” สำหรับการทำงานบูรณะหรือซ่อมแซมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีความแม่นยำถึงระดับต่อ 5 มิลลิเมตร

          เสน่ห์ของมหาวิหารแห่งนี้ นอกจากความงดงามตระการตาทั้งจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและสารพันงานคริสตศิลป์ที่ประดับตกแต่งอยู่ เป็นอาภรณ์สะท้อนศรัทธาแห่งชาวคริสต์ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 12 ในเรื่องของผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างนั้น กลับไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกไว้เลย ยกเว้นแต่นามของท่านบิชอปแห่งปารีส “Maurice de Sully” ผู้บัญชาให้มีการก่อสร้าง

 

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

 

          นี่จึงเป็นที่มาของการจุดประกายให้ ศจ.ทาลลอน เดินหน้าบันทึกข้อมูลแบบละเอียดอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อปิดช่องว่างที่จะเกิดความเบี่ยงเบนเมื่อเทียบกับทำการบันทึกเป็นตัวลายลักษณ์อักษร เครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ก็คือเครื่องสแกนเนอร์ด้วยเลเซอร์ หนึ่งในนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ยิงเลเซอร์ทะลุลงไปในพื้นผิวของอิฐทุกก้อน และวัสดุก่อสร้างทุกชิ้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวมหาวิหาร เพื่อเจาะลึกถึงวิธีการก่อสร้าง

 

หลายพันล้านจุดประสู่การจำลองโครงสร้าง

          ความลับที่แฝงอยู่ในทุกสิ่งก่อสร้างก็คือพวกมันสามารถขยับได้ เมื่อความร้อนจากดวงอาทิตย์กระทบพื้นผิวด้านใดด้านหนึ่ง และการขยับเคลื่อนนี้เองจะเปิดเผยการออกแบบดั้งเดิมและกลวิธีในการใช้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ในกรณีที่อาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใดๆ ให้สอดคล้องกับบริบทจริง ดังนั้นการแกะรอยจาก “ร่องรอย” ของกระบวนการก่อสร้างดั้งเดิมจำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่แม่นยำเที่ยงตรง และเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เข้ามาตอบโจทย์ข้อนี้

          การสแกนด้วยเลเซอร์ทำให้ไม่พลาดจุดใดจุดหนึ่ง สิ่งที่วัดออกมาได้จากแต่ละจุดจะแสดงออกมาเป็น “สี" แตกต่างกันไป และจะถูกรวมมาสร้างเป็นภาพจำลอง 3 มิติของมหาวิหารทั้งหลัง ในการทำงานนี้ต้องมีการมัดรวมเครื่องเลเซอร์สแกนไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้านทุกจุดของ 50 ตำแหน่งที่ทำการสแกนทั้งภายในและภายนอกของมหาวิหาร ข้อมูลที่แสดงออกมาเป็นจุดมากกว่า 1 พันล้านจุด จะถูกประมวลผลเข้าด้วยกันออกมาเป็นภาพที่เที่ยงตรงสมบูรณ์ที่สุด

 

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

 

เกมดัง “Assasin’s Creed Unity” อีก 1 คู่มือการบูรณะ

          ด้านเว็บไซต์สำนักข่าวชื่อดังของอเมริกาอย่าง Foxnews.com ก็ได้เผยแพร่ความคิดเห็นจากบุคคลสำคัญในวงการศิลปวัฒนธรรมของโรมาเนีย ซึ่งเสนอแนะว่าผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบงานบูรณะซ่อมแซมครั้งนี้ สามารถใช้รายละเอียดต่างๆ จากภาพ 3 มิติในวิดีโอเกมชื่อดัง “Assasin’s Creed Unity” ของค่ายยูบิซอฟต์ (Ubisoft) เป็นเครื่องมือช่วยงานได้

          เนื่องจากเนื้อหาในเกมผูกโยงกับประวัติศาสตร์ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งตามเหตุการณ์จริงแล้วเป็นช่วงที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่มหาวิหารนอเทรอดาม ดังนั้นในเกมฮิตนี้จึงมีการรังสรรค์ภาพดิจิทัลของมหาวิหารแห่งนี้อย่างประณีตและสมจริง เพื่อใช้สำหรับการประกอบภาพพื้นหลังส่วนหนึ่งในเกม

 

มหาวิหารนอเทรอดาม และเลเซอร์สแกน 3 มิติ-วิดีโอเกม

ภาพจาก Assassin's Creed Thailand Franchise

 

          ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยมีโอกาสสัมภาษณ์สาวไทยซึ่งอยู่ในทีมนักออกแบบเกม Assassin’s Creed Unity ของบริษัท ยูบิซอฟต์โตรอนโต หนึ่งในสตูดิโอเกมชั้นนำระดับโลก เธอเล่าประสบการณ์ว่าในการออกแบบเกมที่อิงกับประวัติศาสตร์อย่างเกมนี้ผู้ออกแบบต้องใช้เวลาเป็นปี เข้าไปศึกษาและค้นคว้าในห้องสมุดเกี่ยวกับข้อมูลประวัติศาสตร์ยุคนั้นๆ อย่างเข้มข้น เพื่อให้ออกแบบรายละเอียดทางศิลปะในเกมได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงที่สุด

          ทั้งนี้ Caroline Miousse หนึ่งในศิลปินผู้สร้างเกม Assassin’s Creed Unit ของค่าย Ubisoft ใช้เวลาสองปีในการสำรวจรายละเอียดของมหาวิหารเพื่อสร้างภาพที่แม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเกม ก่อนพัฒนาออกมาสู่ตลาดในปี 2557 ทำให้มีต้นแบบของมหาวิหารนอเทรอดาม แบบละเอียด

          คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าท้ายที่สุด “ฐานข้อมูลขนาดใหญ่” ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างและรายละเอียดโครงสร้างของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ถูกรวบรวมไว้ด้วยเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 จะได้รับการนำออกมาใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงไร ในงานบูรณะและฟื้นฟูความสง่างามของมรดกชิ้นยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่มีประวัติการก่อสร้างย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 12 โดยเฉพาะเมื่อมีความคาดหวังของคนทั้งโลกรออยู่ ขณะที่ล่าสุดประธานาธิบดีมาครง ของฝรั่งเศส ก็ออกมาประกาศแล้วว่า ภารกิจนี้จะเร่งให้เสร็จสมบูรณ์ใน 5 ปี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ