Lifestyle

ภาวะ"โรคลมแดด"ในสัตว์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก [email protected]

สวัสดีครับ ในช่วงนี้หลายคนก็เริ่มจะสัมผัสได้ถึงลมร้อนที่พัดมาโดนผิวทำให้แสบร้อน และเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “แดดปีนี้ช่างร้อนแรงแสบผิวมาก” ในวันที่อากาศร้อนแบบนี้ หมอขอมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบจากอากาศร้อนในสัตว์เลี้ยงที่เราสามารถพบเจอได้เป็นประจำในช่วงหน้าร้อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงของพวกเรากันดีกว่า นั่นก็คือ “โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก” ที่เราคุ้นชินกับคำนี้กันอย่างแพร่หลายนะครับ

“โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก” เป็นภัยเงียบร้ายแรงมาพร้อมกับความร้อนที่อาจส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเจ็บป่วย และอาจถึงขั้นตายได้ ซึ่งมักพบสาเหตุโน้มนำมาจากตัวสัตว์เลี้ยงเองมีภาวะอ้วน โครงหน้าสั้น การพาสัตว์เลี้ยงไปทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนมากเป็นเวลานาน การแต่งตัวสัตว์เลี้ยงแบบจัดเต็มชุดใหญ่ ซึ่งตัวสัตว์เองก็มีขนปกคลุมร่างกายที่หนา กรงสัตว์เลี้ยงตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีความร้อนสะสม มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง อากาศไม่ถ่ายเท หรือแม้กระทั่งการพาสัตว์เลี้ยงไปทำธุระต่างๆ ด้วย แต่กลับให้สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นรออยู่บนรถ เป็นต้น ส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเป็นไข้ (อุณหภูมิร่างกายปกติของสุนัขอยู่ที่ประมาณ 101-102 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งคล้ายกับการต้มไข่ เมื่อน้ำเดือดมีอุณหภูมิที่สูงมากขึ้น ไข่ขาวและไข่แดงก็จะเริ่มเปลี่ยนสภาพจากเหลวแล้วค่อยๆ แข็งขึ้น 

เฉกเช่นเดียวกันเมื่อร่างกายสัตว์เลี้ยงมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ อวัยวะภายในไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการเสื่อมจนไม่สามารถทำงานได้ เกิดการทำงานที่ล้มเหลว โดยอาการที่สามารถพบได้นั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรง ตั้งแต่แสดงการหอบ มีน้ำลายไหลมาก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน รวมถึงอาจเกิดภาวะขาดน้ำ หัวใจเต้นเร็ว ไม่เป็นจังหวะ หายใจลำบาก อาเจียน ท้องเสียถ่ายเป็นเลือด และปัสสาวะน้อย จนถึงขั้นช็อกหมดสติ

การจัดการเบื้องต้นเมื่อพบว่าสัตว์เลี้ยงที่เรารักนั้นอยู่ในภาวะฮีทสโตรก หลักการปฏิบัติสำคัญ คือ การทำให้อุณหภูมิร่างกายค่อยๆ ลดลงกลับมาอยู่ในช่วงอุณหภูมิปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรีบพาสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเท มีร่มเงา การใช้พัดลมไอน้ำ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์เลี้ยง การเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น บริเวณขาหนีบ ฝ่าเท้าหรือบริเวณที่มีขนปกคลุมเล็กน้อย ห้ามนำสัตว์เลี้ยงลงแช่ในน้ำผสมน้ำแข็ง เพราะจะยิ่งทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว เกิดการกักเก็บความร้อนไว้ภายในร่างกาย ไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้

 


 

เมื่อสัตว์เลี้ยงอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ให้ค่อยๆ ดื่มน้ำเย็นทีละน้อยป้องกันการอาเจียนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการดื่มน้ำเป็นปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำด้วยตัวเองไม่ควรจับบังคับ ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำได้น้อยเราสามารถใช้ไซรินจ์คอยป้อนน้ำเสริมให้ได้ จากนั้นให้นำส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกรักษาสัตว์เพื่อให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายสัตว์เลี้ยงอีกครั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้ !

                                              ..............................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ