Lifestyle

แก้ปัญหา "น้ำ" เพื่อคุณภาพชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม พื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ จ.อุดรธานี แห่งแรกในภาคอีสาน

          จากปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านโคกล่าม หมู่ 3 และบ้านแสงอร่าม หมู่ 11 ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี กว่า 1,400 คนที่ต้องทนทุกข์อยู่กับปัญหามายาวนาน ทั้งๆ ที่มีอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่ในพื้นที่ แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากไม่มีระบบน้ำและการบริหารจัดการน้ำ ทำให้พืชผลทางการเกษตรไม่ได้ผลดี เกิดปัญหาหนี้สิน เกษตรกรวัยทำงานเกือบทั้งหมดต้องเคลื่อนย้ายไปทำงานออกนอกพื้นที่

แก้ปัญหา "น้ำ" เพื่อคุณภาพชีวิต

อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

แก้ปัญหา "น้ำ" เพื่อคุณภาพชีวิต

การเลี้ยงสัตว์

          กระทั่งปี 2555 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามารับผิดชอบโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ ได้ช่วยพลิกฟื้นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรทั้งสองหมู่บ้านให้กลับดีขึ้น โดยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็นลำดับแรก ด้วยการเสริมศักยภาพอ่างเก็บน้ำให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เมื่อเห็นศักยภาพของพื้นที่ คนที่เคยทิ้งถิ่นฐานไปทำงานต่างถิ่นและต่างประเทศกลับบ้านเกิดมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น พืชหลังนาและพืชทางเลือกในฤดูแล้ง ที่มีมาตฐานรับรองและมีตลาดรองรับแน่นอน รวมทั้งมีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์และการแปรรูปผลผลิต 

แก้ปัญหา "น้ำ" เพื่อคุณภาพชีวิต

          เศวต จันทร์หอม ผู้ใหญ่บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม เล่าว่า ในหมู่บ้านมีอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายฯ ที่มีน้ำอยู่เต็มแม้จะเป็นหน้าแล้ง แต่ชาวบ้านไม่รู้วิธีที่จะนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ กิจกรรมอาชีพต่างๆ จึงไม่เกิดเพราะน้ำเป็นปัจจัยหลัก หลังเสร็จจากทำนาปีละครั้งชาวบ้านจึงย้ายไปทำงานที่อื่น เนื่องจากไม่มีอะไรทำต่อในฤดูแล้ง ต่อมามูลนิธิปิดทองฯ และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ความรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าแปลงนาทุกแปลงมีพื้นที่รับน้ำ 800 ไร่สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้ผลผลิตจากเดิม 350 ต่อไร่ ในปี 2560-61 เพิ่มขึ้นเป็น 650 กิโลกรัม หลังจากนั้นมีการส่งเสริมปลูกพืชหลังนาเป็นอาชีพเสริม ให้ชาวบ้านมีกินก่อน และนำไปขายจนเกิดเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้าน

แก้ปัญหา "น้ำ" เพื่อคุณภาพชีวิต

มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี

          ปัจจุบันเกษตรกรอุดรธานีในพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระฯ สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และมีการต่อยอดพัฒนาสู่การทำเกษตรปลอดภัย การรวมตัวของชาวชุมชนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ภูธารา” โดยมีจุดเริ่มต้นจากข้าว “ภูธารา” และต่อยอดสู่การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรอื่น อาทิ การแปรรูป ผักและผลไม้อื่นๆ โดยเน้นการทำเกษตรปลอดภัย จนสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของจังหวัด สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และสอดรับกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดภัย

แก้ปัญหา "น้ำ" เพื่อคุณภาพชีวิต

หม่วย  ดอนศรีโคตร

แก้ปัญหา "น้ำ" เพื่อคุณภาพชีวิต

          ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย

          หม่วย  ดอนศรีโคตร ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ภูธารา บอกว่า เดิมทีทางกลุ่มแปรรูปข้าวเป็นน้ำข้าวกล้อง และข้าวแต๋น แต่เนื่องจากน้ำข้าวกล้องไม่สามารถเก็บไว้ได้นานจึงหยุดการผลิตไป แล้วหันมาแปรููปกล้วยแทนเพราะในพื้นที่มีกล้วยเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกล้วยตามสวน ตามไร่ แล้วนำมาขายให้กับทางกลุ่ม โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีเข้ามาช่วยให้ความรู้จนได้มาตรฐาน อย. และช่วยดูในเรื่องของแพคเกจเพื่อเพิ่มมูลค่า และช่วยหาตลาดที่แน่นอนเพื่อให้มีกำไรมากขึ้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ อาทิ กล้วยตาก กล้วยม้วนอบ กล้วยกรอบ และข้าวแต๋น ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีปัญหากับการผลิตสินค้าหลายอย่าง ต้องลองผิดลองถูกกันต่อไปเพื่อให้ได้สินค้าทีมีคุณภาพ และยังต้องหาตลาดเพิ่มต่อไป แต่ทั้งนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จากเดิมที่รายได้ประมาณ 2-3 พันเพิ่มเป็น 5-6 พันต่อเดือน และเชื่อว่าหากในอนาคตรายได้จะเพิ่มขึ้นแน่นอน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ