Lifestyle

เส้นทางสายไหมกับ การเดินทางของ TusStar

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21การเดินทางของ TusStar กับแผนปั้นสตาร์ทอัพไทย-จีน

          สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปร่วมงานสำคัญของวงการสตาร์ทอัพไทย ที่มียักษ์ใหญ่ของเอเชีย อีกทั้งเป็นเบอร์ 1 ของประเทศจีนอย่างบริษัท ทัชสตาร์ (TusStar) ประกาศตัวรุกขยายฐานเข้ามาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาสตาร์ทอัพดิจิทัลไทย-จีน “China-Thailand Digital Incubator” ประเด็นน่าสนใจก็คือ ผู้บริหารของทัชสตาร์​ พูดชัดเจนว่า เหตุผลในการขยายฐานครั้งนี้สอดคล้องไปก้บนโยบาย One Belt One Road Initiative (OBOR) หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตรรษที่ 21 ของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยอมรับว่ายุคนี้ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ได้กลไกสำคัญต่อการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และภูมิภาคอาเซียนมีความโดดเด่นในกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น ประเทศไทย จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ TusStar ต้องการเข้ามาพัฒนาความร่วมมือการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup) ทั้งจากประเทศจีนที่ต้องการเข้ามาแสวงหาโอกาสการตลาดใหม่ๆ ในไทย และจากประเทศไทย ที่ต้องการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศจีน

 

เส้นทางสายไหมกับ การเดินทางของ TusStar

          ปัจจุบัน ยักษ์ใหญ่รายนี้ฐาน 140 แห่งทั่วโลก จากนอกเหนือจากในประเทศจีน ยังได้เข้าไปลงทุนแล้วในอีก 16 ประเทศ โดยไทยเป็นประเทศล่าสุด ครอบลุมเมืองสำคัญระดับโลก ได้แก่ อเมริกา แคนาดา อังกฤษ บราซิล อิตาลี ฟินแลนด์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น

          และเมื่อมองกลับไปถึงนโยบายเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ซึ่งนำพาให้ทัชสตาร์ เดินทางมาถึงประเทศไทย ด้วยตัวเลขเงินลงทุนที่รัฐบาลจีนเคยประกาศไว้สำหรับนโยบายนี้ซึ่งอยู่ระหว่าง 1-8 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้น หากสตาร์ทอัพไทย มีความสามารถมากพอที่จะเข้าไปเก็บเกี่ยวโอกาสได้แม้ในสัดส่วนเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสตลาดที่ดึงดูดใจอย่างยิ่ง ขณะที่ ประเทศไทย ก็มีอัตราเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างน่าพอใจ โดยจากผลสำรวจที่จัดทำโดยกูเกิล ร่วมกับเทมาเส็ก เมื่อปลายปี 2561 ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอยู่ที่ 1.2หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นมูลค่าตลาดใหญ่อันดับ 2ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 27%ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

 

เส้นทางสายไหมกับ การเดินทางของ TusStar

 

ทำความรู้จักกับทัชสตาร์

          บริษัท ทัชสตาร์ (TusStar) ซึ่งเป็นหน่วยบ่มเพาะธุรกิจขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยวงการสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของเอเชีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 และจดทะเบียนในชื่อบริษัท TusPark Business Incubator เมื่อปี 2544 เป็นแถวหน้าของผู้พัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ที่ได้รับการยอมรับทั้งจากในประเทศ และรุกออกไปสู่อีกหลายประเทศ

           ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งมีความคุ้นเคยกับผู้บริหารเบอร์ 1 ของบริษัทแม่ทัชสตาร์ เล่าถึงความโดดเด่นของยักษ์วงการสตาร์ทอัพรายนนี้ว่า “ผมคุ้นเคยกับ Tus Holdings บริษัทแม่ของทัชสตาร์ เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ 4 ปีก่อน ตอนที่ผมอยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เคยนำสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ไปร่วมลงนามความร่วมมือกับ Tus Holdings ซึ่งใหญ่มาก เขามีจุดเริ่มต้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งเปรียบได้กับเป็นสถาบัน MIT ของประเทศจีน มหาวิทยาลัยชิงหัว ใช้บริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจ โดยเอาความรู้ของมหาวิทยาลัยไปใช้ ขยายการลงทุนออกไปหลายประเทศ”

 

เส้นทางสายไหมกับ การเดินทางของ TusStar

          ในยุคเริ่มต้นที่แยกแตกออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ได้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายแห่งให้กับประเทศจีน ประสบความสำเร็จจนออกไปทำด้านนี้ให้กับอีกหลายประเทศ จนมีกระแสเรื่องสตาร์ทอัพ จึงได้จัดตั้งบริษัท ทัชสตาร์ (TusStar) ขึ้นมาจับด้านนี้โดยตรง เริ่มต้นจากการสรรหา “ดาวเด่น” จากภายในมหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักศึกษาระดับหัวกะทิของประเทศ เพื่อมาปั้นเป็น “สตาร์ทอัพ” ขยายผลสู่ครอบคลุมทั่วประเทศจีน และเข้าไปทำให้กับต่างประเทศด้วย

          ข้อมูลจากเว็บไซต์ของทัชสตาร์ ระบุว่า แนวคิดหลักในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ก็คือ ให้ทั้งความรู้/เครื่องมือสำหรับบ่มเพาะผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการอุดหนุนเงินลงทุน ตลอดจนสร้างระบบนิเวศน์ (Eco System) ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม เป็นสะพานเชื่อมโยงสตาร์ทอัพให้สามารถเข้าถึงรัฐบาล ยักษ์ใหญ่ภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันวิจัย ภาคการเงิน การค้าและสื่อมวลชน เป็นต้น ด้วยรูปแบบนี้ส่งผลให้ได้รับรางวัลจากหลายสถาบันใหญ่ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการบ่มเพาะไปแล้วมากกว่า 5,000 บริษัท เกิดบริษัทที่โดดเด่นนับร้อยราย และสามารถปั้นสตาร์ทอัพจนเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว 35 บริษัท

 

โอกาสตลาดใหม่สตาร์ทอัพไทย-จีน

          รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัท ทัชสตาร์ และดีป้า ผ่านการลงนาม MOU จัดตั้ง “The Development of China-Thailand Digital Incubator” ขึ้นในประเทศไทย นับเป็นความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ต่อเนื่องมาร่วม 4 ปี ระหว่างไทยกับบริษัท ทัช โฮลดิ้งส์ (Tus-Holdings) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทัชสตาร์ โดยที่ผ่านมา ประเทศจีนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ ขณะที่ ประเทศไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพ กลายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

          ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและพัฒนาสตาร์ทอัพขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้นของไทยและจีน จะได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการที่ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มากและเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ดังนั้นการผสมผสานกัน ก็จะทำให้โอกาสของสตาร์ทอัพไทยกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

          ดร.จาง จินเซิง ประธานบริษัท ทัชสตาร์ ซึ่งเป็น Incubator ด้านดิจิทัลรายใหญ่สุดของประเทศจีน กล่าวว่า ศูนย์บ่มเพาะฯ แห่งนี้พร้อมเปิดดำเนินการราวเดือนมีนาคม หรือเมษายนปีนี้ โดยจะมีการส่งทีมของทัชสตาร์ส่วนหนึ่งเข้ามาประจำที่ประเทศไทย เพื่อให้บริการและการสนับสนุนผู้ประกอบการจากประเทศจีน ที่ต้องการขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนผู้ประกอบการไทยที่อยากเข้าไปก่อตั้งธุรกิจในประเทศจีน โดยความร่วมมือกับดีอี และดีป้า ครั้งนี้มุ่งเน้นการส่งเสริมสาขาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล

          ผู้บริหารทัชสตาร์ กล่าวว่า เหตุผลที่สนใจเข้ามาตั้งฐานพัฒนาสตาร์ทอัพในประเทศไทย เพราะอยากช่วยเหลือสตาร์ทอัพของจีน ที่อยากเข้ามาศึกษาโอกาสในตลาดประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเส้นทางการค้าใหม่ (One Belt One Road Initiative) ของประเทศจีน อีกทั้งจะเป็นฐานสำคัญที่จัดตั้งขึ้นในอาเซียนสำหรับพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนโครงการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

เส้นทางสายไหมกับ การเดินทางของ TusStar

 

          สำหรับการศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นการลงทุนจัดตั้งฐานแห่งที่ 2 ของทัชสตาร์ ในภูมิภาคอาเซียน ต่อจากมาเลเซีย และในครั้งนี้ได้นำคณะเดินทางราว 50 คน ที่เป็นผู้ประกอบการและสถาบันการเงินของจีน ในสาขาเทคโนโลยี ได้แก่ AI, Smart Devices, IoT และ New Energy เข้ามาศึกษาตลาดและระบบนิเวศน์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสตาร์ทอัพของจีน เพราะมีความคาดหวังต่อตลาดในประเทศไทยอยู่แล้ว

 

วันสต็อปเซอร์วิสเพื่อสตาร์ทอัพดิจิทัล

          ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นฐานแห่งที่ 2 ในภูมิภาคนี้ที่ทัชสตาร์ เข้ามาลงทุน แต่เรียกได้ว่าเป็นการร่วมมือ “แห่งแรก” ที่จะให้บริการสตาร์ทอัพแบบ one-stop incubation service ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว โดยครอบคลุมตั้งแต่ การบ่มเพาะ การแลกเปลี่ยนสตาร์ทอัพข้ามประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และระยะต่อไปอาจถึงขั้นการเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ขณะที่ ศูนย์ฯ ในมาเลเซีย เป็นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เป็นรูปแบบ Traditional Incubator

 

เส้นทางสายไหมกับ การเดินทางของ TusStar

 

          นอกจากนี้ อีกบทบาทสำคัญของ China-Thailand Digital Incubator คือ ตั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางบ่มเพาะสตาร์ทอัพดิจิทัลข้ามภูมิภาค (Regional Digital Hub) โดยอยู่บนพื้นฐานจุดแข็งของประเทศไทยด้านการเชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย) และการที่รู้จักตลาดกลุ่มนี้เป็นอย่างดี เมื่อเชื่อมต่อกับจีน จะยิ่งทำให้โอกาสการตลาดกว้างขึ้น เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ ขณะที่ ทัชสตาร์เองก็มีความสนใจตลาดในกลุ่มประเทศนี้ และมีจุดแข็งด้านประสบการณ์ขับเคลื่อนศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพดิจิทัล มีความพร้อมสนับสนุนด้านความเชี่ยวชาญและทรัพยากร รวมทั้งด้านเงินลงทุนสำหรับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ

          “ตอนนี้เราเริ่มประสานกับสถาบันการศึกษาบางแห่ง และสถาบันการเงินรายใหญ่ที่ปั้นสตาร์ทอัพเด่นๆ ให้ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อดึงให้เข้ามาร่วมมือกันในศูนย์แห่งนี้กับทีมของทัชสตาร์ที่จะเข้ามาประจำที่นี่ เป็นการแสดงความพร้อมของ Eco System ในฝั่งประเทศไทยด้วย โดยสาขาเด่นๆ ที่เราอยากปั้นสตาร์ทอัพ เบื้องต้นก็คือ นวัตกรรมหรือธุรกิจที่ตอบโจทย์ด้าน Business Transformation เพราะองค์กรต่างๆ กำลังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการทำงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อตอบรับแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ