Lifestyle

กลิ่นปาก...

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก  [email protected]​ 

 

            สวัสดีครับ เจ้าของสัตว์หลายท่านคงเคยประสบปัญหาสัตว์มีกลิ่นปาก ซึ่งไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไรนัก ปัญหานี้นอกจากก่อให้เกิดความรำคาญแล้วยังเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสุขภาพช่องปากของสัตว์เลี้ยงที่แสนรักมีปัญหาครับ ปัญหานี้เกิดได้จากหลายสาเหตุจากเรื่องของช่องปาก และระบบย่อยอาหารโดยตรง หรือปัญหาจากระบบอื่นๆ ของร่างกายก็สามารถก่อให้เกิดกลิ่นปากได้

            เรามาพูดคุยถึงสาเหตุในช่องปากที่พบได้บ่อยๆ คือ คราบหินปูน ซึ่งถ้าเป็นมากๆ อาจทำให้เกิดโรคปริทันต์ หรือโรคเหงือกตามมาได้ และยังก่อให้เกิดการฟันผุได้อีกด้วย โดยสาเหตุการเกิดครบหินปูนที่พบได้บ่อย คือ ภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้สัตว์กินแต่อาหารอ่อนนิ่ม คุณภาพอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่มีการขัดฟัน หรือแปรงฟันให้สุนัขของเรา

        ใช่ครับเราสามารถแปรงฟันให้สุนัขได้ แต่ต้องฝึกให้เขาคุ้นเคยเสียก่อน หรือให้อาหารที่มีคุณลักษณะช่วยขจัดคราบหินปูน ซึ่งท่านสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านก็ได้ รวมถึงการขูดหินปูนซึ่งต้องทำโดยสัตวแพทย์เท่านั้นครับ เพราะสัตว์ต้องผ่านขั้นตอนการวางยาสลบ ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคจากฮอร์โมน มะเร็ง เนื้องอกในช่องปาก การติดเชื้อ อุบัติเหตุ มีสิ่งแปลก ปลอมติดในช่องปาก หรือภาวะกระดูกในบริเวณหน้า และฟันหัก รวมถึงการอักเสบ การระคายเคือง เป็นต้น

        นอกจากกลิ่นปากแล้วเรายังสังเกตอาการอย่างอื่นร่วมด้วยได้ เช่น การกินอาหารลดลง หรือสัตว์แสดงอาการเจ็บเวลากินน้ำ หรืออาหาร น้ำลายไหลมากผิดปกติ เห็นสิ่งแปลกปลอม หรือก้อนเนื้อที่ผิด ปกติในช่องปาก เหงือกบวม แผลหลุมในช่องปาก หากพบอาการเหล่านี้ควรพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจเพื่อหาสาเหตุต่อไปโดยการตรวจร่างกายเบื้องต้น มีการซักประวัติสอบถามอาการ ข้อมูลต่างๆ การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษทางทันตกรรม การตรวจทางโลหิตวิทยา รวมถึงการใช้รังสีวินิจฉัยร่วมด้วยซึ่งมักต้องผ่านขั้นตอนการวางยาซึม หรือยาสลบดังที่กล่าวไว้แล้ว หรือแม้กระทั่งการเก็บชิ้นเนื้อเพื่อตรวจด้านมะเร็ง หรือเนื้องอก เมื่อได้ผลวินิจฉัยแล้วก็วางแผนการรักษาต่อไป

   

     ส่วนการรักษานั้นมีหลายแนวทางทั้งอายุรกรรมและศัลยกรรม ขึ้นอยู่กับรายละเอียดแต่ละกรณี อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ การดูแลหลังการรักษาไม่ให้กลับมาเกิดอีก และการป้องกันโดยอาจมีการปรับเปลี่ยนอาหาร และการจัดการบางอย่างให้เหมาะสม อีกทั้งควรทำการตรวจสุขภาพช่องปากตามระยะเวลาภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์ครับ!

                                           ......................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ