Lifestyle

ปลุกพลังการให้ คืนรอยยิ้มเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม  องค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไร ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ปากแหว่ง เพดานโหว่  แผลไฟไหม้ และความผิดปกติอื่นๆ บนใบหน้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

      ทุกๆ 3 นาที ทั่วโลกจะมีเด็กโชคร้ายที่ต้องลืมตาดูโลกพร้อมความผิดปกติจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ทำให้ไม่สามารถดื่มนมแม่ หรือรับประทานอาหารได้อย่างปกติ ซ้ำร้ายเมื่อเติบโตขึ้นยังต้องเผชิญกับความผิดปกติ ทั้งการออกเสียงและได้ยินเสียง ตลอดจนมีปัญหากับระบบการหายใจ เด็กทั่วโลกจำนวนไม่น้อยต้องก้มหน้าแบกรับความอับอายและมองตัวเองว่าไร้ค่าไปตลอดชีวิต ซึ่งจากสถิติพบว่าเฉพาะประเทศไทยมีเด็กที่เกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่งมากถึง 2,000 คนต่อปี ยังไม่รวมถึงชาวเขาหรือผู้ลี้ภัยที่ยังไม่ทราบจำนวนแน่นอน

ปลุกพลังการให้ คืนรอยยิ้มเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

อานันท์ ปันยารชุน-ดร.บิล แมกกี

   เหตุผลข้างต้นจุดประกายทำให้ ดร.บิล แมกกี และภรรยา ตัดสินใจตั้ง มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Foundation) องค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไรที่สหรัฐอเมริกาในปี 2525 ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ปากแหว่ง เพดานโหว่  แผลไฟไหม้ และความผิดปกติอื่นๆ บนใบหน้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก่อนจะเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยเมื่อปี 2540 โดยได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

ปลุกพลังการให้ คืนรอยยิ้มเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

    “45 นาทีของกระบวนการผ่าตัดสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้ ได้เห็นใบหน้าของเด็กและพ่อแม่ที่น้ำตาอาบแก้มด้วยความดีใจ คือพลังทำให้เราเดินหน้าต่อไป ทุกวันนี้นอกจากการออกหน่วยช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ เรายังศึกษาค้นคว้าเพื่อหาสาเหตุของภาวะดังกล่าว เพราะเชื่อว่าการป้องกันสำคัญกว่าการรักษา ถ้าหาสาเหตุพบจะลดอัตราการเกิดได้ ขณะเดียวกันเรายังมุ่งมั่นยกระดับการผ่าตัดศัลยกรรมให้ปลอดภัยสูงสุดด้วยการสร้าง Best Surgery Environment พัฒนาบุคลากรซึ่งไม่ได้มีแค่หมอศัลยกรรม แต่ยังมีทีมวิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล” ดร.บิล แมกกี กล่าว 

ปลุกพลังการให้ คืนรอยยิ้มเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

กระบวนการรักษา

     ตลอด 20 ปีที่มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการผ่าตัดแก้ไขภาวะปากแห่วงให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยไปแล้วกว่า 12,000 ราย แต่ยังมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นทุกปีโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ และผู้ป่วยเดิมที่ยังต้องให้การรักษาต่อเนื่อง ตลอดจนการฟื้นฟูความสามารถในการพูด มูลนิธิจึงยังคงดำเนินการต่อไป โดยจะออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ปีละ 3-4 ครั้ง มีทีมแพทย์อาสาสมัครประกอบไปด้วยศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ทันตแพทย์ อรรถบำบัด (นักแก้ไขการพูด) พยาบาล จากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมอาสาสมัครในหน้าที่บริการจัดการ และหน้าที่อื่นๆ จากเครือข่ายจิตอาสา และบริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วม 

     การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แต่ละครั้งนั้นจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 5 ล้านบาท และมีศักยภาพในรักษาได้ราว 100 คน โดยล่าสุดมูลนิธิได้จัดงานชกมวยการกุศลประจำปี “ไฟท์ไนท์” ครั้งที่ 7 เพื่อระดมทุนและได้รับเงินบริจาคมากว่า 5 ล้านบาท นำไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ระหว่างวันที่ 4-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ปลุกพลังการให้ คืนรอยยิ้มเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่

     ทั้งนี้ อานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิสร้างรอยยิ้มประเทศไทย มองว่าความสุขของคนเราไม่ได้เกิดจากการทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น การที่ได้เห็นเด็กคนหนึ่งที่ยิ้มไม่ได้ทั้งชีวิต กลับมามีรอยยิ้ม ได้มีชีวิตและอนาคตใหม่ แล้วยังได้ส่งต่อความสุขไปยังพ่อแม่ เพื่อนฝูง คนรอบข้าง คือความสุขที่แท้จริง 

    สนใจข้อมูลเพิ่มเติมคลิก www.operationsmile.or.th

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ