Lifestyle

เยาวชน 38 ประเทศทั่วโลกร่วมแข่งอวกาศโอลิมปิก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหิดลพร้ัอมจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 12

         เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาและวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล รักษาการเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดงาน “การแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ" ครั้งที่ 12

         ในการนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดการแข่งขัน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-17 สิงหาคม 2561 ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

เยาวชน 38 ประเทศทั่วโลกร่วมแข่งอวกาศโอลิมปิก

        ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ เผยว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 12” โดยมีศาสตร์สาขาวิชา ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์ มูลนิธิฯ จึงมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขัน โดยการดำเนินงานในครั้ง จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลักคือ “Earth Science For All : วิทยาศาสตร์โลกเพื่อมวลมนุษยชาติ” ด้วยวิทยาศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของโลก

         ด้าน รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล กล่าวว่า มูลนิธิ สอวน. ได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้ว 9 ครั้ง ได้รับเหรียญรางวัล เป็นเหรียญทอง เหรียญเงินเหรียญทองแดง รวม 34 เหรียญ ได้รับคะแนนรวมสูงสุดของโลก 1 ครั้ง ได้รับคะแนนสูงสุดภาคทฤษฎี 1 ครั้ง ได้รับคะแนนสูงสุดส่วนวิชาดาราศาสตร์ 1 ครั้ง ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศในระดับสากล สำหรับการจัดการแข่งขันครั้งนี้ มีประเทศสมาชิกตอบรับเข้าร่วมการแข่งขัน รวม 38 ประเทศ แต่ละประเทศจะมีเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันประเทศละ 4 คน มีอาจารย์ ผู้ควบคุมดูแลประเทศละ 2 คน นอกจากนี้ยังมีประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่ง โดยการแข่งขันจะมีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยมีสาระครอบคลุม 3 รายวิชา คือ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์ มีภาคสังเกตการณ์ และการฝึกการทำงานวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันเป็นทีมนักเรียนนานาชาติ รวมทั้งมีการทัศนศึกษาในสถานที่ต่างๆ

เยาวชน 38 ประเทศทั่วโลกร่วมแข่งอวกาศโอลิมปิก

         ผศ.ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์  กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอเรื่องราวและพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยใช้แนวคิดหลักในการนำเสนอ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจอย่างง่ายๆ ผ่านเทคนิคพิเศษ คือ เทคนิค Mapping และ เทคนิค Interactive Wall ที่จะทำให้เด็กๆ มีความสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ อีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ