Lifestyle

ปั่นสู้ร้อนแบบไม่ "ฮีทสโตรก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไอเท็ม" ต้องมีตามวิถีนักปั่นสองล้อไว้ต่อสู้แสงแดด

         สำหรับนักปั่น หรือคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานแล้ว ไม่ว่าฝนจะตก หรือแดดจะออกก็ไม่ย่อท้อ แต่ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ การปั่นจักรยานท่ามกลางสมรภูมิแสงพระอาทิตย์อันร้อนระอุของเมืองไทยก็อาจทำให้การปั่นไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก

ปั่นสู้ร้อนแบบไม่ "ฮีทสโตรก"

สุหฤท สยามวาลา

         สุหฤท สยามวาลา หนึ่งในผู้ชื่นชอบกีฬาปั่นจักรยาน และเจ้าของร้าน อูโก้ ไบก์ บูทีค คาเฟ่ของคนรักจักรยาน บอกว่าในช่วงอากาศร้อนๆ สิ่งที่นักปั่นมักจะเจอก็คืออาการ Heat Stress ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะแวดล้อมที่มีความชื้นสูง ความร้อนจากแสงแดดที่ทำให้อุณหภูมิอากาศสูงขึ้น จะกีดขวางการระบายความร้อนออกจากร่างกายของนักปั่น และยังไปกระตุ้นให้ระบบควบคุมกลไกกล้ามเนื้อทำงานหนักแบบไม่รู้ตัว ซึ่งอาจนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์อย่าง ฮีทสโตรก หรือที่เราเรียกกันว่า ลมแดด ดังนั้น หากต้องฝึกปั่นในสภาวะที่อากาศร้อน เราต้องหาเทคนิคหรือตัวช่วยในการลดอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อป้องกันอาการลมแดด

ปั่นสู้ร้อนแบบไม่ "ฮีทสโตรก"

         “เริ่มต้นที่ “เสื้อปั่นจักรยาน” เป็นตัวช่วยแรกที่นักปั่นทุกคนควรคำนึงถึง โดยเฉพาะการปั่นจักรยานในฤดูร้อน ควรเลือกแบบสวมใส่แบบสบาย และมีขนาดที่ใหญ่กว่ารูปร่างเล็กน้อย ควรเป็นผ้าที่ผลิตจากใยโพลีเอสเตอร์ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เหงื่อสามารถไหลออกจากตัวเสื้อได้ทันที และช่วยระบายอากาศ ลดความร้อนสะสมในร่างกาย ที่สำคัญคือช่วยป้องกันรังสียูวีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาคือ “ผ้าเย็น” ปัจจุบันถูกพัฒนาด้วยนวัตกรรมคูลลิ่ง มีความเย็นขึ้นมาทันทีหลังชุบน้ำ และจะคงความเย็นไปเรื่อยๆ จนกว่าผ้าจะแห้ง ที่สำคัญหลังจากใช้เสร็จแล้วก็เพียงนำมาทำความสะอาดด้วยสบู่ บิดพอหมาดและเก็บใส่กล่องโดยไม่ต้องตากให้แห้ง ขณะที่ “สเปรย์เพิ่มความเย็นบนเสื้อผ้า” จัดเป็นไอเท็มมาแรงในฤดูกาลนี้ และกลายเป็นของใช้จำเป็นที่ต้องมีก่อนออกไปปั่น เพราะสามารถช่วยคลายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว” สุหฤท กล่าว

ปั่นสู้ร้อนแบบไม่ "ฮีทสโตรก"

ปั่นสู้ร้อนแบบไม่ "ฮีทสโตรก"

ปั่นสู้ร้อนแบบไม่ "ฮีทสโตรก"

         นอกจากนี้ “เจ้าของร้าน อูโก้ ไบก์ บูทีค” ยังแนะนำไอเท็มที่ขาดไม่ได้ “ครีมกันแดด” เพราะแสงแดดเมืองไทยนั้นร้อนแรง ส่วนวิธีการเลือกซื้ออันดับแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอและยูวีบี ระดับ SPF 50+ ขึ้นไป และต้องมีส่วนผสมที่ช่วยลดการสูญเสียน้ำจากผิว เพื่อทำให้ผิวรู้สึกสบาย คลายร้อน ที่สำคัญคือต้องเป็นสูตรกันน้ำและซึมเข้าผิวได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหนียวเหนอะหนะ ส่วนอีกหนึ่งอุปกรณ์กันแดดตัวสำคัญที่จะช่วยป้องกันรังสียูวีได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ คือ “ปลอกแขน” โดยต้องเลือกชนิดที่ผลิตจากเส้นใยแอร์โรว์คูล เพราะจะมีส่วนผสมของใยไนลอนและโพลีเอสเตอร์ ช่วยระบายความร้อนและเพิ่มความเย็นบริเวณแขนได้เป็นอย่างดี และต้องเลือกการทอแบบไร้ตะเข็บ เพราะจะไม่ระคายผิว สวมใส่สบาย รวมถึง “ผ้าอเนกประสงค์” เพราะสามารถนำมาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ป้องการแสงแดดได้หลากหลาย ทั้งโพกศีรษะ ปิดจมูก ป้องกันแสงแดด ฝุ่นละออง และมลพิษต่างๆ แต่ผ้าต้องมีความยืดหยุ่นสูงระบายความร้อนและความชื้นได้ดีแห้งเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่น เป็นต้น

ปั่นสู้ร้อนแบบไม่ "ฮีทสโตรก"

         "สุดท้ายเพื่อให้การปั่นราบรื่นท่ามกลางอุณหภูมิปรอทแตก “ขี้ผึ้งป้องกันการเสียดสี” เนื่องจากการปั่นจักรยานจะทำเกิดเหงื่อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ขาหนีบ ซึ่งหากปั่นไปเรื่อยๆ ความเค็มของเหงื่อและการเสียดสีจะทำให้เกิดเป็นแผลได้ ดังนั้นนักปั่นจึงต้องทาขี้ผึ้งก่อนการปั่นทุกครั้ง เพื่อลดการเสียดสี ซึ่งปัจจุบันขี้ผึ้งมีให้เลือกหลากหลาย แต่นักปั่นต้องพิจารณาถึงส่วนผสมมากหน่อยเพื่อป้องกันการแพ้" สุหฤท ย้ำเพื่อวิถีนักปั่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ