Lifestyle

กุญแจสำคัญสู่การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานไทย ยุค 4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

WHO คาดในปี 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคน

         โรคเบาหวาน นับเป็นโรคที่มีความสำคัญระดับโลก ซึ่งนานาชาติต่างให้ความสำคัญในการดูแล รณรงค์ เพื่อลดความชุกของการเกิดโรคเบาหวาน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุให้หยุดการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเป้าหมาย 1 ใน 9 เป้าหมายของการดูแลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องด้วยสถิติผู้ป่วยเบาหวานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล ล่าสุดสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้รวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 415 ล้านคน หรือในทุก 11 คนจะมีผู้ที่เป็นเบาหวาน 1 คน อีกทั้ง WHO ยังได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคน ซึ่งเปรียบเสมือน “ภัยเงียบ” ที่คร่าชีวิต 1 คนในทุกๆ 6 นาที เลยทีเดียว 

กุญแจสำคัญสู่การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานไทย ยุค 4.0

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์-นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ-อุไร พันธุมโพธิ

         สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปรับกระบวนทัศน์การดูแลผู้ป่วยเบาหวานไทย ยุค 4.0 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญ พร้อมเดินหน้าสร้าง “เครือข่ายชมรมเบาหวานในประเทศไทย” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มั่นใจช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้จริง
          นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคเบาหวานในปัจจุบัน นับเป็นปัญหาใหญ่ระดับทั่วโลก และยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยปัจจุบัน มีผู้ป่วยเบาหวานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 แสนคนต่อปี เสียชีวิตถึงปีละ 8,000 คน ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ข้อมูลของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนไทยที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานอีก 7.7 ล้านคน ซึ่งคาดว่ากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานในอัตราร้อยละ  5-10 ต่อปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญโดยได้บรรจุให้โรคเบาหวานอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทยสุขภาพดีวิถีไทย พ.ศ.2554-2563 และรวมไปถึง UNDP หรือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทย โดยการสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ในการต่อสู้กับโรคเบาหวานมาอย่างต่อเนื่อง” 

กุญแจสำคัญสู่การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานไทย ยุค 4.0

 ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

         ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคนไทยที่แสดงว่า คนไทยกว่า 7 ล้านคน ในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานนั้น นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าวิตกกังวลมาก นอกจากนี้ พบว่าคนไทยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วส่วนใหญ่คือเกินครึ่งหนึ่งยังควบคุมเบาหวานไม่ได้ตามเป้าหมาย ในฐานะสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักและเร่งระดมความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนเพื่อร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงมีการสร้าง “เครือข่ายชมรมเบาหวานในประเทศไทย” เพื่อเชื่อมโยงชมรมเบาหวานที่มีอยู่บ้างแล้วเข้าด้วยกัน  โดยได้เริ่มโครงการเครือข่ายชมรมเบาหวานมาตั้งแต่ปี 2557 และได้ร่วมกับโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ ให้มีการจัดตั้งชมรมเบาหวานเพิ่มขึ้นและเชื่อมโยงชมรมทั้งหมดเป็น “เครือข่ายชมรมเบาหวาน” เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดูแลรักษาและควบคุมโรคเบาหวานครอบคลุมทั้งประเทศ 

          "ชมรมเบาหวานเป็นการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์หรือทีมผู้ให้การรักษา ผู้เป็นเบาหวานและครอบครัว รวมทั้งผู้สนใจเข้าเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นการรวมตัวที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลมาก ด้วยแพทย์และทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานจะได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เป็นเบาหวานและครอบครัวอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัวได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันและกัน ทำให้เข้าใจถึงปัญหา และร่วมกันหาทางออกที่ดี นำไปสู่การพัฒนาการดูแลตนเองและการช่วยเหลือระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน นับเป็นอีกมิติหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานไทย ยุค 4.0 ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังคงเดินหน้ามุ่งขยายเครือข่ายชมรมเบาหวานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาลระดับภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และช่วยลดอัตราการเกิดของโรคเบาหวานในอนาคตอีกด้วย  ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้จัดสัมมนาเพื่อพัฒนาเครือข่ายชมรมเบาหวานไปแล้ว รวม 7 จังหวัด เริ่มจากกรุงเทพฯ อุบลราชธานี สงขลา เชียงใหม่ ระยอง พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช สามารถเข้าถึงผู้นำกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและบุคลากรทางการแพทย์ รวมกว่า 1,200 คน จากทั้งหมด 128 โรงพยาบาล และมีแผนดำเนินการขยายสังคมเครือข่ายเบาหวานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาเบาหวานบรรลุเป้าหมาย และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยและประชาชน" ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว

กุญแจสำคัญสู่การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานไทย ยุค 4.0

 ศ.คลินิก นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร

         ศ.คลินิก นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ในฐานะที่โรงพยาบาลราชวิถี เป็นโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขนั้น ก็ได้มีการปรับกระบวนทัศน์การดูแลผู้ป่วยเบาหวานในยุค 4.0 โดยมุ่งสร้างความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการควบคุมโรค เช่น การรับประทานอาหารสุขภาพ   ลดหวาน มัน เค็ม ปริมาณการบริโภคที่ไม่เกิน การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับโรคและสภาพร่างกาย การลดน้ำหนักตัวถ้าอ้วน การเลิกสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ การติดตามการรักษาโรค รวมถึงปัจจัยเสี่ยงและคัดกรองภาวะแทรกซ้อน โดยการดูแลผู้ป่วยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงต้องส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ  1) ไม่มีความรู้/ขาดทักษะ: การแก้ไขต้องให้ความรู้และสร้างทักษะให้ผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย 2) มีความรู้แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม: ต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเสริมสร้างพลังใจ และ 3) มีความรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามารถดูแลตนเองและแนะนำผู้อื่นได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้การดูแลโรคเบาหวานในยุค Thailand 4.0 เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 

กุญแจสำคัญสู่การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานไทย ยุค 4.0

อุไร พันธุมโพธิ

         สำหรับมุมของตัวแทนผู้ป่วยเบาหวานยุค 4.0  อุไร พันธุมโพธิ อายุ 90 ปี เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลสุดยอดผู้ป่วยเบาหวาน เล่าให้ฟังว่า จากการเข้าร่วมเครือข่ายชมรมเบาหวาน ทำให้ทุกวันนี้ ป้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ไม่มีภาวะโรคแทรกซ้อนใดๆ จึงเป็นที่มาของรางวัล “สุดยอดผู้ป่วยเบาหวาน” สิ่งสำคัญจากที่ได้เข้าร่วมเครือข่าย คือผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์และพยาบาลได้อย่างใกล้ชิด โดยใช้สื่อโซเซียลมีเดียเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ทั้งกลุ่มไลน์, เฟซบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะร่วมอยู่ในกลุ่มด้วย เมื่อผู้ป่วยเกิดสงสัยมีข้อซักถามก็จะได้รับคำตอบอย่างถูกต้อง มีการอธิบายเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะมีทั้งเพื่อนผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ที่พูดคุยในเรื่องเดียวกัน ดูแลแนะนำสิ่งดีๆ ให้กัน รวมถึงยังมีการจัดประชุมเครือข่ายชมรมเบาหวานทุกๆ เดือน ทำให้ติดตามผลได้เป็นอย่างดี ต่างจากการนัดพบแพทย์ในคลินิกของโรงพยาบาล ที่ตารางนัดค่อนข้างแน่นและแพทย์มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยเพียงไม่กี่นาที ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจที่กระจ่างและไม่สามารถสอบถามได้เมื่อเกิดข้อสงสัย ที่ผ่านมา ‘เครือข่ายชมรมผู้ป่วยเบาหวานในประเทศ’ ช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจ สร้างพลังและกำลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มผู้เป็นเบาหวานและกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเบาหวานเพื่อการป้องกันโรค เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และผู้ป่วยยังดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี หลายคนสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 
          นอกจากนี้ ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวทิ้งท้ายว่า กุญแจสำคัญในการก้าวไปสู่การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ยุค Thailand 4.0 นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชน โดยจะต้องทำ 3 สิ่งหลักๆ ควบคู่กันไป คือ 1) การถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ถูกต้องไปยังผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และผู้สนใจในแต่ละชมรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2) การพัฒนาการสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องไตร่ตรอง ถึงความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารและแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ รวมถึงต้องใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้าใจ และ 3) การพัฒนาชมรมเบาหวาน ให้เป็นพลังสำคัญและนับเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
          ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้ที่เว็บไซต์สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ www.DMThai.org หรือ Facebook: สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ