Lifestyle

เรียนรู้ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่ "กายฟิต-จิตดี-มีออม"

เรียนรู้ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย วิทยากรให้ความรู้ในด้านต่างๆ

       ขณะนี้สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขและคุณภาพชีวิต ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อม จะรอให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย สานต่อโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ระดมนักวิชาการและนักปฏิบัติการด้านสุขภาพระดับประเทศ ร่วมให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อนำไปสู่ “กายฟิต-จิตดี-มีออม”

เรียนรู้ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล

       ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งผู้สูงวัยจะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากไม่มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกช่วงวัยของชีวิต และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมการเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ จึงได้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ดำเนินโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” รณรงค์เตรียมความพร้อมของวัยก่อนสูงอายุ ที่เน้นการทำงานแบบต่อเนื่อง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพความรู้ความเข้าใจเชิงสุขภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งคือประชากรกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ ให้เป็นผู้นำและบริหารการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นพฤติกรรมสุขภาพเชิงบวก สร้างรูปแบบการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน สามารถประยุกต์และปรับใช้กับบริบทของสังคมไทยได้

เรียนรู้ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์

       ด้าน อ.ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปรึกษาโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่มีคุณภาพได้นั้น ต้องไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ประชากรของประเทศควรได้รับการเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนสูงวัย หรือตั้งแต่อายุ 45 ขึ้นไป ให้มีความพร้อมตั้งแต่ด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ แต่จากการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของประชากรก่อนสูงอายุ ของกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพมหานครในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่ายังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค NCDs จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ตระหนักได้ว่าความรู้เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกคนเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ จึงออกแบบโครงการให้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับกลุ่มเป้าหมาย เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ด้วยการให้ความรู้ด้านสุขภาพ สร้างพันธมิตร ด้วยการเชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการบรรลุเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุขและโรงเรียน สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการ และพัฒนาแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ หรือกายฟิต-จิตดี-มีออม

เรียนรู้ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้เข้าอบรมร่วมทำกิจกรรม

       สุภาพร มหาพลตระกูล ผู้จัดการโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข จากสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมอบรมครั้งนี้มีกลุ่มจิตอาสาเข้าร่วมอบรมกว่า 120 คน อาทิ บุคลากรด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรด้านการศึกษาที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานพัฒนาชุมชน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน และมีอิทธิพลทางความคิดต่อชุมชน ผู้เข้าอบรมทั้งหมดได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสุขภาพองค์รวมและสุขภาพทางการเงิน เพื่อสร้างเสริมทัศนคติและปรับพฤติกรรมสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความพร้อมที่จะสูงวัยอย่างอยู่ดีมีสุข โดยคาดหวังให้เกิดการส่งผ่านความรู้ความเข้าใจดังกล่าวไปสู่ชุมชนของตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วยเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับการใส่ใจและพฤติกรรมที่ดี สำหรับกายฟิต-จิตดี-มีออม อาทิ “การเข้าใจและรู้จักแนวคิด รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข และเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยอาจารย์ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์, “บ้านที่แสนรัก” โดย ผศ.พท.พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พระมงกุฎเกล้า, “เรื่องกิน เรื่องใหญ่”, “กินอยู่อย่างไร ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ