Lifestyle

ความรู้รอบตัว...เด็กเล็กนอนกรนอาจหยุดหายใจ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความรู้รอบตัว...เด็กเล็กนอนกรนอาจหยุดหายใจ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ : คอลัมน์...ดูแลสุขภาพ

 

          สุขภาพการนอนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ อาจส่งผลหยุดหายใจขณะเด็กหลับเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย พบบ่อยในช่วงอายุก่อนวัยเรียนและช่วงวัยอนุบาล ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกต หากลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์

          อาการนอนกรน (Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS) คือความผิดปกติของระบบการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เกิดจากทางเดินหายใจมีการอุดกั้นบางส่วน หรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมักเกิดเป็นพักๆ ในขณะหลับ จึงทำให้เกิดการรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจและระบบการนอนหลับ ภาวะนอนกรนในเด็ก (Snoring Children) พบได้ประมาณ 2% ของประชากร และพบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเท่าๆ กัน แต่จะพบในแบบที่ไม่เป็นอันตรายบ่อยกว่า

          ทั้งนี้แพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยเด็กที่นอนกรนในลักษณะอันตราย หรือมีความผิดปกติของการหายใจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ การนอนกรนอาจเป็นอันตรายได้ หากการนอนกรนนั้นเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลง หรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือตัน 2.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการหายใจหรือกล้ามเนื้อ ซึ่งในแบบแรกจะพบได้ค่อนข้างบ่อยกว่า ในช่วงอายุประมาณ 2-6 ขวบ เพราะทางเดินหายใจของเด็กในวัยนี้ยังมีขนาดเล็ก

 

ความรู้รอบตัว...เด็กเล็กนอนกรนอาจหยุดหายใจ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
พญ.ภัสสรา เลียงธนสาร
 

          หากยิ่งมีอาการป่วยเป็นหวัดบ่อยๆ จะยิ่งทำให้ต่อมทอนซิลกับต่อมอะดีนอยด์โตขึ้นจากการอักเสบ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง ทางเดินหายใจถูกอุดกั้น ต้องใช้พลังในการหายใจค่อนข้างมาก เวลานอนจะกระสับกระส่าย ทำให้ตื่นนอนบ่อย ส่งผลให้การนอนหลับในตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ นอนหลับได้ไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบมาถึงการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก

          ภาวะเสี่ยงอาการหยุดหายใจในขณะหลับมีสาเหตุมาจากต่อมทอนซิล (Tonsils) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) โต ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบซ้ำๆ จากการอาการภูมิแพ้ หรือเป็นหวัดบ่อยๆ ในเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุร่วมได้แก่ เด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (โรคอ้วน) เด็กที่มีความผิดปกติของโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจ เช่น กรามมีขนาดเล็ก มีทางเดินหายใจที่แคบกว่าปกติ มีความผิดปกติของสมองที่ทำให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เด็กที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่างๆ เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างดาวน์ซินโดรม รวมถึงเด็กที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง

          นอกจากภาวะนอนกรน หรือการหยุดหายใจขณะหลับ ยังส่งผลให้มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหนังสือไม่เต็มที่ การนอนธรรมดาอาจสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นการนอนกรนธรรมดา (Primary snoring) หรือบางส่วนนั้นถือเป็นปกติและไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่เมื่อใดก็ตามที่เป็นภาวะหยุดหายใจในขณะหลับจากการอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ถือเป็นภาวะที่อันตรายมากสำหรับเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะการอุดกั้นสมบูรณ์จะส่งผลทำให้กลายเป็นคนนอนหลับยาก หากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีจะส่งผลกระทบเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเด็กและมีปัญหาโรคหัวใจในอนาคตได้ ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเด็กได้ เช่น การนอนกรนเกิดขึ้นเป็นบางช่วงของการหลับ นอนกรนเป็นประจำแต่อาจไม่ถึงกับทุกคืน นอนอ้าปากหายใจ หายใจแรง หายใจสะดุดหรือหายใจเป็นเฮือกๆ มีอาการไอ หรือมีอาการสำลักตอนนอน อาการร่วมอื่นๆ เช่น หลังจากตื่นนอนอาจมีปวดศีรษะ สมาธิสั้น ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ไม่ค่อยดี บางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนหรือเดินละเมอ เป็นต้น

          การรักษานั้น เริ่มต้นจากการตรวจคัดกรอง แพทย์จะตรวจสอบประวัติ รวมถึงข้อซักถามเพิ่มเติม หากพบว่าเด็กมีภาวะเสี่ยงของโรค รวมทั้งอาการที่เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดปัญหาการหายใจผิดปกติขณะหลับ เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน ควรควบคุมน้ำหนักหรือออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ซึ่งนับเป็นเป้าหมายการรักษาในระยะยาวต่อไป สามารถเข้ารับการบริการหรือขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ตรวจการนอนหลับและศูนย์ลมชัก รพ.กรุงเทพ โทร.1719
พญ.ภัสสรา เลียงธนสาร
แพทย์กุมารเวชศาสตร์
โรงพยาบาลกรุงเทพ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ