Lifestyle

‘ปลาเกาะหิน’ พันธุ์ใหม่ ฟัน 1,800 ซี่ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ปลาเกาะหิน’ พันธุ์ใหม่ ฟัน 1,800 ซี่ 

                  สิ่งมีชีวิตอะไรเอ่ยที่มีฟัน 1,800 ซี่ มีปากคล้ายเป็ด มีจานดูดบริเวณท้อง และพบได้เฉพาะในโถเก็บตัวอย่างสัตว์ในพิพิธภัณฑ์เก่าเท่านั้น? สัตว์ที่ว่านี้คือ สมาชิกใหม่ของปลาเกาะหินนั่นเอง ปลาเกาะหิน Nettorhamphos radula เป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์พบในโถดองตัวอย่างสัตว์ยุคทศวรรษที่ 70 ภายในพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียตะวันตก เมืองเวลช์พูล รัฐวิกตอเรียของออสเตรเลีย ปลาโปร่งแสงตัวนี้มีขนาดเพียงไม่กี่นิ้ว แต่กลับมีฟันในปากมากถึง 1,800-2,300 ซี่

                  คนส่วนใหญ่รู้จักปลาเกาะหินจากจานดูดบริเวณท้อง เป็นอวัยวะเสริมที่ช่วยยึดเกาะพื้นผิวด้วยแรงที่มากกว่าน้ำหนักตัวของตัวเองถึง 150 เท่า ความลับก็คือ ขนขนาดเล็ก หรือไมโครวิลไล ที่สร้างแรงเสียดทานระดับสูงและมั่นใจได้ว่า แม้แต่ปลาตายยังยึดเกาะได้

                 เควิน คอนเวย์ นักอนุกรมวิธานปลาศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็มของสหรัฐ พร้อมด้วยเกลนน์ มัวร์ จากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียตะวันตก ค้นพบปลาเกาะหินชนิดใหม่ขณะค้นหาตัวอย่างสัตว์ตามโถต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบที่ถูกเก็บรักษาไว้จนกว่าจะมีผู้มาพบเห็น ปลาตัวนี้จับได้เมื่อปี 2520 บริเวณชายฝั่งออสเตรเลียใต้ ทั้งนี้ ไม่มีใครเคยพบปลา N. radula ในธรรมชาติมาก่อน แต่คอนเวย์และมัวร์ยังพบตัวอย่างสัตว์ตัวที่ 2 อย่างรวดเร็วในพิพิธภัณฑ์เดียวกันนี้

                   พวกเขาใช้เครื่องซีทีสแกนตรวจสอบภายในลำตัวปลา ราวกับแพทย์ส่องกล้องตรวจหัวเข่า จากนั้นพิมพ์แบบจำลองปากปลา 3 มิติขนาดใหญ่เพื่อวิเคราะห์อย่างเจาะลึกมากขึ้น สิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบนี้และเผยแพร่ในวารสารโคเปียเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา ไม่ใช่ปลาเกาะหินโดยเฉลี่ย มันมีฟันมากกว่าปลาเกาะหินชนิดอื่นราว 10 เท่า ทั้งหมดนี้มีฟันรูปกรวยและปลายชี้เข้าลำคอของปลา ชี้ว่าฟันของมันใช้ในการยึดจับเหยื่อ ส่วนขากรรไกรบนที่กว้างยังแสดงให้เห็นว่า ปลาชนิดนี้ไม่เพียงเป็นปลาชนิดใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นปลาสกุลใหม่เลยทีเดียว เป็นการจัดหมวดหมู่ตามอนุกรมวิธานที่ครอบคลุมปลาหลายชนิด

                 ข้อมูลจาก Fish of Australia แหล่งอ้างอิงออนไลน์ในความความดูแลของมิวเซียม วิกตอเรีย ระบุว่า ​ปลาเกาะหินพบได้ในน่านน้ำเขตร้อนและอบอุ่นทั่วโลก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามปะการังน้ำตื้นหรือสาหร่ายทะเล อีกทั้งปลาเกาะหินบางชนิด หรือ Gobiesocidae ขับเมือกมีพิษออกมาทางผิวหนัง ซึ่งผลการศึกษาปลาเกาะหินชนิด Diademichthys lineatus จากญี่ปุ่นเมื่อปี 2522 พบว่า ความเข้มข้นของน้ำและเมือก สามารถคร่าชีวิตปลาตัวอื่นได้ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงและครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ