Lifestyle

'เครื่องปลูกมันฯ' แทนแรงงานคน นวัตกรรมทางเลือกเพื่อเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำมาหากิน : 'เครื่องปลูกมันฯ' แทนแรงงานคน นวัตกรรมทางเลือกเพื่อเกษตรกร : โดย...นวลศรี โชตินันทน์

 
                              ปัจจุบันประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศไนจีเรียและบราซิล สามารถส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาการทำไร่มันสำปะหลังยังใช้แรงงานคนที่กำลังขาดแคลน ล่าสุดสถาบันเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้มีการวิจัยและพัฒนาเครื่องปลูกมันสำปะหลังพ่วงติดกับรถแทรกเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถทดแทนการใช้แรงงานคนได้เป็นอย่างดี ผลจากการทดลองใช้งาน สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ชั่วโมงละ 1-2 ไร่ โดยเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงไร่ละ 2.55 ลิตรเท่านั้น
 
                              อัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร บอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาในด้านขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำไร่มันสำปะหลังที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก จึงเห็นว่าควรมีการวิจัยและพัฒนาเครื่องปลูกมันสำปะหลังที่มีประสิทธิภาพสำหรับทดแทนการปลูกด้วยแรงงานคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และช่วยเพิ่มความรวดเร็วให้การปลูกทันฤดูกาล ทางสถาบันเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงมีการงดำเนินการวิจัยและพัฒนาเครื่องปลูกมันสำปะหลังขึ้นมา โดยมี ประสาท แสงพันธุ์ตา วิศวกรการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม หัวหน้าคณะทำงานวิจัยและพัฒนาเครื่องปลูกมันสำปะหลังแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์จนประสบผลสำเร็จ
 
                              ประสาท บอกว่า สำหรับเครื่องปลูกมันสำปะหลังต้นแบบที่ผลิตออกมามี 2 แบบ คือแบบ 1 แถว และแบบ 2 แถว โดยมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน คือ ชุดผาลยกร่อง, ชุดกำหนดระยะท่อนพันธุ์, ชุดปักท่อนพันธุ์ และชุดโรยปุ๋ยรองพื้น เมื่อศึกษาข้อมูลที่จำเป็นในการออกแบบเรียบร้อยแล้ว จึงออกแบบและสร้างเครื่องปลูกมันสำปะหลังขึ้นมา โดยมีการกำหนดเกณฑ์และรายละเอียดในการออกแบบ คือ เครื่องสามารถยกร่อง ใส่ปุ๋ย และปักท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง โดยสามารถกำหนดระยะปลูกได้ ชุดปักท่อนพันธุ์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเครื่องปลูกมันสำปะหลัง ที่ต้องสามารถใช้กับท่อนพันธุ์ที่มีขนาดท่อนพันธุ์ต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย" ประสาท กล่าว
 
                              สำหรับรูปแบบของเครื่องต้นแบบ มีรูปแบบของล้อปักท่อนพันธุ์ เน้นให้ล้อปักท่อนพันธุ์สามารถถ่างออกได้เองตามขนาดท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูก ด้วยการใช้แรงสปริงในการจับหนีบท่อนพันธุ์ โดยพิจารณาถึงความสามารถในการปักท่อนพันธุ์ และเปอร์เซ็นต์ความเสียหายของตาท่อนพันธุ์ ความเร็วรอบของล้อปักที่เหมาะสม และแรงหนีบกดของล้อปักท่อนพันธุ์ด้วย 
 
                              เขา บอกอีกว่า หลักการทำงานของเครื่อง เริ่มจากเครื่องโรยปุ๋ยรองพื้นแล้วยกร่องกลบ และปักท่อนพันธุ์บนร่องตามระยะระหว่างต้นที่กำหนด ผลการทดสอบปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการปักท่อน และความเสียหายของตาท่อนพันธุ์ พบว่า ล้อปักแบบร่อง วี มีความสามารถในการปักท่อนพันธุ์เฉลี่ยได้ดีกว่าล้อปักแบบเรียบ และได้ความลึกเฉลี่ยแล้วลึกกว่า จึงเลือกล้อปักแบบร่อง วี สำหรับเครื่องปลูกมันสำปะหลังเป็นเครื่องต้นแบบ 
 
                              ส่วนความเร็วรอบล้อปักที่เหมาะสมประมาณ 450 รอบ/นาที ล้อปักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 22 ซม. และแรงกดของล้อปักต่อท่อนพันธุ์ประมาณ 29.43 นิวตัน โดยใช้กับรถแทรกเตอร์ต้นกำลังขนาด 37 แรงม้า สำหรับเครื่องปลูกแบบ 1 แถว และรถแทรกเตอร์ขนาด 50 แรงม้า สำหรับเครื่องปลูกแบบ 2 แถว พบว่ามีความสามารถในการทำงาน 1 และ 2 ไร่/ชม. ตามลำดับที่ระยะการปลูก 50x120 ซม.อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 2.75 และ 2.55 ลิตร/ไร่ ผลที่ได้มาไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคน เมื่อวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม พบว่ามีจุดคุ้มทุนการทำงานที่ 103 ไร่/ปี และ 149.48 ไร่/ปี ตามลำดับที่อายุการใช้งานเครื่อง 5 ปี
 
                              นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกของเกษตรกร หากสนใจสอบถามข้อมูลได้ที่กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-2747, 0-2947-5582
 
 
 
 
 
 
-----------------------------
 
(ทำมาหากิน : 'เครื่องปลูกมันฯ' แทนแรงงานคน นวัตกรรมทางเลือกเพื่อเกษตรกร : โดย...นวลศรี โชตินันทน์)
 
 
 
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ