พระเครื่อง

ลงยันต์ทั้งคัน!เจิมรถตำรับ'หลวงปู่ตี๋'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลงยันต์ทั้งคัน!เจิมรถตำรับ'หลวงปู่ตี๋ วัดหูช้าง' : เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู ภาพภาพ กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร

              "การเลือกสีรถ เลขทะเบียนรถ วันออกรถ" เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่จะช่วยเสริมดวงชะตาของผู้เป็นเจ้าของให้ดีมากยิ่งขึ้น เมื่อซื้อรถคันใหม่ไม่ว่าจะเป็นป้ายแดง หรือรถมือสอง สิ่งที่ตามมาคือ นำไปให้พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสุดแล้วแต่ใครจะนับถือรูปใดเจิมรถให้ ด้วยจุดประสงค์ที่ว่า "เพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุอันตรายทั้งปวง"

              ปกติแล้วจุดที่พระเกจิอาจารย์เจิมรถมี ๓ จุด หลักๆ คือ ฝากระโปรงหน้า ที่บังแดด และบนเพดานในห้องโดยสาร โดยมีคาถาอยู่ ๒ บทที่นิยมใช้เจิมรถมากที่สุด คือ คาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ หรือเรียกว่า "แม่ธาตุใหญ่" ที่ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ซึ่งมีพุทธคุณเหนือยันต์ทั้งปวง ส่วนอีกบทหนึ่ง คือ หัวใจพระฉิมพลี ที่ว่า นะ ชา ลิ ติ หรือ นะ ชา ลี ติ ซึ่งมีพุทธคุณทางให้เกิดโชคลาภ เมตตามหานิยม ค้าง่ายขายคล่อง และป้องกันภัยกันผี
 
              แต่ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครต้องยกให้ตำรับการเจิมรถของพระครูสุวรรณโชติวุฒิ หรือ หลวงปู่ตี๋ เจ้าอาวาสวัดหูช้าง ต.คูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ด้วยเหตุที่ว่า "เจิมทุกส่วนตั้งแต่เครื่องไปถึงลูกล้อ" ไม่ว่าจะเป็นรถป้ายแดงราคาหลายล้านบาท หรือรถมือสอง มือสาม หลวงปู่ตี๋จะเจิมตามสูตรที่เรียนมา โดยใช้เวลาเจิมรถประมาณคันละ ๓๐-๔๐ นาที ถ้านับจำนวนรถที่นำมาเจิมตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๓ น่าจะเกินแสนคันแล้ว

              ปัจจุบันหลวงปู่ตี๋ อายุ ๗๔ปี ท่านเป็นศิษย์เอกทายาทพุทธาคมเพียงรูปเดียว รวมทั้งยังมีศักดิ์เป็นหลานของพระครูกิตตินนทคุณ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปขนานนามท่านว่า “หลวงพ่อกี๋” อดีตเจ้าอาวาสวัดหูช้าง ที่คนเมืองนนท์เคารพนับถือท่านมาก โดยเฉพาะการทำปลัด ตะกรุด และเครื่องรางของขลังต่างๆ จนเป็นตำนาน ปลัดขิกเมืองนนท์ สุดยอดของความหายากและปรารถนา เนื่องจากพุทธคุณใช้แทนอาจารย์ของท่านได้เลยทีเดียว
 
              หลวงปู่ตี๋บอกว่า หลวงปู่กี๋ ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ รวมถึงเป็นศิษย์ก๋งจาบ สำนักประดู่ทรงธรรม อยุธยา ศิษย์น้องหลวงปู่เทียม วัดกษัตรา และหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน หลวงพ่อกี๋ ท่านได้รับการสืบทอดวิธีเจิมรถจากหลวงพ่อเทียม โดยยางล้อทั้งสี่ ลงคาถา ท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวเวสสุวัณ) ซึ่งเป็นอธิบดีแห่งอสูร หรือยักษ์ หรือเป็นเจ้าแห่งผี เป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุทรงอิทธิฤทธิ์อานุภาพมากประทับ ณ โลกบาลทิศเหนือ มียักษ์เป็นบริวารจอมเทพ ๔ องค์ผู้รักษาคุ้มครองโลกใน ๔ ทิศ ซึ่งเรียกว่า ท้าวโลกบาล ท้าวจตุโลกบาล หรือท้าวจาตุมหาราช ปกครองอยู่องค์ละทิศ ประกอบด้วย ๑.ท้าวธตรัฐ ๒.ท้าววิรุฬหก ๓.ท้าววิรูปักษ์ และ ๔.ท้าวกุเวร

              ทั้งนี้ จะลงคาถาที่เป็นหัวใจท้าวเวสสุวรรณ ที่ว่า “เวส สะ พุ สะ” และเป็นคาถาท้าวเวสสุวรรณบทเต็มที่ว่า “เวส สุ วัณ ณัส สะ คะ ทา วุธ ทัง” คาถาบทนี้หมายถึง “ท้าวเวสสุวรรณมีคทา หรือตะบอง เป็นอาวุธ” เพื่อเปิดทางไม่ให้รถไปชนกับผี ไปเหยียบตะปู รวมทั้งของมีคม คาถากันยางแตก รถล้อแตกระหว่างวิ่งด้วยความเร็วสูงมีแต่เจ็บกับตายเท่านั้น ล้อรถจึงเปรียบเหมือนขาคน 

              กระจกมองข้างลงคาถา ๒ บท คือ หัวใจพระพุทธเจ้า คือ อิ กะ วิ ติ พระคาถานี้ภาวนาเป็นประจำ เพื่อให้คุณพระรักษา จะอยู่ยงคงกระพันชาตรี กันปืน เสกขมิ้นกิน อยู่คงทน สะเดาะโซ่ตรวนก็ได้ เสกน้ำมนต์สะเดาะกุญแจก็ได้ กันสุนัข

              นอกจากนี้ยังลงคาถาหัวใจตรีเพชร คือ อะอุมะ หรือ อุอะมะ และสามารถเปลี่ยนมาใช้เป็นหัวใจพระไตรปิฎก โดยให้ มะ (แทน พระมหากัสสะปะ) อะ (แทนพระอานนท์) อุ (แทนพระอุบาลี) ผู้ซึ่งเป็นพระผู้เริ่มสังคายนาพระไตรปิฎก แต่ถ้าเป็นแบบโบราณ มะอะอุ    มะ (แทนพระพุทธ มาจาก มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ) อะ (แทนพระธรรม มาจากอะกาลิโกเอหิปัสสิโก) อุ (แทนพระสงฆ์ มาจาก อุชุปะฏิปันโน สาวะกะสังโฆ) ทั้งนี้ ต้นแบบของอะอุมะ หรืออุอะมะ เป็นนามศัพท์ย่อมาจากคำว่า โอม ซึ่งหมายถึงมหาเทวะผู้เป็นเจ้าของฮินดู อะ (แทนพระนารายณ์) อุ (แทนพระศิวะ) มะ (แทนพระพรหม)

              เมื่อถามพุทธคุณของวัตถุมงคล หลวงปู่ตี๋ พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ตะกรุดทุกดอก ปลัดขิก และเบี้ยแก้ทุกตัว จะจารด้วยมือตัวเอง ทั้งนี้ เพื่อความเข้มขลังของผู้นำไปใช้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต่อให้พระตั้งใจทำ และลงอักขระเลขยันต์มากเพียงใด ของดีทุกอย่างคนที่มีนั้นต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมของดีจึงแสดงพุทธคุณ แต่ถ้าเป็นคนไม่มีไร้ศีลธรรมของดีย่อมไม่แสดงพุทธคุณ คนจึงมักโทษว่าพระไม่ขลัง โดยไม่ดูตัวเองว่าพยายามที่จะทำตัวเองให้ขลัง ด้วยการอยู่ในศีลตั้งมั่นในธรรมก่อนหรือเปล่า”

              นอกจากตำรับการเจิมรถแล้ว หลวงปู่ตี๋ยังรักษาจัดพิธีสวดภาณยักษ์ที่เป็นตำนาน โดยได้จัดต่อเนื่องมากว่า ๕๐ ปี โดยในสมัยที่ “หลวงปู่กี๋” วัดหูช้างยังมีชีวิตอยู่ใครมีเรื่องเดือดร้อนหรือต้องการให้ท่านขจัดปัดเป่าโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ แม้ปัจจุบันท่านจะมรณภาพไปนานหลายปีแล้วก็ตาม แต่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านก็ยังเป็นที่กล่าวขาน ทั้งนี้ หลวงปู่ตี๋ยังคงเมตตาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนทุกรายเช่นเดียวกับหลวงพ่อกี๋ โดยในปีนี้วัดจดงานประจำปี ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กุมภาพันธ์ และในวันจันทร์ที่ ๒๕ ซึ่งตรงกบวันมาฆบูชา วัดได้จัดให้มีพิธีปลุกเสกพระกริ่ง ฟังเทศน์ และสวดภาณยักษ์ใหญ่แบบโบราณ โดยจะเริ่มพิธีสวดนพเคราะห์ตามกำลังวัน เวลา ๙.๐๐ น ส่วนสวดภาณยักษ์ใหญ่แบบโบราณเริ่มเวลา ๑๓.๓๐ น. เป็นต้นไป


ยันต์ลงเครื่อง ไฟหน้า พวงมาลัย


              ในการลงคาถาบนเครื่องยนต์นั้น หลวงปู่ตี๋จะลงคาถาหัวใจไฟ ที่ว่า "เต ชะ สะ ติ" บนฝาสูบของเครื่องยนต์ และลงคาถาหัวใจน้ำที่ว่า "อา ปา นุ ติ" บริเวณสายน้ำที่ต่อระหว่างเครื่องยนต์กับหม้อน้ำ ทั้งนี้หลวงปู่ตี๋ได้ให้เหตุผลว่า เครื่องยนต์จะติดได้ต้องมีไฟ และจะเดินต่ออย่างราบรื่นต้อมีน้ำ เพื่อไม่ให้ไฟร้อนเกินไป โดยคาถาทั้ง ๒ บทนี้มีอยู่ในคาถาหัวใจ ๑๐๘

              ไฟหน้าลงคาถาเบิกเนตรพระพุทธรูปที่ว่า "สหัสสะเนตโต เทวินโท ทิพพะจักขุง วิโสทายิ" หมายถึง "เทวินโท เป็นจอมแห่งเทวดาผู้มีพระเนตรมีนัยน์ตา ๑,๐๐ ดวง หรือมองเห็นไปไกลได้เป็นพันโยชน์ ชำระตาให้เกิดเป็นตาทิพย์ ให้หมดจดสว่างไสว"

              บางสำนักจะใช้ "จักขุง อุทปาทิ ญาณัง อุทปาทิ ปัญญา อุทปาทิ วิชชา อุทปาทิ อาโลโก" ซึ่งหมายถึง "เพื่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ปัญญาเกิด วิชาเกิด ความรู้เกิด และความสว่างไหวเกิด" หรือที่เรียก "เกิดปัญญาหยั่งรู้ในสิ่งที่ควรรู้"

              ส่วนที่พวงมาลัยจะลง "คาถายันต์เกราะเพชร" หรือ “คาถาอิติปิโส ๘ ทิศที่ว่า “อิระชาคะตะระสา ติหังจะโตโรถินัง ปิสัมระโลปุสัตพุท โสมาณะกะริถาโธ ภะสัมสัมวิสะเทภะ คะพุทปันทูทัมวะคะ วาโธโนอะมะมะวา อะวิชสุนุตสานุติ”

              คาถายันต์เกราะเพชรนี้ เป็นของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อปานท่านศึกษาจากตำราพระร่วง โดยตัดมาจากส่วนหนึ่งของธงมหาพิชัยสงคราม เป็นการนำเอาพุทธคุณบทต้นมาเขียนเป็น ตัวขอม คาถานี้ภาวนาป้องกันภยันอันตราย ๑๐๘ มีคุณอเนกคณานับแล เวลาเดินทางแรมป่าเขาลำเนาไพร

              ฝากระโปรงลงคาถา “นะ เมตตา” ที่ว่า “นะ นะ ฤา นา มา หา รา ชา ปุ ติ สะ มะ นะ พราม มณี ใครเห็นหน้ากูก็งวยงง ตัวกูเป็นพญาหงส์ นะ นะ ปุ สะ พุ พะ สัง กะ โร ปุ สะ พุ พะ” ซึ่งเป็นคาถาบทเดียวกับที่ใช้ลงบนเพดานด้านในตัวรถ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ