Lifestyle

หลักสำคัญ 4 ประการในการเลือก'ตึกแถว'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลักสำคัญ 4 ประการในการเลือก'ตึกแถว' : คอลัมน์ ตึกแถว+อพาร์ตเมนต์ไม่บาน โดย... อาจารย์เชี่ยว

          สวัสดีครับแฟนๆ ชาว “คนรักบ้าน” เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วผมได้พูดถึงการฟื้นคืนชีพของ “ตึกแถว” ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าอาคารประเภทนี้จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง จะว่าไปแล้วที่พักอาศัยประเภท “ตึกแถว” มีอยู่ทั่วไปทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท ที่ใดมีชุมชนที่ประกอบกิจการการค้า ที่นั่นต้องมี “ตึกแถว” ครับ 
 
          สำหรับผมแล้ว “ตึกแถว” ยังเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม ในย่านนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเห็น “ตึกแถว” อยู่ในสภาพครึกครื้น คึกคัก ผู้คนเดินกันขวักไขว่ ไม่มีห้องไหนปิด หรือถูกทิ้งร้างให้เป็นฟันหลอ ก็สามารถฟันธงลงไปว่า เศรษฐกิจการค้ากำลังเจริญรุ่งเรืองไปได้สวย แต่ถ้า “ตึกแถว” ดูเสื่อมโทรม บรรยากาศโดยรวมดูซบเซามีการติดป้ายขายหรือให้เช่าก็แสดงว่าเศรษฐกิจของชุมชนนั้นกำลังมีปัญหา และบรรดาเศรษฐีร้อยล้าน พันล้าน ส่วนใหญ่ก็ล้วนเติบโตมาจากอาคารประเภท “ตึกแถว” นี่แหละครับ   
 
          นอกจากนั้น “ตึกแถว” ยังจัดได้ว่าเป็นอาคารประเภท “ประโยชน์สูงและประหยัดสุด” อย่างแท้จริง เพราะใช้พื้นที่น้อย เพียง 20-25  ตารางวาต่อหนึ่งคูหา และเป็นการใช้อาคารประเภทผสมผสานคือ บริเวณชั้นล่างทำเป็นการค้า ส่วนชั้นบนก็เป็นที่พักอาศัย หรือใช้เป็นที่สต็อกเก็บสินค้าจึงเป็นการใช้ประโยชน์ทุกตารางเมตรของอาคารอย่างคุ้มค่าโดยแท้จริงครับ 
 
          สำหรับแฟนๆ ชาว “คนรักบ้าน” ที่กำลังคิดจะใช้ชีวิตอยู่ใน “ตึกแถว” ก็เอาหลักสำคัญ 4 ประการของผมมาใช้ในการเลือกซื้อ “ตึกแถว” สักห้อง จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ก็ขึ้นอยู่กับหลักการทั้ง 4 ข้อนี่แหละครับ หลักสำคัญประการแรกที่สำคัญที่สุดในการเลือกซื้อ “ตึกแถว” คือ “ทำเลที่ตั้ง” จะต้องเป็นทำเลที่อยู่ในย่านการคมนาคมที่สะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่าย อยู่ในย่านชุมชนที่สามารถประกอบกิจการค้า ถ้าสามารถทำการค้าได้ทั้งวันทั้งคืนก็ยิ่งดี ดังนั้น ทำเลที่ตั้งหรือ “ฮวงจุ้ย” ที่ถูกต้องตาม “หลักเคหศาสตร์” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ  
 
          หลักสำคัญประการที่ 2 คือ “ราคา” ซึ่ง “ตึกแถว” จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับว่าสามารถทำธุรกิจธุรกรรมอะไรได้บ้าง ส่งผลให้ “ตึกแถว” ที่มักจะมีหน้ากว้าง 4-5 เมตร ลึก 12 เมตร จึงมีราคาที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง ในย่านที่สามารถทำธุรกิจการค้าได้ อาจจะมีราคาต่อคูหาสูงเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ในขณะที่บางย่านบางทำเลก็มีราคาเพียงไม่กี่ล้าน วิธีตรวจสอบอีกประการหนึ่งว่าราคาของ “ตึกแถว” นั้นเหมาะสมหรือไม่ นอกจากวัดจากความสามารถในการสร้างรายได้ว่ามากหรือน้อยแล้ว ควรจะพิจารณาจากการได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร โดยปกติแล้ว “ตึกแถว”ในทำเลที่ดี ธนาคารอาจจะปล่อยเงินกู้ถึง 80-90% ของราคาทรัพย์สินเลยทีเดียว    
 
          หลักสำคัญประการที่ 3 คือการออกแบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของและประโยชน์ใช้สอย เพราะปัจจุบัน “ตึกแถว” ได้ทำหน้าที่หลากหลายครับ กิจการหลายอย่างก็อยู่ใน “ตึกแถว” ดังนั้น รูปลักษณ์ภายนอกอาคารที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาด สำหรับ “ตึกแถว” สมัยใหม่ ในยุค “โลกาภิวัต” ดังเช่นในปัจจุบัน  
 
          สำหรับหลักสำคัญประการที่ 4 อันเป็นประการสุดท้าย คือความเชื่อมั่นว่าเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ในอนาคตดีแน่ เพราะนอกจากรายได้จากการทำกิจการค้าแล้ว ราคาสินทรัพย์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามเวลา  
 
          หลักสำคัญทั้ง 4 ประการนี่แหละครับเป็นหัวใจสำคัญของผมในการพิจารณาเลือกซื้อ “ตึกแถว” และตรวจสอบว่า ราคาที่ตั้งไว้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ใช้หลักการเหล่านี้แหละครับในการตรวจสอบในการซื้อ “ตึกแถว” ว่ามีความเหมาะสมในการลงทุนมากหรือน้อยเพียงใด แฟนๆ ก็ลองเอาหลักการแนวคิดนี้ไปใช้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ครับ
.......................................
(หมายเหตุ หลักสำคัญ 4 ประการในการเลือก'ตึกแถว' : คอลัมน์ ตึกแถว+อพาร์ตเมนต์ไม่บาน  โดย... อาจารย์เชี่ยว)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ