Lifestyle

กาลครั้งนั้น ณ วันนี้...70 ปี ไปรษณีย์กลาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครที่เคยแวะเวียนผ่านไปย่านบางรัก คงสะดุดตากับอาคารขนาดมหึมา ตั้งตระหง่านท้าแดดลมฝนมาเป็นเวลานาน จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า "อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก" เปิดให้บริการประชาชนมาแล้วครบ 70 ปีในปีนี้ อายุอานามไม่น้อยถ้าเป็นคนก็ใกล้ฝั่งเต็มที ทว่าคุณค่าที่แฝงอยู่ในโ

 เปิดสมุดบันทึกการไปรษณีย์ในประเทศไทย เริ่มจัดให้มีขึ้นโดยกงสุลอังกฤษ ที่ทำการแห่งแรกก็คือ สถานกงสุลอังกฤษ ต.บางรัก จ.พระนคร นั่นเอง จนกระทั่งปี พ.ศ.2424 รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่ต้องควบคุม จึงเริ่มดำริเป็นขั้นเตรียมการตั้งแต่ปีนั้น จนมาถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2426 จึงได้เปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขในพระนคร อันเป็นของรัฐบาลไทยขึ้นเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้อาคารริมลำน้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่างเป็นสถานที่บัญชาการ

 จนถึงปี 2470 สถานที่ทำงานที่ปากคลองโอ่งอ่างไม่เหมาะสมเสียแล้ว จึงย้ายกลับมายังสถานทูตอังกฤษเดิมที่บางรัก ต่อมาในปี 2477 ในสมัยที่ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงริเริ่มสร้างที่ทำการใหม่ โดยเลือก พระสาโรชรัจนนิมมานก์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นสถาปนิก และพระสาโรชรัจนนิมมานก์ เลือก นายหมิว อภัยวงศ์ เป็นผู้ช่วยสถาปนิก กับเลือก นายเอ็ช เฮอรมัน เป็นวิศวกร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2478 แล้วเสร็จส่งงานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2481 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 5 เดือน

 แม้ปัจจุบันกรมศิลปากร จะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาคารไปรษณีย์กลางเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการ หากพิจารณาถึงเอกลักษณ์จะเห็นว่า โดดเด่นด้วยงานสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ตามศิลปะยุค นีโอ-คลาสสิก ผสม ฟังชันก์แนลลิซึม คือเน้นความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ลักษณะเด่นอยู่ที่การออกแบบเป็นรูปตัวที (T) สูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น ส่วนหน้ากว้าง 103.80 เมตร ลึก 38.52 เมตร ส่วนหลังกว้าง 22 เมตร ลึก 96 เมตร

 ตัวอาคารด้านหน้ามีการแบ่งความยาวออกเป็น 5 ส่วน โดยเน้นความสำคัญของตำแหน่งศูนย์กลาง ให้มุขหน้าบริเวณกึ่งกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีการประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑ ที่บริเวณมุมหน้าทั้ง 2 ด้านของมุขหน้า ซึ่งเป็นเครื่องประดับอาคารที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น  ซึ่งประติมากร ผู้ออกแบบปูนปั้นคือ ศ.ศิลป์ พีระศรี ศิลปินผู้บุกเบิกงานประติมากรรมแบบสากลในไทย สมัย ร.8 ซึ่งมีคติการออกแบบสถาปัตยกรรมยุคนั้นจะต้องมีรูปปูนปั้นประกอบเสมอ เช่น ศาลากลาง สนามกีฬาแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมี ประติมากรรมรูปปูนปั้นตราไปรษณียากร ประดับผนังห้องโถง อาทิ ตราไปรฯ พระบรมรูปทรงม้า พิมพ์ปี 2451 ,ตราไปรฯ รูปพระที่นั่งอนันตสมาคม ในชุดวันชาติ พิมพ์ปี 2482, ตราไปรฯ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ในชุดเวียนนา พิมพ์ปี 2455 เป็นต้น ก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ตรงกับวันชาติ นับถึงทุกวันนี้ 70 ปีมาแล้ว

 อดีตพนักงานไปรษณีย์วัย 93 ปี อายุงาน 41 ปีเต็ม ละออ เหมรำไพ เล่าความประทับใจในสถานที่ทำงานแห่งแรกของเธอให้ฟังว่าตอนสาวๆ ได้เดินผ่านอาคารแห่งนี้แล้วรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ จึงบอกกับแม่ว่าสักวันจะเข้าไปทำงานที่นี่ และแล้วฝันก็เป็นจริงได้ทำงานอยู่ที่ชั้น 5 ดีใจจนเนื้อเต้นวิ่งขึ้นวิ่งลงไม่รู้วันละกี่เที่ยว จนช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทิ้งระบิดใกล้อาคารไปรษณีย์ ได้อาศัยชั้นใต้ดินของอาคารเป็นที่กำบังภัย  

 ด้าน ออมสิน ชีวพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวเนื่องในโอกาสจัดงานรำลึกความหลัง "กาลครั้งนั้น ณ วันนี้...70 ปี ไปรษณีย์กลาง" ระหว่าง 24-30 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ถึงแม้ไม่ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่นี่ แต่ก็รู้สึกผูกพันและภาคภูมิใจในคุณค่าของที่ทำงานรุ่นคุณปู่

 "ณ วันนี้ เมื่อ 70 ปีที่แล้ว อาคารที่ยืนตระหง่านหลังนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นอยู่เป็นทางการในฐานะที่ทำการของกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งดำเนินกิจการของประเทศมาได้ 57 ปี เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวมเร็วของบริการไปรษณีย์โทรเลขขณะนั้นให้เพียงพอ จึงนับเป็นอาคารหลังมหึมาที่สุดในยุคนั้นก็ว่าได้ ถึงวันนี้อีก 70 ปีให้หลัง อาคารไปษณีย์กลางหลังนี้ก็ยังคงอยู่หลายสมัย" บอสใหญ่ ไปรษณีย์ไทย กล่าว

 กิจกรรมฉลองวันเกิดอาคารไปรษณีย์กลางอายุครบ 70 ปี นอกจากจะเผยแพร่เรื่องราวความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบันของอาคารที่ได้ยืนหยัดรับใช้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบันแล้ว ยังมุ่งหมายให้คนยุคนี้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของอาคารในแง่มุมต่างๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม จนถึงประติมากรรมอันถือเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ

 ทุกวันนี้ ภายในโถงชั้นล่างยังมีการจัดนิทรรศการกึ่งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของไปรษณีย์กลาง พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวอาคาร รวมถึงสิ่งแสดงในอดีต อาทิ ตู้ไปรษณีย์ เคาน์เตอร์ จักรยาน ตราชั่ง ฯลฯ ตลอดจนสินค้าคอลเลกชั่นพิเศษ และดวงตราไปรณียากรที่ระลึก 70 ปี ปณก.3 ดวง 

 กาลครั้งนั้น ณ วันนี้ ของใครหลายคนคงเป็นมากกว่าสถานที่รับ-ส่งจดหมาย และซื้อหาดวงตราไปรษณียากร อย่างที่แฟนพันธุ์แท้วัยปลดเกษียณ และนักสะสมแสตมป์ ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามได้จรดปลายปากกาเผยความรู้สึกสนิทแน่นกับที่แห่งนี้มากว่า 40 ปี ว่า...
 อันวันใด ไม่สำคัญ เท่าวันนี้ 
 เป็นวันที่ สำคัญ กว่าวันไหน
 ถึงพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ดีอย่างไร
 ก็ยังไม่ สำคัญ เท่าวันนี้

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ