Lifestyle

เสกสรร-ปรีชา–ประยงค์ขึ้นแท่นศิลปินแห่งชาติ52

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประกาศ 9 ศิลปินแห่งชาติปี 52 “เสกสรร-ปรีชา-ประยงค์ ” ขึ้นแท่น วธ.แจงเงินกองทุนศิลปินฯ มีพอจ่าย ยันถังไม่แตก แต่ใช้ได้แต่ดอกผลปีละ 8 ล้านบาทเท่านั้น เตรียมของบฯปี54 เพิ่มจังหวัดละ 10 ล้าน ใช้ดูแลศิลปิน

 เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แถลงข่าวผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 มีผู้ได้รับการคัดเลือก 3 สาขารวม 9 คน ดังนี้ 1.สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ ศ.ปรีชา เถาทอง ด้านจิตรกรรม นายองอาจ สาตรพันธุ์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ด้านประณีตศิลป์ - แกะสลักเครื่องสด นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ด้านภาพถ่าย

 2.สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์ 3.สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นายจตุพร รัตนวราหะ ด้านนาฎศิลป์ - โขน นายอุทัย แก้วละเอียด ด้านดนตรีไทย นางมัณฑนา โมรากุล ด้านดนตรีไทยสากล-ขับร้อง และนายประยงค์ ชื่นเย็น ด้านดนตรีไทยลูกทุ่ง -ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน

 นายธีระ กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินี้ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น เป็นผู้มีคุณธรรม มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ โดยศิลปินแห่งชาติปี 2552 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 ก.พ. นี้ เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 นายธีระ กล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมว่าด้วยการจัดสวัสดิการศิลปินและผู้มีผลงานทางวัฒนธรรม (กกส.) ที่มีงบประมาณเหลือ 3 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายนั้น ว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเงินจำนวน 3 ล้านบาท อยู่ในส่วนการส่งเสริมศิลปิน แต่ละจังหวัด แต่ความจริงแล้ว ในปี 2552 วธ. ได้รับเงินอุดหนุน 28 ล้านบาท รวมเงินสะสมในกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมฯ มีจำนวน 315 ล้านบาท

 แต่ ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ จะใช้เพียงดอกผล ปีละ 8 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนกิจการของศิลปินแห่งชาติเท่านั้น โดยในปี 2553 วธ.ยังได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเป็น 39 .6 ล้านบาท อย่างไรก็ตามขอรับรองว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายของศิลปินแห่งชาติ 121 คน อย่างแน่นอน จึงอยากชี้แจงให้สังคมรับรู้ว่า ไม่ต้องวิตกกังวลต่อเรื่องนี้ แต่เห็นด้วยที่หากทางจังหวัด สถาบันการศึกษาจะเข้ามาช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติด้วย

 ด้านนายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปีพุทธศักราช 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อพุทธศักราช 2528 จนปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่างๆที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 203 คน เสียชีวิต 82 คน ยังมีชีวิตอยู่ 121 คน สำหรับการช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติ รัฐบาลได้มอบเงินอุดหนุนผ่านกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมว่าด้วยการจัดสวัสดิการศิลปินและผู้มีผลงานทางวัฒนธรรม

 ดูแลในเรื่องของค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 ต่อปี เงินช่วยเหลือเมื่อประสบภัยไม่เกินคนละ 50,000 ต่อปี ค่าของเยี่ยม ไม่เกินคนละ 2,000 บาท ค่าเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 300,000 บาท เมื่อเสียชีวิตจะได้รับการช่วยเหลือคนละ 15,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ ไม่เกินคนละ 2,000 บาท และค่าจัดพิมพ์หนังสือไม่เกินคนละ 120,000 บาท เงิน กกส. นี้ได้ช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติ 121 คน รวมถึงผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมด้วย

 นายสมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับเงินกองทุนศิลปินซึ่งได้รับการอุดหนุนจังหวัดละ 3 ล้านบาทนั้น จะใช้เพียงดอกผลไปส่งเสริมงานศิลปินแห่งชาติในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วเงินส่วนนี้ทาง สวช.ได้ของบไปจังหวัดละ 10 ล้านบาท ไปหลายปีแล้ว แต่ได้รับการจัดสรรมาเพียงจังหวัดละ 3 ล้านบาทเท่านั้น จึงไม่เพียงพอกับการส่งเสริมงานของศิลปินแห่งชาติในแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม จะมีการส่งเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาของบประมาณเพิ่มในปีงบประมาณ 2554 ให้ได้ จังหวัดละ 10ล้านบาทตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนกองทุนส่งเสริมศิลปินในส่วนกลาง ยืนยันว่ามีตัวเลขที่ 315 ล้านบาท

 ด้านศ.ปรีชา เถาทอง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ที่ผ่านมา ตนได้ทำงานเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด และหลังจากได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติแล้ว ตนก็จะพยายามขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะทั้งการเป็นศิลปิน และเป็นครูผู้สอนงานศิลป์ ไปยังเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น เพื่ออุดช่องว่างระหว่างงานศิลปะ ให้แคบลง ให้คนไทยได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ อนุรักษ์ และสืบทอดผลงานศิลปะของชาติต่อไป

 นายประยงค์ ชื่นเย็น กล่าวว่า รู้สึกตื้นตันใจมากที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตการทำงานในวงการดนตรีไทยลูกทุ่งและไทยสากล ตลอดเวลายึดหลักในการสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ โดยการนำเอาเครื่องดนตรีไทยหลายชนิดมาบรรเลงผสมเครื่องดนตรีสากล ที่ผ่านมาได้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงมาแล้วกว่า 3,000 เพลง และที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ ได้เรียงเรียงเสียงประสานเพลงส้มตำ เพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และยินดีเป็นอาจารย์สอนพิเศษดนตรีให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยไม่หวังค่าตอบแทน เพราะอยากให้ลูกหลานในบ้านเกิดได้มีความรู้ด้านดนตรี

 สำหรับประวัติโดยย่อของศิลปินแห่งชาติทั้ง 9 คนมี ดังนี้ นายปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปัจจุบันอายุ 61 ปี ชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และรับราชการอาจารย์ม.ศิลปากร เกษียณอายุในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 9 คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ตลอดระยะเวลา 39 ปีสร้างสรรค์ศิลปกรรมไทยร่วมสมัยอย่างมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น ชุดแสงเงา

 นายองอาจ สารทพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปัจจุบันอายุ 65 ปี ชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษามหาวิยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา เป็นสถาปนิกที่เป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย สามารถประยุกต์ใช้ศิลปะแบบดั้งเดิมผสมผสานกับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืนและแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัล The Baird Prize จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และรางวัลสถาปนิกดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม เช่น อาคารตึกช้างคอนโดมิเนียม

 นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - แกะสลักเครื่องสด) ปัจจุบันอายุ 83 ปี ชาวสกลนคร เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะการแกะสลักผัก ผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด รูปแบบลวดลาย เนื้อหาและวิธีการนำเสนอให้กว้างขวางขึ้นสู่สายตาชาวโลก เช่น งานโคมลอย พระราชพิธีจองเปรียงในจิตนาการ

 นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปัจจุบันอายุ 55 ปี ชาวกรุง เทพฯ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โรงเรียนวัดราชสิงขร และเข้าอบรมการถ่ายภาพทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งฝึกฝนการถ่ายภาพกว่า 30 ปี ผลงานได้รับรางวัลจากสมาคมถ่ายภาพทั่วโลกประมาณ 1,000 รางวัล เช่น รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม (Best of Show) การประกวดภาพถ่ายสไลด์สีนานาชาติทั่วโลก

 นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์ ปัจจุบันอายุ 60 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ. ) ปริญญาโทและปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ สหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ.ปัจจุบันเกษียณอายุข้าราชการแล้ว เขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มีผลงานที่สร้างสรรค์มากว่า 3 ทศวรรษ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บันทึก ความเรียง บทความ บทปาฐกถา บทวิจารณ์วรรณกรรม และงานแปล

 เนื้อหาความคิดที่แนบแน่นอยู่กับประสบการณ์ชีวิต งานเขียนในทศวรรษแรกและทศวรรษที่สองสะท้อนทัศนะและอารมณ์ในฐานะปัญญาชนที่เป็นผู้นำในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในช่วงทศวรรษที่สามเป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญาบนพื้นฐานภูมิปัญญาตะวันออก นำไปสู่การตกผลึกทางความคิด มีความลุ่มลึก คมชัด ผลงานสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ ฉายภาพสังคม นำเสนอปรัชญาในการพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณ ประณีตงดงามทางวรรณศิลป์ และเป็นแบบอย่างการประพันธ์แก่นักเขียนรุ่นหลัง

 นางมัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ปัจจุบันอายุ 86 ปี ชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาโรงเรียนเสาวภา เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมาตลอด ผลงานเพลงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน เช่น เรณูดอกฟ้า สิ้นรักสิ้นสุข อาลัยรัก จุฬาตรีคูณ ลาแล้วจามจุรี เป็นต้น

 นายจตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ด้านนาฎศิลป์ - โขน เป็นผู้แสดงโขน - ละคร ให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศชม อีกทั้งเป็นครูสอนโขนถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารและได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เข้ารับพระราชทานครอบประธานพิธีไหว้ครูโขนละคร และการต่อกระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ. 2527 ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการแสดงโขน ด้านการเรียนการสอนทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ และยังเป็นผู้สืบทอดกระบวนท่ารำที่ได้รับจากโบราณจารย์ ปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมและเป็นอาจารย์พิเศษสอนโขนในสถาบันการศึกษาต่างๆ มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก

 นายอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปัจจุบันอายุ 77 ปี ชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาประถมที่ 4 โรงเรียนวัดอัมพวา เป็นลูกศิษย์ระนาดเอกของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้รับการถ่ายทอดชั้นเชิงการบรรเลงเดี่ยวระนาด เพลงหน้าพาทย์ การขับร้องและการประชันวง มีความรู้เแตกฉานทั้งทางระนาดเอกและระนาดทุ้ม ผลงานประพันธ์เพลงเถาเทพทอง เถาสุดคะนึง และแสดงเดี่ยวระนาดเอก ในการแสดงระนาดโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย

 นายประยงค์ ชื่นเย็น ปัจจุบันอายุ 63 ปี มีผลงานและประสบการณ์ด้านดนตรีมากว่า 40 ปี เริ่มเข้าวงการเพลงโดยเป็นนักดนตรีเป่าทรัมเป็ท อยู่กับวงดนตรีรวมดาวกระจาย 2510 ต่อมามาอยู่กับวงดนตรีสุรพัฒน์ ผ่องศรี วรนุช และเพลิน พรหมแดน พ.ศ. 2519 - ปัจจุบัน ออกมาทำงานประพันธ์เพลง ควบคุมการบรรเลงเพลงวงดนตรีไทยลูกทุ่งและไทยสากล ผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงทุกรูปแบบ ผลงานเรียบเรียงเสียงประสานและบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรก คือ เพลงหนาวอีกปี

 ต่อมาได้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงมากมาย เช่น จดหมายจากแนวหน้า หัวใจถวายวัด ล่องเรือหารัก ทหารเรือมาแล้วและเรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ เพลงส้มตำ เพลงแดร็กคูล่าผู้น่ารัก เพลงเพ็ญจันทร์ เพลงพลบค่ำ ได้เริ่มนำเอาเครื่องดนตรีไทยหลายชนิดมาบรรเลงผสมกับเครื่องดนตรีสากล เพื่อให้ดนตรีลูกทุ่งได้เผยแพร่สู่สากลจนเป็นที่ยอมรับของนักฟังเพลงทั่วโลก อย่างเช่น เทพธิดาผ้าซิ่น อีสาวทรานซิสเตอร์

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ