Lifestyle

เหตุใด อ.ไข่ มาลีฮวนน่าจึงมาแช่ว่านรางยา(ตอนจบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...   ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน   โดย...  เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee) 

 

 

 

          (ต่อจากตอนที่แล้ว) พิธีกรรมแช่ว่านยาเป็นพิธีใหญ่มาก และเป็นพิธีชั้นสูงของสำนักวัดเขาอ้อและมีขั้นตอนยุ่งยาก เครื่องบูชาครูจึงต้องมีมากเป็นธรรมดา คือ หัวหมู บายศรีไหญ่ ยอดบายศรี สวมแหวนทองคำหนัก 1 บาท หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ และมีหนังเสือหนังหมี เหล็กกล้า เป็นเครื่องประกอบ

 

 

          เครื่องยาหรือว่านที่ต้องใช้ในพิธีจะต้องมีครบ ๑๐๘ ชนิด แต่ตัวยาหรือพันธุ์ว่านที่สำคัญพอจะทราบได้ดังนี้ คือเจ็ดหมูน (บอระเพ็ด) ชิงช้าชาลี ทั้งสองอย่างนี้จะต้องใช้จำนวนมาก ว่านฝอยหย็อย, ว่านฝอยยง, ว่านข่อยชนิดหนาม ๑๐๘ ชนิด, ว่านกำลังควายถึก, ว่านพระยามือเหล็ก, ว่านพระยาดาบหัก, ว่านอ้ายต้าน, ว่านอ้ายเหนียว, ว่านอ้ายหนังนุ้ย, ว่านอ้ายหนังใหญ่, ว่านโคกกระสุน, ว่านอ้ายกลิ้งกลางดง, ว่านดงกลางดอน, ว่านฤาษีสม, ว่านกำลังคชสาร, ว่านปราบทวีปฯ ซึ่งต้นว่านสมุนไพรเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปตามป่าเขาอ้อและป่าใน จ.พัทลุง

 

 

 

เหตุใด อ.ไข่ มาลีฮวนน่าจึงมาแช่ว่านรางยา(ตอนจบ)

 


          ก่อนการแช่ยาสำหรับผู้ที่ไม่บริสุทธิ์จะต้องสะเดาะ หรือทำพิธีเกิดใหม่เสียก่อนเพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์ สิ่งที่นำมาประกอบพิธีคือด้ายขาว ด้ายดำ ด้ายแดง และหญ้าคา นำมาฟั่นเป็นเชือกยาวเท่ากับความสูงของคนที่จะแช่ยา เครื่องบูชาประกอบด้วย ธูปเทียน หมากพลู แล้วนำเข้าพิธีโดยให้ผู้ที่จะสะเดาะใหม่นั่งลงในท่าของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาและให้อยู่แต่ภายในขอบเขตของเชือกหญ้าคา


          ต่อจากนั้นอาจารย์ก็จะทำพิธีคลอดให้เหมือนอย่างที่ทารกคลอดจากช่องคลอดของมารดาทุกประการ หลังจากนั้นก็นำน้ำพระพุทธมนต์มารดคนที่สะเดาะใหม่

 

 

 

เหตุใด อ.ไข่ มาลีฮวนน่าจึงมาแช่ว่านรางยา(ตอนจบ)

 


          ซึ่งหมายความว่าคนคนนั้นได้เกิดใหม่แล้ว มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย ใจ วาจา หลังจากนั้นจึงให้คนที่จะแช่ว่านอาบว่าน นำว่านทั้งหมดมาตัดเป็นชิ้นเล็ก นำไปต้มส่วนหนึ่ง และใช้แช่ดิบอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก่อนที่จะแช่นั้นต้องหาฤกษ์หายามให้ดีเสียก่อน แล้วทำความสะอาดรางยาหรือเรือให้เรียบร้อย วงสายสิญจน์ไปรอบๆ เป็นการกำหนดมณฑลพิธี เสร็จแล้วจึงนำตัวยาที่เหลือไปต้ม ใส่ลงในรางยา นำน้ำยาที่ต้มแล้วเทใส่ลงไปต้มหลายๆ ครั้ง จนได้น้ำยามากพอสมควรที่ขอบรางยาอาจารย์ผู้ทำพิธีจะลงอักขระเลขยันต์เอาไว้ เมื่อเครื่องยาครบตามที่ต้องการแล้วก็ตั้งเครื่องไว้พระบูชาครู ทำพิธีปลุกเสก




          ในขณะที่ปลุกเสกนั้น อาจารย์จะตบมือลงไปที่รางยาเรื่อยๆ และผู้ที่จะแช่ยาก็จะต้องนุ่งผ้าผืนเดียว ประนมมืออยู่ใกล้ๆ กับอาจารย์ จนเมื่ออาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกครบ ๑๐๘ คาบแล้ว พระภิกษุสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์บนปากรางยาเมื่อเสร็จแล้วอาจารย์ก็จะลงอักขระที่ฝ่ามือ และศีรษะของคนที่จะแช่ยาให้พร้อมกับสอนคาถาเวลาลง กับเวลาขึ้นรางยา ในการลงรางยาแต่ละครั้งจะต้องเลือกเอาคนที่มีกำลังวันมากกว่าคนอื่น

 

 

 

เหตุใด อ.ไข่ มาลีฮวนน่าจึงมาแช่ว่านรางยา(ตอนจบ)

 


          อ.ไข่ มาลีฮวนน่า เกิดวันอาทิตย์ กำลัง ๖ จึงต้องลงหลังผมที่เกิดวันเสาร์ กำลัง ๑๐ สำหรับการลงรางยานั้น อาจารย์เปลี่ยนนำหนังหมีครอบศีรษะให้และให้ใช้เท้าเหยียบเหล็กกล้าที่วางอยู่บนหนังเสือพร้อมกับจับมือของผู้ที่แช่ยา ส่งลงรางครั้งละ ๑ คน


          หลังจากนั้นทุกคนก็จะต้องนอนลงแช่น้ำยาให้ท่วมอก ศีรษะอยู่เหนือน้ำยาและห้ามไม่ให้น้ำยาเข้าหู เข้าตา เพราะอาจทำให้หูหนวก ตาบอดได้ ผู้แช่ยาจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอันมาก แม้จะพูดคุยกันก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะผู้ที่แช่ยาจะต้องนอนแช่ยาไป ภาวนาไป


          ซึ่งคาถาที่ใช้ท่องในการแช่ยานั้นมีใจความว่า "มะอะอุ” ตลอดเวลาที่นอนแช่ยาอยู่นั้น เราต้องใช้ความอดทนอย่างสูงสุด ที่จะไม่ให้เสียสมาธิและทนไม่ได้ในการแช่น้ำต้มว่านร้อนๆ


          เพราะบอระเพ็ดหรือเจ็ดหมูนตามคำเรียกขานของชาวใต้จะขมมาก แม้ว่าจะเพียงแค่นอนแช่ไม่ได้กินเข้าไปแต่กลิ่นและความขมก็จะซึมซาบเข้าไปในจมูก ปาก ลำคอ จนแทบไม่ไหวเอาทีเดียว ในช่วงที่ต้องการแช่ยานั้น การรับประทานอาหารของผู้ที่แช่ยาแต่ละคนจะต้องกินอาหารภายในเขตมณฑลพิธีเท่านั้นโดยมีญาตินำอาหารมาให้ แต่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างเด็ดขาด!!!


........


          เพราะฉะนั้นการที่ผม เอก อัคคี ที่ตั้งใจจะสืบสานถ่ายทอดรักษาเรื่องราวของตักศิลาแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาสรรพวิชา สรรพยา สรรพไสยเวท สืบต่อไปในอนาคต


          และ “อ.ไข่ มาลีฮวนน่า” คฑาวุธ ทองไทย ผู้ปรารถนาจะสืบทอดวิชาหมอยาสมุนไพรมาจากบิดาผู้ให้กำเนิดซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณ หมอยาแห่งทองไทยโอสถ บ้านลำไพ เทพา สงขลา


          จึงเป็นคำตอบว่าเราสองคนได้มาลงรางแช่ว่านชุบตัวชุบชีวิตในรางยากลางถ้ำมหาวิทยาลัยสมุนไพรแห่งแรก สำนักตักศิลาเขาอ้อ เพื่อสืบสานตำนานพุทธาคมเขาอ้อต่อไปทั้งด้านพุทธคุณ พุทธาคม และสรรพคุณทางสมุนไพรไทยโบราณ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ