Lifestyle

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๒ )

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน  โดย...  เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee)

 


          มีข้อความปรากฏบนศิลาจารึกตาพรหมว่า “พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗” ได้สร้างโรงพยาบาลคือ “อโรคยาศาลา” เป็นธรรมทานทั่วพระราชอาณาจักร มากถึง ๑๐๒ แห่ง ด้วยทรงเคารพนับถือพระไภษัชยคุรุทรงพยายามอนุวัติหรือดำเนินตามพระพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น นอกจากนั้นยังได้สร้างรูปพระปฏิมา “ไชยพุทธมหานาถ” พระราชทานไปประดิษฐานไว้ในเมืองอื่นๆ ๒๓ แห่ง พระองค์ทรงสร้างธรรมศาลา ขุดสระ สร้างถนน

 

 

          และจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์พบว่า “พระกริ่งปทุม” ของขอมได้สร้างขึ้นอย่างแพร่หลายทุกยุคในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพื่ออุทิศบูชาแด่พระพุทธไภษัชยคุรุ


          ซึ่งได้มีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑

 

 

 

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๒ )

พระกริ่งอู่ทองรุ่นแรง (หน้า-หลัง)


          ในการสร้างได้มีพิธีปลุกเสกประจุฤทธิ์เข้าไปตามกระบวนลัทธิมหายาน เป็นพระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาราชามูลปรณิธานสูตร ครบสูตร ทำให้พระกริ่งปทุมจึงมีฤทธานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก


          แม้ว่าภายหลังเมื่อลัทธิพุทธมหายานเสื่อมสลายลงไป แต่คติการสร้างพระกริ่งยังคงสืบทอดกันมา และกลับมาแพร่หลายในหมู่ชาวไทย ลาว ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรขอม เพราะมีอาณาจักรติดต่อกัน


          แต่เมื่อนานเข้าก็หลงลืมประวัติเดิมไปบ้าง วิธีการสร้างแบบเดิม ไปบ้างเพราะพระสูตรมหายานเป็นภาษาสันสกฤตเลือนหายไปตามความนิยมพุทธลัทธิมหายาน ต่อมาพระเกจิอาจารย์ในสายหินยานท่านได้ดัดแปลงวิธีการสร้างใหม่ตามแบบไสยเวทมีการลงพระยันต์ ๑๐๘ และนะปถมัง ๑๔ นะ ในแผ่นที่โลหะซึ่งก็ยังเกิดความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามาตรว่าทำขั้นตอนให้ถูกต้องตามพิธีกรรมจริงๆ

 

 

 

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง (๒ )

ผู้เขียนเข้ากราบนมัสการพระอาจารย์มหาพิชัย
เจ้าอาวาสวัดเขาท่าเทียม เมืองอู่ทอง ผู้จัดสร้าง พระกริ่งที่เข็มขลัง

 


          ส่วนเม็ดกริ่งในองค์พระนั้น ท่านผู้รู้ได้สันนิษฐานเอาไว้ได้ ๒ ประการ คือประการแรกเพื่อสัญลักษณ์แห่งพระพุทธภาวะ และประการที่สอง เป็นไปตามคติที่ว่าถ้าได้สดับพระนามจะได้รับความโชคดีจึงได้บรรจุเม็ดกริ่งไว้เพราะเมื่อสั่นองค์พระจะได้บุญสองต่อ ผู้สั่นเท่ากับได้เจริญภาวนาถึงพระไภษัชยคุรุ

 



          ส่วนผู้ที่ได้ยินก็ได้รับบุญด้วย
          ในบรรดาผู้นับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธไภษัชยคุรุนั้น จะพบว่า พระกริ่งบางสมัยหรือบางสำนักเป็นพระพุทธรูปนั่งแบบปาง “มารวิชัย” พระหัตถ์ข้างซ้ายแทนที่จะถือ “วัชระ” กลับถือบาตรน้ำมนต์บ้าง หม้อยาบ้าง ผลสมอบ้าง ฯลฯ เหตุก็เพราะผู้สร้างคงมีประสงค์จะให้มีความหมายในทางบูชาแล้วป้องกันสรรพโรคาพาธและความอัปมงคล


          สำหรับประเทศไทย การสร้างพระกริ่งปรากฏเป็นหลักฐาน ก่อนยุครัตนโกสินทร์ บ้างก็ว่า “น่าจะมีการสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะมีตำราพระยันต์ ๑๐๘ และนะ ๑๔ นะ” เป็นเครื่องมือ บางท่านบอกว่าลึกไปถึงสมัยสุโขทัยเลยทีเดียว


          แต่ “ตำราพระยันต์ ๑๐๘ และนะ ๑๔ นะ” ที่ได้มีการบันทึกไว้ในตอนท้ายของตำราว่า “เป็นพระยันต์ที่ใช้สำหรับลงหล่อพระพุทธรูปที่สำคัญ”

 

          ซึ่งอาจจะทำให้พระคณาจารย์ในยุคต่อมา จึงได้นำเอาพระยันต์ ๑๐๘ และนะ ๑๔ นะ มาลงผสมในหล่อโลหะเพื่อเพิ่มความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระกริ่งที่หล่อมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้


          เดวิด เชนเลอร์ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีระดับโลก ได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัติย์ผู้สร้าง “ระบบพุทธราชา” ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติแตกต่างจาก “ระบบเทวราชา” ตามคติฮินดูที่เคยถือปฏิบัติมานานนับศตวรรษในอาณาจักรพระนครและกลายเป็นแบบอย่างพิธีกรรมให้แก่พระมหากษัตริย์ ระบบพุทธราชาได้เติบโตมาจากประเพณีของอินเดีย (เจ้าชายสิทธัตถะหรือพระโคตมพุทธเจ้า)


          เพราะในรัชสมัยของพระองค์ทรงไม่ถือพระองค์ว่าเป็นผู้อุทิศตนแก่เทพเจ้าหรือต้องไปรวมกับพระเจ้า(พระศิวะ)หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว แต่ทรงถือว่าพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่ที่ไม่ยอมไปตรัสรู้เพื่อคอยช่วยเหลือราษฎรให้พ้นทุกข์ เพราะเชื่อว่าการไถ่ทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยวิธีนี้ กษัตริย์เองก็จะพ้นทุกข์ไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่กฎเกณฑ์ของเทวราชาคือการรวบรวมความยิ่งใหญ่ลี้ลับทั้งหลายเอาไว้ที่พระองค์เอง เช่น พิธีกรรมต่างๆ เทวาลัยปราสาท กาพย์กลอนฉันท์บทกวี การอภิเษกสมรสและจารึก


          การที่ทรงอุทิศตนเพื่ออาณาประชาราษฎร์ด้วยมีพระปณิธานก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคมีทั้งถนนหนทาง วัดวาอาราม ศาลาแห่งไฟ และอโรคยาศาลนั้น เดวิด เชนเลอร์ ยังกล่าวถึงเอาไว้ว่า เกิดจากการที่พระองค์ทรงพิจารณาแล้วว่า พระองค์มีภารกิจที่ต้องช่วยขจัดทุกข์โศกทั้งทางกายและใจของราษฎร ดังจารึกที่พบในอโรคยาศาลาว่า


          “เราจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายอยู่วัฏสงสาร ด้วยคุณธรรมและราชกิจอันดีงาม ขอราชะแห่งกัมพูชาซึ่งสืบต่อจากเรา จงตั้งอยู่ในความดี พร้อมด้วยมเหสีและนางสนม ข้าราชบริพารและมิตรสหายไปถึงดินแดนสุขาวดีที่ปลอดพ้นจากโรคาทั้งปวง”


          สำหรับประวัติการสร้างพระกริ่งในเมืองไทยนั้น มีบันทึกชัดเจนว่า ผู้สร้างท่านแรกคือสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) อันคำว่า “กริ่ง” นี้ สมเด็จฯ (สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทว) เคยรับสั่งเสมอว่า


          คำว่า “กริ่ง” นี้ มาจากคำถามที่ว่า “กึ กุสโล” คือเมื่อพระโยคาวจรบำเพ็ญสมณธรรม มีจิตผ่านกุศลธรรมทั้งปวงเป็นลำดับไปแล้ว ถึงขั้นสุดท้าย จิตเสวยอุเบกขาเวทนา ปุญญาภิสังขาร"


          ส่วนเหตุผลที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม สร้างพระกริ่ง คือ


          เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) ได้อาพาธเป็นอหิวาตกโรค ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่นเสด็จมาเยี่ยมอาการอาพาธ เมื่อรับสั่งซักถามถึงอาการของโรคจนเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว จึงรับสั่งว่า เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ได้อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปรกติ


          และพระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวร นิเวศ แต่สมเด็จฯ ทูลว่า พระกริ่งที่กุฏิก็มี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงรับสั่งให้นำมา แล้วอาราธนาพระกริ่ง แช่น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้วโรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปรกติ ส่วนพระกริ่งที่อาราธนาขอน้ำพระพุทธมนต์นั้น เป็นพระกริ่งสมัยไหน พระองค์ท่านรับสั่งว่าจำไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นพระกริ่งเก่าหรือไม่ก็คงเป็นพระกริ่งของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ องค์ใดองค์หนึ่ง


          ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ก็เริ่มสนพระทัยในการสร้างพระกริ่งขึ้นเป็นลำดับ ค้นหาประวัติการสร้างพระกริ่งและตรัสไว้ว่า


          “การสร้างพระกริ่งนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว เริ่มขึ้นที่ประเทศทิเบตก่อน ต่อมาก็ประเทศจีน และประเทศเขมร พระพุทธลักษณะของพระกริ่ง เป็นแบบพระพุทธรูปมหายานทางทิเบต และในเขมรก็มีพระกริ่งแบบนี้เหมือนกับเรา ที่เรียกกันว่า “กริ่งปทุม” ประเพณีนิยมสร้างพระกริ่งของไทยจะได้ครูจากเขมรเป็นแน่แท้ และมีการสร้างกันในยุคกรุงสุโขทัยแล้ว ที่กล่าวว่าตำราสร้างพระกริ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เดิมเป็นของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ก็น่าจะจริงเพราะสมเด็จพระพนรัตองค์นั้นท่านคงจะได้รวบรวมวิธีการสร้างตำรับตำราเก่าๆ และในสมัยนั้นวัดป่าแก้วก็นับถือกันว่าเป็นสำนักอรัญญิกาวาส สมถธุระ วิปัสสนาธุระ”


          ครับ--กล่าวโดยสรุปพระกริ่งก็คือ พระปฏิมาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านั่นเอง


          พระพุทธเจ้าองค์นี้เป็นที่นิยมนับถือของปวงพุทธศาสนิกชนฝ่ายลัทธิมหายานอย่างมาก


          และปรากฏพระประวัติความเป็นมาในพระสูตรสันสกฤตสูตรหนึ่ง ว่า “พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาราชามูลประณิธานสูตร ผู้ทรงเป็นครูในด้านเภสัช คือ การรักษาพยาบาล”


          เพราะฉะนั้นตั้งแต่โบราณนานมาจึงนิยมใช้พระกริ่งมาอธิษฐานแล้วแช่น้ำทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์แล้วดื่มกินเชื่อว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้

(ติดตามอ่านต่อในตอนต่อไป)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ