Lifestyle

ตำนานพระกริ่งอู่ทอง(๑)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน   โดย...   เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee)

 

 


ไภษัชคุรุ อโรคยา
สรรพมิ่งมังคลาศรัทธานิสงส์
ศักดิ์สิทธิ์อิทธิคุณบุญญายง
ปฐมพิมพ์ภูมิทรง องค์อู่ทอง ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
๘ เมษายน ๒๕๖๒
๐๕.๔๙ น.

 

ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์, ศิลปินแห่งชาติ, กวีซีไรต์

 

         


          ท่านให้ความรักให้ความเมตตาผมมายาวนานแล้วเมื่อทราบว่า ผมมาช่วยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระอาจารย์มหาพิชัย เจ้าอาวาสวัดเขาทำเทียม ในด้านงานเขียน งานศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องพระกริ่ง


          ซึ่งทางวัดเขาทำเทียม ได้จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกคือ พระกริ่งอู่ทอง รุ่นแรก ท่านจึงร่ายบทกวีบูชาพระส่งให้ผมเมื่อเช้าตรู่ของวันนี้ วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๒


          ขอบุญกุศลที่ท่านได้รจนาถ้อยภาษากวี


          เปรียบประดุจดอกไม้ ธูปเทียน ถวายพระไภษัชคุรุส่งให้ท่านปราศจาก โรคาพยาธิเทอญ...สาธุ

          เอก อัคคี
          ๘ เมษายน ๒๕๖๒


          พระกริ่ง มีจุดกำเนิดมาจากที่ใดและเพราะอะไร บรรดาพระคณาจารย์ตั้งแต่สมัยโบราณกาลจึงได้สร้างสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและชวนให้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ?


          และที่นี่มีคำตอบ !

          หากจะสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไป เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าได้ถึงวาระดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๖๒๔ ปี บรรดาพุทธสาวกในชมพูทวีปได้มีความเห็นแตกแยกกันในหลักคำสอนของพระองค์ สุดท้ายพุทธสาวกทั้งหลายจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อทำการสังคายนาในหลักคำสอนและได้เกิดความเห็นเป็นสองฝ่าย


          ฝ่ายหนึ่งยึดถือในการปฏิบัติและมีความเห็นว่าต้องยึดถือในพระวินัยอย่างเคร่งครัด จึงเกิด “นิกายลัทธิหินยาน” อีกฝ่ายมีความเห็นว่าต้องยึดหลักพระอภิธรรมซึ่งไม่เคร่งครัดนักในด้านพระวินัย และถือว่าการกระทำด้วยเหตุผลและเป็นผลต่อการอนุเคราะห์ยกเว้นได้ ทำให้เกิดเป็น “นิกายลัทธิมหายาน”

 

 



          ในลัทธิมหายานได้แปลพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งบทสวดพระพุทธมนต์เป็นภาษาของตัวเอง แต่ลัทธินิกายหินยานเป็นการยึดถือพระบาลีอย่างเคร่งครัด


          บัดนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่มีนามว่า “พระไภษัชยคุรุ” เป็นพระพุทธองค์ที่พุทธศาสนิกชนที่นับถือลัทธิมหายานนับถือมากดังที่ปรากฏในข้อความหนังสือ “กำเนิดพระกริ่ง” ที่เขียนโดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ในหนังสือ “ชีวิต” ฉบับที่ ๕ เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ความหมายตอนหนึ่งว่า


          “อันที่จริงพระกริ่งก็คือ พระปฏิมาพระไภษัชคุรุพุทธเจ้านั่นเอง พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เป็นที่นิยมนับถือของปวงพุทธศาสนิกชนฝ่ายลัทธิมหายานยิ่งนัก ปรากฏพระประวัติอยู่ในพระสูตรสันสกฤตสูตรหนึ่ง คือ พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาราชามูลประณิธานสูตร”


          สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระศากยมุนีพุทธเสด็จประทับ ณ กรุงเวสาลี สุขโฆสวิหาร พร้อมด้วยพระมหาสาวก ๔,๐๐๐ องค์ พระโพธิสัตว์ ๓๖,๐๐๐ องค์ และพระราชาธิบดี เสนาอำมาตย์ ตลอดจนปวงเทพโดยสมัยนั้น


          และพระมัญชุศรีผู้ธรรมราชาบุตร อาศัยพระพุทธภินิหารลุกขึ้นจากที่ประทับทำจีวรเฉลียงบ่าข้างหนึ่ง ลงคุกพระชานุกับแผ่นดิน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระสมเด็จพระโลกนาถเจ้า ประคองอัญชลีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระองค์โปรดประทานพระธรรมเทศนา พระพุทธนามและมหามูลปณิธานและคุณวิเศษอันโอฬารแห่งปวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อยังผู้สดับพระธรรมกถานี้ ให้ได้รับหัตถประโยชน์บรรลุถึงสุขภูมิ”


          ในครั้งนั้น พระมัญชุศรีผู้ธรรมราชาบุตร ยังกราบทูลต่อไปอีกว่า “ความสุขในกาลใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีสัตว์เหล่าใดที่ยากจนปราศจากอาภรณ์นุ่งห่ม อันความหนาวร้อนและเหลือบยุงเบียดเบือน ทั้งกลางวันและกลางคืน หากได้สดับนามแห่งเราและหมั่นรำลึกถึงเราไซร้ เราจักได้สิ่งที่ปรารถนาและจักบริบูรณ์ด้วยธนสารสมบัติสรรพอาภรณ์เครื่องประดับและเครื่องบำรุงความสุขต่างๆ ฯลฯ”


          พระบรมศาสดาศากยมุนีพุทธเจ้า ได้ตรัสต่อไปว่า พรไภษัชยคุรุ มีพระโพธิสัตว์ผู้ใหญ่ ๑๒ องค์ คือพระสุริยไวโรจนะและพระจันทรไวโรจนะ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ช่วยของพระไภษัชยคุรุพระพุทะเจ้าเบื้องปลายแห่งประสูติ ทรงแสดงอานิสงส์ของการบูชาพระไภษัชยคุรุว่า “ผู้ใดก็ดีได้บูชาพระองค์ด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว ก็เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากภัยบีฑา ไม่ฝันร้าย ศาสตราวุธทำอันตรายมิได้ยาพิษทำอันตรายมิได้ ฯลฯ”


          ในเวลาตรัสพระคาถา พระบรมศาสดาทรงพระทัยเข้าสมาธิ ชื่อ “สรวลสัตวทุกขภินทนาสมาธิ” ปรากฏรัศมีไพไรจน์ขึ้นเหนือพระเกตุมาลา แล้วจึงตรัสพระคาถามหาธารณี ขึ้นในบัดดล


          เมื่อในพุทธศาสนาได้แบ่งเป็นลัทธินิกายใหญ่สองนิกาย ในพุทธศาสนาคือ ลัทธินิยานหินยานและลัทธินิกายมหายาน กล่าวในส่วนของฝ่ายลัทธินิกายมหายานนั้น พุทธสาวกจึงได้เคารพและศรัทธาในพระพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง คือ พระไภษัชยคุรุ ซึ่งมีความปรารถนาในการที่จะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพื่อช่วยเหลือบรรดาสรรพสัตว์ในโลก


          เมื่อความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารของพระไภษัชยคุรุได้ปรากฏ จึงเกิดการสร้างพระพุทธรูปไภษัชยคุรุขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายานเพื่อกราบไหว้สักการบูชาขึ้นอีกพระองค์หนึ่งและเป็นพระพุทธรูปที่สาวกลัทธินิกายมหายาน เคารพนับถือมาก จึงได้ปรากฏมีพระปฏิมาของพระไภษัชยคุรุบูชากันทั่วไปในวัดของ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ทิเบต เกาหลี เวียดนาม และประเทศเขมรและเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย


          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยเพิ่งจะมาเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ เมื่อยุคกรุงสุโขทัย อาณาจักรศรีวิชัยซึ่งตั้งแคว้นอยู่บนคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่ พ.ศ.๑๒๐๐ – ๑๗๐๐ รวมระยะ ๖๐๐ ปี


          เป็นอาณาจักรที่เคารพนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และนำพุทธศาสนาลัทธิมหายานแพร่หลายในหมู่เกาะชวา มลายู จนมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนอาณาจักรขอมปรากฏมีพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานและลัทธิพราหมณ์เจริญแข่งกันพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรขอมในสมัยนั้นหรือประเทศกัมพูชาในยุคปัจจุบัน บางพระองค์เป็นพุทธมามกะบางองค์เป็นพราหมณ์มกะ


          ใน พ.ศ.๑๕๔๖ – ๑๕๙๒ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑”ซึ่งเป็นกษัตริย์ขอมที่ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วมีพระนามว่า “พระบรมนิวารณบท” ลัทธิมหายานไม่เฟื่องฟูในสมัยพระองค์มากนักเนื่องจากสืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรศรีวิชัย


          แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยังมีกษัตริย์อีกพระองค์คือ “พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗” ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๔๘ พระองค์ทรงเป็นมหายานพุทธมามกะโดยแท้จริง ทรงพยามยามจรรโลงพุทธศาสนาลัทธิมหายานให้ซึมซับเข้าไปในจิตใจของประชาชนทรงเป็นพระมหาราชาธิราชองค์สุดท้ายของอาณาขอม


          เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์และอาณาจักรก็เข้าสู่ยุคเสื่อมสลาย พระองค์ ซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองใหม่ชื่อ “นครชัยศรี” คือปราสาทพระขรรค์สำหรับเป็นพุทธสถานประดิษฐานพระปฏิมาอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อันเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณาซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน


          ทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระเจ้าธรณินทรวรมันพระชนกแล้วทรงสร้างปราสาทตาพรหม ประดิษฐานพระปฏิมาปรัชญาปารมิตาโพธิสัตว์แห่งปัญญาอุทิศแด่พระวรราชมารดา มีจารึกว่าปราสาทตาพรหมเป็นอาวาสสำหรับพระมหาเถระ ๑๘ องค์และสำหรับพระภิกษุ ๑,๗๔๐ รูป แล้วทรงสร้างปราสาทบายนเป็นที่ประดิษฐานพระรูปสนองพระองค์เอง


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ