Lifestyle

แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทย-ลาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างช่างฝีมือไทยและช่างฝีมือในประเทศเพื่อนบ้าน

          เพื่อต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างช่างฝีมือไทยและช่างฝีมือในประเทศเพื่อนบ้าน ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จึงนำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน ร่วมงาน “แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและสลักไม้ร่วมไทย-ลาว” โดยมี อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธาน และ ดร.ไมสิง จันบุดดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว ต้อนรับ ที่ศูนย์พัฒนาและทดสอบฝีมือแรงงาน เวดสะพง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว

แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทย-ลาว

อัมพวัน พิชาลัย-ดร.ไมสิง จันบุดดี

          อัมพวัน กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม เกิดจากการมองว่าครูด้านต่างๆ ไม่ว่าเก่งแค่ไหนล้วนต้องการการพัฒนา ซึ่งในประเทศไทยมีโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างครูกับครูในสาขาเดียวกันอยู่แล้ว รวมถึงร่วมกับวัดซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมมากมายในการพัฒนาองค์ความรู้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้หรืองานหัตถกรรมที่ประเทศอื่นมีคล้ายกับประเทศไทย จึงเริ่มโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วมโดยร่วมกับประเทศในแถบอาเซียนที่มีวัฒนธรรมคล้ายกันก่อนขยายสู่ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย เริ่มจากงานที่หัตถกรรมที่ใกล้สูญหายก่อนอย่างงาน ลงรัก สลักดุน และประดับมุก

แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทย-ลาว

แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและสลักไม้ร่วมไทย-ลาว

          “สำหรับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม ประจำปี 2562 เป็นงานหัตถกรรมไม้ ซึ่งเมื่อพูดถึงงานไม้ในประเทศไทยเรามักนึกถึงการแกะสลักไม้เป็นภาพต่างๆ รวมถึงวัตถุดิบในไทยค่อนข้างมีความจำเพาะและจำกัด จึงมองว่างานไม้น่าจะอีกหนึ่งงานที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ เช่น เป็นข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน หรือเป็นเครื่องประดับ แต่ยังคงงานศิลปหัตถกรรมอยู่ในนั้นด้วย ครูศิลป์และครูช่างของไทยมีความหลากหลายในเรื่องของงานไม้ แต่การจะต่อยอดจากเดิมให้มากขึ้นเรานึกถึงลาว เพราะลาวมีการแกะสลักไม้จำนวนมาก และมีความสวยงาม วิจิตรพิสดาร อลังการ ทั้งยังมีทักษะฝีมือการแกะสลักไม้เนื้อแข็ง แตกต่างจากช่างไทยที่มีความถนัดการแกะสลักไม้เนื้ออ่อน จึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องทั้งเรื่องทักษะและเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนนำไปสู่การเชื่อมโยงการทำงานกันในอนาคต นอกจากนี้ยังเกิดคอนเนกชั่น จากนั้นครูจะนำองค์ความรู้และคอนเนกชั่นเหล่านั้นไปแบ่งปันให้เด็กรุ่นใหม่ โดยครูที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการต้องสร้างชิ้นงานแล้วนำไปจัดแสดงและต้องอธิบายให้ได้ว่าใช้เทคนิคผสมผสานอย่างไรบ้าง เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เหล่านั้นให้คนรุ่นใหม่ไมว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา ทายาท หรือคนในชุมชน” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศกล่าว

แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทย-ลาว

 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

          ดร.ไมสิง กล่าวว่า ลาวเป็นประเทศที่มีแหล่งไม้อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็ง อาทิ ไม้ประดู่ ไม้พะยูง ฯลฯ และมีวิวัฒนาการด้านงานไม้มายาวนาน แต่เมื่อก่อนลาวขายไม้ส่งออกแบบไม่แปรรูปเป็นจำนวนมากจนป่าไม้ลดลง ปัจจุบันภาครัฐจึงอนุญาตให้ส่งออกเฉพาะไม้แปรรูปเท่านั้น แต่ยังมีอุปสรรคหลายอย่าง อาทิ เรื่องการขนส่ง เนื่องจากลาวเป็นประเทศที่ไม่ติดทะเล การขนส่งสินค้าชิ้นใหญ่จึงทำได้ยาก จึงต้องพยายามพัฒนาสินค้าและลดขนาดสินค้าให้มีขนาดเล็กลง อาทิ ตะเกียบ ทัพพี ฯลฯ เพื่อเป็นสินค้าส่งออกในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทางรถไปลาว-จีนแล้วเสร็จ ผลงานแกะสลักไม้ของลาวจะเผยแพร่ออกไปสู่ประเทศอื่นๆ มากขึ้นอย่างแน่นอน

แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทย-ลาว

การใช้เครื่องมือของช่างจากประเทศลาว

          “เหล่าศิลปินมองว่าไม้เป็นชีวิตประจำวันของคน ไม่ว่าจะทำเฟอร์นิเจอร์หรือของประดับตกแต่ง ลวดลายที่แกะสลักไม้ของลาวจึงเกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรมและวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่ศูนย์แห่งนี้จึงเป็นสถานที่อบรมและหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม เพราะงานแกะสลักไม้เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของประเทศ ที่จริงแล้วการแกะไม้ของลาวและไทยมีความคล้ายคลึงกันในด้านเทคนิคการแกะ แต่ไทยมีเทคนิคเฉพาะตัวและมีศักยภาพสูงที่สามารถแกะงานได้ละเอียดและสวยงามกว่าลาว อย่างงานนี้ช่างลาวมีโอกาสได้เห็นผลงานของช่างไทย เป็นการได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคเพื่อให้ลาวได้พัฒนาตัวเองขึ้น” ผู้อำนวยการสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว กล่าว  

          ยรรยงค์ คำยวง หนึ่งในครูช่างหัตถกรรมเครื่องไม้ปี 2562 จากประเทศไทย กล่าวว่า ไทยและลาวมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน การได้มาร่วมงานนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และส่วนหนึ่งครูช่างจากไทยยังให้คำแนะนำและช่วยเหลือครูช่างที่นี่ด้วย จะเห็นได้ว่างานแกะสลักของบ้านเราส่วนใหญ่จะใช้ไม้สักเป็นส่วนมาก ซึ่งเนื้อจะไม่แข็งมากสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ง่ายและออกมาสวยงาม ขณะที่วัตถุดิบของลาวคือไม้เนื้อแข็ง ซึ่งเป็นไม้จากธรรมชาติที่่ตะปุ่มตะป่ำ งานไม้ส่วนมากจึงมักเป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่ไม่ต้องอาศัยความละเอียดมากนัก และด้วยความที่ใช้ไม้เนื้อแข็งจึงต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างเข้ามาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย

แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทย-ลาว

สีทอง สีเวินไซ-ยรรยงค์ คำยวง

          สีทอง สีเวินไซ อาจารย์สอนวิชาสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติลาว หนึ่งในครูช่างจากประเทศลาว เผยว่า งานแกะสลักไม้ของลาวส่วนใหญ่จะใช้ไม้เนื้อแข็งอย่างเช่นไม้พะยูง โดยจะใช้สิ่วเป็นเครื่องมือหลักคล้ายคลึงกับประเทศไทย และมีการใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วย อาทิ สว่าน เลื่อย หรือเครื่องเจีย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะแกะลายผักกูดและลายกระดังงาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศลาว ขณะที่งานบางอย่างใกล้เคียงกับประเทศไทยเช่นงานแกะสลักพระ แต่ความแตกต่างจะอยู่ตรงเปลวไฟ เป็นต้น ซึ่งการที่มีโอกาสได้เข้าร่วมงานนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคนิคซึ่งกันและกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ