Lifestyle

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศมส. จัดมหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เชียงแสน : ปาเจียงแสนปิ๊กบ้าน

          นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 มีโอกาสแวะเวียนไป จ.ชียงราย หลายครั้ง แต่ละครั้งจะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่ซ้ำกัน เนื่องจากเชียงรายมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด อย่างครั้งล่าสุดได้ร่วมทริปกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ ศมส. โดยการนำของ พีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ จับมือเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ พัฒนาคู่มือเรียนรู้เมืองเชียงแสน หนุนการจัดการเรียนรู้ท้องถิ่นในมหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เชียงแสน : ปาเจียงแสนปิ๊กบ้าน ที่วัดเจดีย์หลวง และบริเวณเมืองเก่าเชียงแสน   

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

วัดเจดีย์หลวง 

          ภายในงานจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ของดีเมืองเชียงแสน ประกอบด้วย นิทรรศการของดีเมืองเชียงแสน เช่น จารึกเมืองเชียงแสน วิหารสกุลช่างเชียงแสนใน จ.ลำปาง อุปกรณ์เครื่องตีเงิน ลวดลายสลุงเงินของชาวเชียงแสน ฯลฯ และมีกิจกรรม อาทิ สาธิตการทอผ้าห่อคัมภีร์และการทำสวยกาบแบบเชียงแสน สาธิตการจารคัมภีร์ใบลาน การตัดกระดาษ การทำสวยดอก เป็นต้น  โซนที่ 2 จูงแขนปิ๊กบ้าน จัดแสดงนิทรรศการของชาวไทยวนเชื้อสายเชียงแสนที่ไปตั้งถิ่นฐานในจังหวัดต่างๆ 10 จังหวัด เช่น ราชบุรี สีคิ้ว แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ฯลฯ  

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

พีรพน พิสณุพงศ์ ชมนิทรรศการ

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

รำลึกความหลังจากภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงแสนในอดีต

    โซนที่ 3 สร้างสรรค์ความรู้ เป็นการจัดบูธเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษาที่มีการสร้างชุดความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในเชียงแสนที่มีหลากหลายและมากแห่งจนเชียงแสนถือว่าเป็นเมืองพิพิธภัณฑ์โดยแท้ โซนที่ 4 ภาพคู่ความหลัง ประกอบด้วยนิทรรศการภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เมืองเชียงแสน นิทรรศการภาพถ่ายน้ำท่วมเมืองเชียงแสน พ.ศ.2509 นิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงแสนในอดีต เป็นต้น และ โซนที่ 5 รวมพลังพัฒนา เป็นนิทรรศการที่แสดงถึงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในรูปของคลินิกพิพิธภัณฑ์ ใครมีปัญหาเรื่องอะไรเชิญมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในบูธนี้ นิทรรศการแสดงผลงาน เรื่องราวที่ทำผ่านมาตลอดโครงการ ในปี 2560-2561 แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ งานซ่อม งานสร้าง และงานเสริม

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

 จัดแสดงผ้าทอโบราณจาก จ.แพร่

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

การละเล่นพื้นบ้าน

          ทั้งนี้ภายในอาณาเขตเมืองเก่าเชียงแสนเมืองยังมีโบราณสถานสำคัญๆ ทั้งด้านนอกและด้านในกำแพงเมืองหลายแห่ง ที่ปิ๊กมาแล้วไม่ควรพลาดชมก็อย่าง วัดเจดีย์หลวง ภายในวัดนอกจากพระเจดีย์หลวงแล้วยังมีพระวิหารซึ่งเก่าแก่มากพังทลายเกือบหมด และเจดีย์ธาตุแบบต่างๆ อีก 4 องค์ สิ่งสำคัญภายในวัดคือ เจดีย์ระฆังฐานแปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเชียงแสน ติดกับวัดเจดีย์หลวงเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2500 เพื่อเป็นสถานที่อนุรักษ์และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในเมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในภาคเหนือ หลังจากนั้นในปี 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอย่างเป็นทางการ 

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

 วัดป่าสัก 

          ห่างกันไม่ไกลเป็นที่ตั้งของ วัดป่าสัก เจดีย์วัดป่าสักเป็นเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอด มีลวดลายปูนปั้นที่งดงาม รูปแบบทางสถาปัตยกรรม ส่วนฐานได้รับอิทธิพลจากเจดีย์เชียงยัน จ.ลำพูน และด้านศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพุกาม จีน ขอม และสุโขทัย เดินทางออกจากเมืองเชียงแสนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไม่ไกลนักเป็นที่ตั้งของ วัดพระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่บนดอยจอมกิตติ สร้างเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกหน้าผาก กระดูกอก และกระดูกแขน เป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสองสมัยเชียงแสน สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่พระเจดีย์ทรงปราสาทยอดทรงระฆัง สร้างขึ้นเมื่อปี 1483 ต่อมาเมื่อปี 2030 มีการสร้างเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมองค์เจดีย์ในปัจจุบัน

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

พระธาตุผาเงา

          อีกหนึ่งสถานที่ไม่ควรพลาดชมคือ วัดพระธาตุผาเงา ได้ชื่อมาจาก “พระธาตุผาเงา” ที่ตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่ คำว่าผาเงา หมายถึงเงาของหน้าผา หรือก้อนหินที่มีลักษณะเป็นรูปสูงใหญ่คล้ายรูปทรงพระเจดีย์ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าพระธาตุผาเงา สิ่งสำคัญภายในวัดนอกจากองค์พระธาตุผาเงาแล้วยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ พระเจดีย์เจ็ดยอด พระเจดีย์จอมจัน พระวิหารสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา พระธาตุพุทธนิมิต ซุ้มประตูพระธาตุผาเงาที่มีลวดลายลักษณะสวยงาม เป็นต้น 

ปิ๊กเมืองเก่ารำลึก"เชียงแสน"

วัดพระธาตุจอมกิตติ 

          ขยับขึ้นไปทางเหนืออีกนิดเป็นที่ตั้งของ หอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ บนพื้นที่กว่า 250 ไร่ เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2548 จัดแสดงเนื้อหาประวัติศาสตร์และพัฒนาการของฝิ่นและสารเสพติดที่ได้จากฝิ่น สงครามฝิ่น ขบวนการค้ายาเสพติด ที่ซับซ้อนอยู่ในทุกส่วนของโลกสารเสพติดอื่นๆ ผลกระทบของสารเสพติดต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และต่อบุคคล ผู้เข้าชมได้มีปฏิสัมพันธ์ สัมผัส ตระหนักถึงมหันตภัย เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหาจากฝิ่นและสารเสพติด ได้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และร่วมกันแก้หรือควบคุมปัญหายาเสพติดตลอดจนนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง

          ..ชาวเชียงแสนที่โยกย้ายไปอยู่พื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ปิ๊กบ้านครั้งหน้า อย่าลืมแวะไปรำลึกความทรงจำกันนะคะ...

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ