Lifestyle

ศิลปะพัฒนาเด็กพิเศษ ตามแนวคิด "ครูอารี สุทธิพันธุ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การพัฒนาเด็กด้วยศิลปะ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างเยาวชนให้เติบโตไปเป็นผู้สร้างนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ของชาติต่อไป

          “ศิลปะ” ใช่เป็นเพียงแค่ศาสตร์แขนงหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของงานวาดเขียน หรือปฏิมากรรมเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาจิตวิญญาณ ความคิด และรสนิยมของผู้คน ให้นำไปสู่พัฒนาการทางจิตใจให้บุคคลมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของ ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ปี 2555 ผู้บุกเบิกริเริ่มจัดการเรียนการสอนวิชาเอกศิลปศึกษา วิทยาลัยวิชาการประสานมิตร หรือปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเด็กด้วยศิลปะ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างเยาวชนให้เติบโตไปเป็นผู้สร้างนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ของชาติต่อไป

          ยังมีเยาวชนอีกกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างพัฒนาการ คือกลุ่มเด็กพิเศษหรือออทิสติก ที่มีความต้องการการดูแลและส่งเสริมด้านต่างๆ เป็นพิเศษมากกว่าเด็กทั่วไป ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ด้วยวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับลักษณะหรือทักษะเฉพาะของเด็กแต่ละคน เด็กกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องได้รับโอกาสและพื้นที่ในการแสดงความสามารถที่เขามีอยู่ในตัวและต้องการการยอมรับ รวมทั้งความเข้าใจ 

ศิลปะพัฒนาเด็กพิเศษ ตามแนวคิด "ครูอารี สุทธิพันธุ์"

น้องเกมส์โชว์ผลงานสร้างสรรค์

          เช่นเดียวกับ "น้องเกมส์" เด็กพิเศษจากมูลนิธิออทิสติกไทย ที่มีความสนใจด้านศิลปะและมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมวาดภาพระบายสีเพื่อประกวดในหัวข้อ “คุณครูของฉัน” หนึ่งในกิจกรรมทางศิลปศึกษาภายใต้ โครงการวันครูศิลปะ : อารี สุทธิพันธุ์ จัดโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่อาคารนวัตกรรม ศ.ดร.สาโรช บัวศรี โดย น้องเกมส์ เปิดเผยว่า สิ่งที่ได้รับจากการเรียนศิลปะคือการมีโอกาสได้คิดนอกกรอบ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักการหรือเหตุผลใดมากำหนดว่าต้องวาดอย่างไร เลือกสีอะไรถึงจะถูกต้อง แต่งานศิลปะควรถูกถ่ายทอดไปตามเจตนาที่เราต้องการจะสื่อความหมายออกมา

ศิลปะพัฒนาเด็กพิเศษ ตามแนวคิด "ครูอารี สุทธิพันธุ์"

ขีดเขียนและแต้มสีอย่างมีอิสระ

          จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์ของการเรียนรู้ของน้องเกมส์สอดคล้องกับแนวคิดของศาสตราจารย์พิเศษอารี กล่าวคือการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงสุนทรียะมากกว่าการพัฒนาเชิงช่างฝีมือ จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสรรหาวิธีคิด วิธีทำแบบใหม่โดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ ที่มักถูกกำหนดด้วยหลักการซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

          น้องเกมส์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำให้เขาและเพื่อนๆ มีโอกาสออกมาเผชิญโลกภายนอก มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่มีความสามารถทางศิลปะ และได้เปลี่ยนบรรยากาศ ซึ่งช่วยในเรื่องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ศิลปะพัฒนาเด็กพิเศษ ตามแนวคิด "ครูอารี สุทธิพันธุ์"

เด็กๆ ภาคภูมิใจที่ได้แสดงออกในเชิงศิลปะ

          สำหรับศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ คือคุณครูศิลปะอีกท่านหนึ่งของแวดวงศิลปะไทยที่มีความมุ่งมั่นต่อการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่วงการศิลปศึกษาและศิลปกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนากระบวนการทางความคิดของครูศิลปะในสังคม ซึ่งปรากฏผลลัพธ์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมยาวนาน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงจัดโครงการวันครูศิลปะ:อารี สุทธิพันธุ์ ขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติต่อศาสตราจารย์พิเศษอารี

ศิลปะพัฒนาเด็กพิเศษ ตามแนวคิด "ครูอารี สุทธิพันธุ์"

สีช่วยพัฒนาความคิดและจิตใจ

          อีกทั้งยังจัดกิจกรรมเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเติมเต็มองค์ความรู้ทางศิลปกรรมแก่คณาจารย์ บุคลากร นิสิตในระดับปริญญาตรี นิสิตในระดับบัณฑิตศึกษา และศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาแล้วให้ได้กลับมารับความรู้ใหม่เพิ่มเติม รวมทั้งกิจกรรมทางศิลปศึกษาที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพของเด็กพิเศษ ให้เป็นเยาวชนที่มีความสามารถและมีศักยภาพในการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อการพัฒนาสังคมต่อไป สอดคล้องกับหลักปรัชญาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่ว่า “ศิลปกรรมสรรค์สร้างปัญญา ปัญญาสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ