Lifestyle

ตามไปดู..พิธีโบราณอายุนับพันปี อ.ไข่ มาลีฮวนน่า ลงรางแช่ว่าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน โดย... เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee)

 

 

          สำนักตักศิลามหาเวทย์ วัดเขาอ้อ เป็นวัดโบราณที่มีอายุยาวนานมานับพันปีตั้งแต่ยุคพราหมณ์ ฤาษี จนมาถึงยุคอริยสงฆ์ นับได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยและคาบสมุทรมลายู โดยตั้งอยู่ที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ริมทางรถไฟ สถานีรถไฟปากคลองขึ้นอยู่ในเขต ต.มะกอกเหนือ อันมีกำนันเล็ก เขาอ้อ หรือ นายอนันต์ มณีประสิทธิ เป็นผู้นำชุมชน อีกทั้งยังเป็นผู้ที่สืบสานสรรพวิชาอาคมมาจากอาจารย์เปลี่ยน หัทยานนท์ เจ้าพิธีกรรมตามหลักไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อ ซึ่ง อ.เปลี่ยน นั้นขณะนี้วัย ๘๒ ปีแล้ว ถือเป็นฆราวาสจอมขมังเวทอาวุโสสูงสุดของสำนัก

 

          สำหรับสรรพวิชาทั้งในศาสตร์ด้านไสยเวทและศาสตร์ด้านยาสมุนไพรนั้น ในปัจจุบันนี้ได้รับการแพร่หลายออกไปสู่ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างทั่วถึงกัน เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเจ้าอาวาสในวัดนั้นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์ที่มาร่ำเรียนวิชาไปจากวัดเขาอ้อทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวัดดอนศาลา, วัดบ้านสวน, วัดประดู่เรียง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวัดใดจะนำเอาวิชาไสยศาสตร์จากที่นี่ไปใช้แม้ว่าจะได้ผลด้วยวิทยาคมขลัง แต่ก็มีพิธีอีกอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถที่จะทำได้อย่างเข้มขลังเท่ากันที่สำนักวัดเขาอ้อทำ เพราะต้องใช้สถานที่ในวัดเขาอ้อเท่านั้นทำการทำพิธี นั่นก็คือ “การแช่ว่านรางยา กินเหนียวกินมัน” เพื่อที่จะสร้างความขลังให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมพิธี
ซึ่งศาสตร์แห่งการแช่ว่านรางยากินเหนียวกินมันนี้ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของเคล็ดวิชาวัดเขาอ้อ เพราะเชื่อกันว่า ผู้ใดที่ได้ลงไปนอนแช่น้ำว่านที่ผ่านการปลุกเสกตามหลักไสยศาสตร์ของพระอาจารย์ผู้มีกฤติยาคมแกร่งกล้าวัดเขาอ้อแล้ว หากคนคนนั้นประพฤติปฏิบัติตนตามคำสอนเชื่อกันว่าน้ำว่านที่แช่ ข้าวเหนียวและน้ำมันเสกที่กินจะอยู่ยงคงกระพันชาตรี เปี่ยมด้วยอำนาจ บารมีและมีตบะด้านเมตตามหานิยม ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง

 

          ดังนั้นด้วยเหตุนี้เองวัดเขาอ้อจึงได้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งตามคำเรียกขานของชาวบ้านทั่วไปว่า “วัดพระอาจารย์ขลัง” ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดพิธีแช่ว่านรางยา กินเหนียวกินมันกันในงาน ไหว้ครูบูรพาจารย์สำนักวัดเขาอ้อ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ นี้


 


          สำหรับพิธีกรรมต่างๆ ที่ประกอบขึ้นในวัดเขาอ้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลุกเสกพระเครื่อง หรือทำพิธีอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วพระอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมของวัดแห่งนี้มักจะใช้สถานที่ประกอบพิธีกรรมที่มิดชิด และเป็นสถานที่ซึ่งคนธรรมดาไม่กล้าจะเหยียบย่างเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นบนเชิงเขาอ้อหรือที่ในถ้ำฉัททันต์ของวัด
ส่วนใหญ่แล้วเจ้าอาวาสของวัดเขาอ้อมักจะใช้สถานที่ในถ้ำฉัททันต์บรรพตแห่งนี้มาปลุกเสกเครื่องรางของขลังแล้ว นอกจากว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่เงียบสงบแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นเสริมอยู่ด้วยนั่นก็คือ ความเชื่อที่ว่าหากได้ปลุกเสกหรือทำพิธีกรรมภายในถ้ำ หรือในโบสถ์ที่มีประตูทางเข้าด้านเดียวนั้น จะทำให้วัตถุมงคลดังกล่าวมีความขลัง มีพลังฤทธานุภาพทางคงกระพันชาตรี หรือที่เรียกว่ามหาอุตม์


          แต่สำหรับการทำพิธีแช่ว่านเกินเหนียวกินมันนั้น จะจัดให้มีขึ้นที่ไหล่เขา ในราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีซึ่งเป็นงานไหว้ครูบูรพาจารย์ของสำนัก เนื่องจากพิธีแช่ยา เป็นพิธีใหญ่มากจึงจัดขึ้นเฉพาะในวาระสำคัญเท่านั้น เครื่องบูชาครูต้องมีได้แก่หัวหมู ๑ หัว บายศรีใหญ่ ยอดบายศรีมีแหวนทองคำหนัก ๑ บาทสวมไว้ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ อาหารคาวหวาน แท่งเหล็กกล้า หนังเสือ หนังหมี ฯลฯ ส่วนเครื่องยาหรือว่านที่ต้องใช้ในพิธีมี ๑๐๘ ชนิด ซึ่งต้นว่านเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในจังหวัดพัทลุงและตามภูเขาในพื้นที่ใกล้เคียง


          การประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้ง ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเวลานาน เพราะบางครั้งต้องเสียเวลาในการค้นหาตัวว่านและว่านทุกชนิดที่นำมาประกอบพิธีกรรมนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบจากอาจารย์เปลี่ยน ผู้ประกอบพิธีเสียก่อนจึงจะใช้ได้


          ในการทำพิธีแช่ยานี้เป็นการแช่ว่านต้ม อ.เปลี่ยน ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมทางไสยศาสตร์สูงมาก จะประกอบพิธีกรรมได้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก่อนการแช่ว่านสำหรับผู้ที่ไม่บริสุทธิ์จะต้องสะเดาะเคราะห์ หรือทำพิธีเกิดใหม่เสียก่อนเพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์ ด้วยการนำด้ายขาว ด้ายดำ ด้ายแดง และหญ้าคา นำมาฟั่นเป็นเชือกยาวเท่ากับความสูงของคนที่จะแช่ว่าน โดยให้ผู้ที่จะสะเดาะใหม่นั่งลงในท่าของทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดาและให้อยู่แต่ภายในบ่วงเชือกหญ้าคา


          จากนั้นอาจารย์ก็จะโยนบ่วงให้คล้องตัวเพื่อทำพิธีเกิดใหม่ให้เหมือนอย่างที่ทารกคลอดจากท้องของมารดาทุกประการ และหลังจากนั้นก็นำน้ำพระพุทธมนต์มารดให้ ซึ่งหมายความว่าคนคนนั้นได้เกิดใหม่แล้ว มีความบริสุทธิ์ ทั้งกาย ใจ วาจา


          ในขณะที่ปลุกเสกนั้น อาจารย์ก็จะตบมือลงไปที่รางยาเรื่อยๆ และผู้ที่จะแช่ยาก็จะต้องนุ่งห่มผ้าขาวผืนเดียว ประนมมืออยู่ใกล้ๆ กับอาจารย์ จนเมื่ออาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกครบ ๑๐๘ คาบแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็จะเจริญพระพุทธมนต์บนปากรางยาเมื่อเสร็จแล้วอาจารย์ก็จะลงอักขระที่ฝ่ามือฝ่าเท้า และศีรษะของคนที่จะแช่ยาให้พร้อมกับสอนคาถาเวลาลง กับเวลาขึ้นรางยา ในการลงรางยาแต่ละครั้งนั้นจะต้องเลือกเอาคนที่มีกำลังวันมากกว่าคนอื่น ลงก่อนโดยแบ่งเป็นกำลังตามวันเกิดดังนี้ คือ วันอาทิตย์ กำลัง ๖ วันจันทร์ กำลัง ๑๕ วันอังคาร กำลัง ๘ วันพุธ กำลัง ๑๗ วันพฤหัสบดี กำลัง ๑๙ วันศุกร์ กำลัง ๒๑ วันเสาร์ กำลัง ๑๐
โดยอาจารย์จะนำหนังหมีครอบศีรษะให้ศิษย์ และใช้เท้าเหยียบเหล็กกล้าที่วางอยู่บนหนังเสือพร้อมกับจับมือของผู้ที่แช่ยา ส่งลงรางครั้งละคน จนครบตามจำนวน

 

          หลังจากนั้นทุกคนก็จะต้องนอนลงแช่น้ำยาให้ท่วมอก ศีรษะอยู่เหนือน้ำยาและห้ามไม่ให้น้ำยาเข้าหู เข้าตา เพราะอาจทำให้หูหนวก ตาบอดได้ ผู้แช่ยาจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอันมาก ผู้ที่แช่นั้นจะต้องนอนแช่ไป ภาวนาไป ซึ่งคาถาที่ใช้ท่องในการแช่ว่านนั้นมีใจความว่า “เพ็ดชะคงๆ มะอึกเพ็ดชะด้านๆ มะอึก มะอะอุ” ตลอดเวลาที่นอนแช่ โดยมีอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และจะมีพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ให้เมื่อขึ้นจากรางยา เพื่อไปเข้าพิธีกรรมกินข้าวเหนียวดำกินมันที่หุงด้วยน้ำว่าน ๑๐๘ ชนิดต่อไป


          ซึ่งในปีนี้ศิลปินเพลงชื่อดังสายเลือดปักษ์ใต้ อ.ไข่ มาลีฮวนน่า หรือ คฑาวุธ ทองไทย จะเข้าร่วมพิธีกรรมอันเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ด้วยการลงรางแช่ว่านกินเหนียวกินมัน ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ และจะเปิดการแสดงฟรีคอนเสิร์ต “มาลีฮวนน่าบูชาครูบูรพาจารย์สำนักเขาอ้อ” ในคืนนั้นด้วย พร้อมกับเปิดตัวผลงานเพลงใหม่ล่าสุด “พุทธาคมเขาอ้อ” ที่เขียนคำร้อง/ทำนองโดย เอก อัคคี


          ในงานไหว้ครูของสำนักวัดเขาอ้อปีนี้จะมีการจัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อแจกให้บรรดาศิษย์ผู้เลื่อมใสศรัทธาสายสรรพวิชาเขาอ้อคือ เหรียญพระพิฆเนศ ที่ระลึกงานไหว้ครูเขาอ้อ และมีเครื่องรางของขลังวัตถุมงคลอื่นๆ ที่สร้างขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้เช่าหาบูชากัน อาทิ ตะกรุดโทน (๕๐ ดอก), รูปหล่อพระปิดตากุมารในครรภ์ (๑๙ ช่อ), พระปิดตากุมารในครรภ์ อีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ


          วัตถุมงคลทั้งหมดทำพิธีปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ อาทิ พระอาจารย์เชียร วัดเขาอ้อ, พ่อท่านพรหม วัดบ้านสวน, พระครูกาชาด วัดประดู่หอม, พระอาจารย์รรรสิริ วัดภูเขาทอง, พระอาจารย์เสถียร์ วัดโคกโดน ผู้ที่สนใจสามารถไปสอบถามได้กับทางวัดเขาอ้อในวันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเป็นการสืบสานตำนานเขาอ้อ ตักศิลามหาเวทแห่งนี้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ