Lifestyle

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่การแสดงโขนรามเกียรติ์ตอน "พิเภกสวามิภักดิ์"

     สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดง “โขน” เป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานให้คงอยู่สืบไป ในปี 2561 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์”  มาทำการแสดง

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

    เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเปิดม่านให้ชมความวิจิตรตระการตาของศิลปะการแสดงชั้นสูงแขนงนี้ ได้จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์ โดยมี ครูวีระชัย มีบ่อทรัพย์ เป็นผู้นำพิธี พร้อมด้วยบุคคลสำคัญ อาทิ จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน), อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง, ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิต เป็นต้น ที่วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันก่อน

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย - ครูวีระชัย มีบ่อทรัพย์ -ดร.อนุชา ทีรคานนท์

    อ.ประเมษฐ์ เปิดเผยว่า พิธีคำนับครูเป็นพิธีโบราณ เป็นลักษณะการบูชาหรือการไหว้ครู นิยมประกอบพิธีก่อนเริ่มแสดงชุดสำคัญหรือการต่อท่ารำที่สำคัญ การแสดงโขนมูลนิธิฯ ถือว่าเป็นการแสดงที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นก่อนจะเริ่มฝึกซ้อมต้องมีการบูชาครู ซึ่งประกอบด้วยพิธีการไหว้ครู เป็นต้นว่า มีครูผู้ประกอบพิธีที่เป็นครูผู้ใหญ่ ครูอาวุโส เป็นผู้กล่าวนำบูชาครู พร้อมทั้งขออนุญาตเริ่มต้นกิจกรรม ประสิทธิ์ประสาทพรให้ทำงานประสบผลสำเร็จ ทั้งในเรื่องของการฝึกซ้อมการแสดง การต่อท่ารำ เพื่อเป็นสิริมงคลและขจัดอุปสรรคต่างๆ นอกจากนั้นอาจมีการถวายเครื่องสังเวย เช่น ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ เท่าที่จะหาได้ ผลไม้ชื่อเป็นมงคล เช่น ขนุน กล้วย อ้อย ปัจจุบันนี้นิยมใช้ผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อความสะดวก

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

      “วันนี้ยังได้จัดซ้อมรวมครั้งแรกของนักแสดงทั้งตัวพระ นาง ยักษ์ และลิง กว่า 300 ชีวิต เพราะที่ผ่านมาได้นำบทไปฝึกซ้อมกันเองตามวิทยาลัยนาฏศิลป จากนั้นนักแสดงทั้งหมดต้องไปซ้อมใหญ่ที่เวทีจริงที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อซ้อมร่วมกับเทคนิคการแสดงสมัยใหม่แต่ยังคงจารีตรูปแบบโขนหลวงโบราณไว้ ทั้งรอก สลิง แสง สี เสียง จริง และไฮไลต์ฉากต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์แบบและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมตลอดการแสดง อาทิ ฉากท้องพระโรงกรุงลงกาที่สวยงามขึ้นด้วยการเพิ่มพระที่นั่งบุษบก, ฉากเรือสำเภาโล้ไปปล่อยพิเภกขึ้นฝั่ง เป็นต้น” อ.ประเมษฐ์ กล่าว 

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

      ด้านผู้รับบทตัวละครสำคัญ “พิเภก” หัวใจของเรื่อง “ฟร้องค์” ปพน รัตนสิปปกร อายุ 19 ปี จากวิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี เล่าว่า เข้ารับการคัดเลือกนักแสดงโขนเป็นปีที่ 4 แล้ว ครั้งแรกรับบทนักแสดงสมทบ และเคยได้รับทุนการศึกษา 2 ปี สำหรับบทพิเภกครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เพราะเป็นบทเด่นเดินเรื่อง ตัวละครมีหลายอารมณ์ในตอนเดียว ไม่ว่าจะทุกข์ เศร้า โกรธ ดีใจ ต้องทำการบ้านหนักโดยการไปดูวิดีโอย้อนหลังการแสดงเก่าๆ ตั้งแต่บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 6 ว่าแตกต่างกันอย่างไรเพื่อจะได้ตีบทให้แตก

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

ปพน รัตนสิปปกร - สุภาพร เปี่ยมนงนุช

     “ต้องฝึกซ้อมกับตัวเอง ท่องบทให้ขึ้นใจ แต่ละฉากต้องเป๊ะ หลุดไม่ได้เลย รู้สึกกดดันโดยเฉพาะฉากยากตอนถอดชฎาแล้วลาลูกเมียไปอยู่กับพระราม ต้องใช้จินตนาการสูงมาก ซึ่งบทพิเภกตลอดการแสดงจะมีคนมารับบท 5 คน สลับกันเล่นวันละ 3 ตัว จริงๆ แล้วถึงจะเล่นบทอื่นๆ ก็รู้สึกไม่ต่างกัน ทุกตัวละครมีความสำคัญหมด เพราะโขนมีเรื่องราวเป็นตอนๆ อยู่ที่เราจะหยิบตอนไหนมาเล่น” ตัวละครเอกของเรื่อง กล่าว

     อีกหนึ่งตัวละครที่เชื่อมต่อเรื่องราวให้เข้มข้น นั่นคือบท “นางตรีชฎา” เมียพิเภก รับบทโดย “ป๊อป” สุภาพร เปี่ยมนงนุช อายุ 21 ปี วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี เจ้าตัวบอกว่า เนื่องจากเป็นตอนที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ทุกคนจึงคาดหวังว่าจะได้ชมความสวยงามอลังการของการแสดง ส่วนตัวก็ชอบตอนนี้ซึ่งน่าเห็นใจนางตรีชฎา คนเป็นเมียย่อมรักสามีอยู่แล้ว ไหนจะลูกอีก พิเภกเป็นเสาหลักของครอบครัว พอถูกขับออกจากเมืองก็โศกเศร้าเสียใจหนักเป็นธรรมดา

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

     “เคยเล่นโขนพระราชทานมา 4 ปี ตั้งแต่ตอนโมกขศักดิ์ มาถึงตอนล่าสุดนี้ได้รับเลือกเล่นบทตรีชฎา ตื่นเต้นดีใจมาก ทุกคนจับตามองเพราะเป็นครั้งแรกที่นำตอนนี้มาเล่น ถ้าเล่นไม่ดีก็อาจถูกตำหนิ เลยต้องทำการบ้านพอสมควร อ่านบทละครเยอะๆ ศึกษาอารมณ์แล้วเล่นให้ดีที่สุด อย่างฉากตอนต้องแยกกับสามีถือว่าใช้อารมณ์สุดๆ แต่โขนจะแสดงออกทางสีหน้าเยอะก็ไม่ได้ ทำอย่างไรให้คนดูสัมผัสได้ถือเป็นเรื่องยาก อยากให้เยาวชนมาชมโขนกันเยอะๆ เพื่อให้คงอยู่ต่อไป อนาคตอยากเป็นครูถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทยให้นักเรียน บางคนไม่เข้าใจโขน เห็นว่าเชื่องช้า ดูยาก อยากให้เปิดใจ มาดูก่อนแล้วจะเข้าใจและสนุกไปกับโขน” สุภาพร ชี้ชวน   

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

โขนพิเภกฯ จัดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์

       ทั้งนี้ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะจัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายนถึง 5 ธันวาคมนี้ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สนใจซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา โทร.0-2262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com ดูรายละเอียดการแสดงเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ