Lifestyle

ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช หัวข้อ "ความสุข ความงดงามในความเป็นไทย"

ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

     ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว สำหรับการส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านแล้วถ่ายทอดแนวความคิดสู่งานศิลปะ ภายใต้โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ในหัวข้อ “ความสุข ความงดงามในความเป็นไทย” ที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “อินทัช” จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 พร้อมตั้งเป้าสนับสนุนให้เด็กไทยรักการอ่านได้มีโอกาสรังสรรค์ผลงานศิลปะตามจินตนาการอย่างไร้กรอบบังคับ  

ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

เอนก พนาอภิชน

     เอนก พนาอภิชน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กว่า 10 ปีที่ดำเนินโครงการจินตนาการ สืบสานวรรณกรรมไทยกับอินทัชมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้อ่านวรรณกรรมหลากหลายประเภททั้งหนังสือพระราชนิพนธ์ วรรณกรรมพื้นบ้าน วรรณกรรมในชั้นเรียน วรรณกรรมร่วมสมัย รวมถึงวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายรวมแล้วกว่า 1,900 เรื่อง

ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

 กาลครั้งหนึ่งกับการได้ยืนดู การแสดงอับดุลขายยา โดย จุฑาภัทร ดีวงษ์ 

     สำหรับหัวข้อปีนี้ “ความสุข ความงดงามในความเป็นไทย” สะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็นไทยในมิติที่หลากหลาย และส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยได้รับความสนใจจากน้องๆ ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 1,000 ชิ้น และเป็นครั้งแรกที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินส่งผลงานเข้าร่วมด้วย ซึ่งโครงการได้เปิดกว้าง เพราะอยากปลูกจิตสำนึก เริ่มจากสนับสนุนให้เยาวชนรักการอ่านและต่อยอดการอ่านให้กลายเป็นงานศิลปะด้วยจินตนาการและแรงบันดาลใจ โดยมองว่ากิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมกระบวนการด้านการอ่าน ความรู้สึก จินตนาการ และการสร้างสรรค์ผลงาน เด็กๆ ต้องสามารถถ่ายทอดออกมาด้วยคำพูดได้ซึ่งจะมีการคัดเลือกนักเรียนและนักศึกษาประมาณ 3-4 คนในแต่ละระดับชั้นให้มานำเสนอผลงาน ให้บอกแนวความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง นี่คือสิ่งหนึ่งที่ต้องการให้มีนอกเหนือจากการอ่าน คิด สร้างสรรค์แล้ว จะต้องนำเสนอผลงานได้ดีด้วย

    ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

"ถวายพระราชสาส์น" ของ เอกพล เอกศิริ 

 ทุกผลงานผ่านการคัดเลือกรอบแรกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านทัศนศิลป์ และวรรณศิลป์นำทีมโดย ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พร้อมด้วยคณาจารย์อีกหลายท่าน ได้แก่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร, ดร.สังคม ทองมี, อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก, คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) และ ธวัชชัย สมคง โดย ดร.เฉลิมชัย เผยว่า ถือเป็นการประกวดที่มีความแตกต่างกับเวทีประกวดทั่วๆ ไป คือจัดการประกวดภาพเขียนที่ทำให้เด็กใช้สมองมากขึ้น ใช้ความคิดมากขึ้น งานศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องการความคิด เรื่องฝีมือเราไม่ห่วง เด็กไทยเราเก่งมาก แต่ในความคิดยังไม่ดี ดังนั้น เด็กไทยควรจะต้องอ่านแล้วฝึกจินตนาการ และสะท้อนออกมาเป็นความคิดของตัวเองซึ่งจะเห็นว่าปีนี้มีภาพผลงานที่มาจากวรรณกรรมเรื่องใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 

ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

“สุขสุดของปวงไทย” ของ พิสชา พ่วงลาภ

     ด้าน อาจารย์เนาวรัตน์ บอกว่า การส่งเสริมให้เด็กไทยรักการอ่านนั้น ถือเป็นการปูพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพของเด็กไทย ซึ่งน่าภูมิใจ และสิ่งที่พิเศษยิ่งขึ้นไปอีกในครั้งนี้ คือ การที่มีเด็กพิการทางการได้ยินส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะปกติเด็กๆ ทุกคนจะมีจินตนาการของตัวเองอยู่แล้ว แต่คนที่มีคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ เขาจะยิ่งมีจินตนาการสูง เช่น รูปเขียนจากวรรณกรรมเรื่องม้าก้านกล้วย โดยรูปขี่ม้าก้านกล้วยแล้วไปช่วยนำเด็กออกมาจากถ้ำ ถือเป็นรูปร่วมสมัยได้เลย เป็นการแตกกระแสออกมาได้อีก

     รางวัลที่มอบให้แก่ผู้ชนะการประกวดทุกระดับชั้นจำนวนทั้งสิ้น 44 รางวัล แบ่งออกเป็นรางวัลชนะเลิศ 4 รางวัล, รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 8 รางวัล, รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 12 รางวัล และรางวัลพิเศษอีก 20 รางวัล สำหรับรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษาได้แก่ผลงาน “สุขสุดของปวงไทย” ของ พิสชา พ่วงลาภ อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยศิลปากร แนวคิดจากวรรณกรรม “ความสุข ความทรงจำ ในรัชกาลที่ 9” ใช้เทคนิคสร้างสรรค์แม่พิมพ์แกะไม้ถมทอง

ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

"อีสาน" โดย ธนาธิป นาฉลอง

      รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ผลงาน "อีสาน" โดย ธนาธิป นาฉลอง อายุ 17 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนแก้งคร้อวิทยา แนวคิดจากวรรณกรรม “อีสานบ้านเฮา” ใช้เทคนิคสื่อผสม, รางวัลชนะเลิศ มัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ ผลงาน "กาลครั้งหนึ่งกับการได้ยืนดู การแสดงอับดุลขายยา" โดย จุฑาภัทร ดีวงษ์ อายุ 13 ปี จากชมรมสอนศิลปะหอศิลป์ปาร์ตี้อาร์ตแกลอรี่ แนวคิดจากวรรณกรรม “เกิดเป็นเด็กตลาด” ใช้เทคนิคสื่อผสม และชนะเลิศ ประถมศึกษาตอนปลายได้แก่ ผลงาน "ถวายพระราชสาส์น" ของ เอกพล เอกศิริ อายุ 12 ปี ชั้น ป.6 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี แนวคิดจากวรรณกรรม “พระนารายณ์มหาราชยุคอารยธรรม” เทคนิคสีน้ำ

ตกผลึกนิสัยรักการอ่าน ถ่ายทอดสู่งานศิลปะ

     ทั้งนี้ โครงการจะนำภาพที่ชนะการประกวดมาจำหน่ายการกุศลเพื่อนำรายได้ทั้งหมดสมทบเข้า มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และสำหรับภาพวาดที่ชนะการประกวดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้สนใจสามารถชมภาพได้บริเวณชั้นจี ลานกิจกรรมเอเทรียม อาคารสินธร ถนนวิทยุ ตั้งแต่วันนี้ถึง 12 ตุลาคมนี้ เวลา 09.00-18.00 น. (ยกเว้นวันเสาร์ และอาทิตย์) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ