Lifestyle

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คมเลนส์ส่องพระ โดย... แล่ม จันท์พิศาโล วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2561

 

          คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

                                                                       *** วันอาทิตย์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ มี งานประกวดพระ จัดโดยคณะนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ ๔๗ ประธานที่ปรึกษา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ประธานจัดงาน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ประธานดำเนินงาน สมภพ ไทยธีระเสถียร รองประธานดำเนินงาน พ.ต.ท.ระพิน ชาติไทย ณ อาคาร ๑๐๖ ไบเทค บางนา พระที่จัดประกวด ๓,๗๗๗ รายการ ค่าส่งพระองค์ละ ๔๐๐ บาท รางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการ หนังสือ พระชนะเลิศการประกวด งาน นรต. ๔๗ (ในงานนี้) และ ภาพพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดินสยาม เล่มใหญ่พิเศษ หนา ๕๘๐ หน้า ภาพพระคมชัดกว่า ๓,๘๐๐ ภาพ (โดยจ่ายเป็นบัตร รับหนังสือในอีก ๓ เดือนข้างหน้า ที่ชั้น ๒ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน) 

 

 

          ** วันเสาร์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๔๙ น. สุกิจ ศิรินรกุล, สุริยะ ตันติวิวัฒน์ และ สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระพุทธศรีมหาทรัพย์ ณ วัดหนองแวง (พระอารามหลวง) จ.ขอนแก่น โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่านร่วมนั่งปรกปลุกเสก พระพุทธศรีมหาทรัพย์ มี ๒ แบบ คือ ๑.แบบพระปั๊ม สำหรับเป็นรางวัลชนะเลิศแต่ละรายการ งานประกวดพระ จัดโดย สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในวันที่ ๖-๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ อาคารบี ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ๒.แบบพระหล่อ สำหรับให้ผู้มีความศรัทธาเช่าบูชาเพื่อการกุศล 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

          ** พระพุทธรูปศิลปะยุคเชียงแสน สิงห์สาม อายุร่วม ๗๐๐ ปี หน้าตัก ๖ นิ้ว ศิลปะเชิงช่างหลวง ผิวพรรณดูเนียนตาทั้งองค์ กระแสเนื้อองค์พระเปล่งประกายออกมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ของ พระเชียงแสน ที่ถึงยุค ต่างกับพระที่ทำเสริมยุคหลังๆ (พระพุทธรูปล้อศิลปะเชียงแสน มีการทำกันไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว) องค์นี้ดินแกลบโบราณใต้ฐานะสามารถดูเป็น “องค์ครู” ได้เลย...องค์นี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศงานคณะนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ ๒๙ (๑๙ ส.ค.๒๕๖๑) ณ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เป็นพระของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช รังใหญ่พระพุทธรูประดับสวยแชมป์ 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

 

          ** พระสมเด็จเกศไชโย ผู้สร้างคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ลงกรุภายในองค์พระพุทธรูป พระมหาพุทธพิมพ์ วัดไชโยวรวิหาร จ.อ่างทอง เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖-๒๔๐๗ ประมาณหลายหมื่นองค์ มีทั้งแบบฐาน ๗ ชั้น พิมพ์ใหญ่ และแบบฐาน ๖ ชั้น พิมพ์เล็ก เป็นพระเนื้อผงพุทธคุณ สีขาวอมเหลือง เนื้อพระบางองค์ใกล้เคียงกับของวัดระฆังมาก เอกลักษณ์สำคัญของ พระสมเด็จเกศไชโย คือ อกร่อง หูบายศรี และ ขอบกระจก (๒ ชั้น) ทุกองค์ (ขอบและมุมทุกด้านลบคม) องค์ในภาพนี้เป็นพระ พิมพ์ใหญ่ สวยแท้ดูง่าย ของ ประชาวุฒิ สหประชากิจ (เอก วิเศษ) ประธานบริหาร สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จ.อ่างทอง 

 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 


          ** พระพิฆเนศ หลังหล่อซุ้มกอ (หรือเหรียญหล่อเจ้าสัว) เนื้อทองผสม ปี ๒๔๘๕ ออกที่วัดชัยมงคล อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเดิมเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีหล่อวัตถุมงคลหลายวัดใน จ.สงขลา โดยมี หลวงพ่อเส้ง วัดแหลมทราย เป็นประธานในพิธี มีพระเกจิอาจารย์ดังๆ อาทิ พ่อท่านคง วัดธรรมโฆษณ์, หลวงพ่อสีแก้ว วัดไทรใหญ่ และพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ พระอาจารย์เอียด พระอาจารย์ปาล หลวงพ่อหมุน ร่วมพิธีปลุกเสกเสมอ พระพิฆเนศ หลังหล่อซุ้มกอ เป็นพระที่บ่งบอกด้านหนึ่งหมายถึงความสำเร็จ อีกด้านหมายถึงความมั่งมี ค่านิยมอยู่ที่หลักหมื่นปลายถึงหลักแสน องค์นี้ของ เล็ก ระโนด คนหนุ่มนักอนุรักษ์พระบ้านเกิด 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

          ** ต่อไปเป็นภาพจากหนังสือ สุดยอดเหรียญพระคณาจารย์ กรุงเทพมหานคร รางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการ งานประกวดพระ จัดโดย คณะนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ ๒๗ วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ อาคาร บี ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ อันดับแรก คือ เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หน้ายันต์ห้า หลังยันต์สี่ สี่จุด เนื้อทองคำ ลงยาราชาวดี ปี ๒๔๖๗ เป็นเหรียญเนื้อพิเศษที่ลูกศิษย์ผู้มีเงินสั่งทำเป็นพิเศษ จึงมีจำนวนไม่มาก เท่าที่มีผู้สั่งทำเท่านั้น ปกติ เหรียญหลวงปู่เอี่ยม เนื้อทองแดง เช่าหากันถึง ๕ ล้านขึ้นไป เนื้อทองคำ ต้องกว่า ๑๐ ล้าน สำหรับ เหรียญทองคำลงยาราชาวดี มีน้อยมาก ราคาต้องสูงกว่านั้นแน่นอน 

 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

 

          ** อันดับที่ ๒ จากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ คือ เหรียญหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน รุ่นแรก เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ปี ๒๔๗๓ เป็นเหรียญที่สร้างน้อยมาก มีผู้บอกว่าสร้างไม่เกินอายุของท่าน คือ ๗๐ เหรียญ บ้างก็ว่าไม่น่าเกิน ๒๐ เหรียญ ยังไม่มีข้อยุติ รวมทั้งเรื่องราคา บ้างก็ว่ากว่า ๑๐ ล้านบาท เคยมีข่าวว่ามีการขายกันถึง ๓๐ ล้านบาท แต่ที่ยืนยันได้ คือ ภาพนี้เป็น เหรียญแท้ แน่นอน 

 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

          ** หลวงพ่อเจียม วัดหนองแห้ว อ.ท่าเรือ​ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเดียวกับ หลวงพ่อกลั่น​ วัดพระญาติฯ, หลวงพ่อขัน​ วัดนกกระจาบ, หลวงพ่อจง​ วัดหน้าต่างนอก ฯลฯ เหรียญรุ่นแรก​ (รุ่นเดียว) สร้างปี ๒๔๘๒ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง​ สร้างน้อย หายาก เป็นเหรียญที่ออกแบบได้คลาสสิกมาก มีประสบการณ์ทุกด้าน รัก สุพรรณ เจ้าของเหรียญบอกว่า เหรียญสวยๆ เช่าหากันถึงหลักแสน 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

          ** รูปหล่อปั๊มรุ่นแรก หลวงพ่อปี้ ทินโน (พระครูสุวิชานวรวุฒิ) วัดลานหอย อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ปี ๒๕๐๔ สภาพสวยๆ เช่าหากันที่หลักหมื่นกลาง องค์นี้เป็นพระของ มด ท่าเหนือ จ.อุตรดิตถ์...หลวงพ่อปี้ นามเดิม ปี้ ชูสุข (“ปี้” หมายถึง เงินตราสมัยโบราณ) เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๔๕ บรรพชาอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จำพรรษาที่วัดเชิงคีรี ต.ลานหอย อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงคีรี พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดลานหอย วัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกมีหลายชนิด อาทิ พระเครื่อง รูปเหมือนปั๊ม แหวนผ้า ธนบัตรขวัญถุง ฯลฯ ล้วนมีประสบการณ์มากมาย หลวงพ่อได้สร้างความเจริญให้กับพุทธศาสนามาตลอด ได้สร้างอุโบสถอันสวยงาม ด้วยน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของท่าน รวมทั้งเสนาสนะอื่นๆ หลวงพ่อมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๑๗ สิริรวมอายุ ๗๒ ปี 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

          ** เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร ปูชนียธรรมสถานเขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี ปลุกเสกเดี่ยวบนเขาในวันที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง (๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๘) จำนวนสร้าง เนื้อทองคำ ๓ เหรียญ, เนื้อเงิน ๑๙๙ เหรียญ, เนื้อนวโลหะ ๑๙๙ เหรียญ และเนื้อทองแดงรมสีมันปู ๙๙๙ เหรียญ เหรียญทองคำ ในภาพนี้เป็นของ เสี่ยดั้มพ์ โคกสำโรง ติดที่ ๑ งานลพบุรี ๓ ครั้งซ้อน เป็นเหรียญสวยแชมป์สภาพเดิมๆ พร้อมกับรอยจารลายมือ หลวงปู่เรือง โดยตรง...หลวงปู่เรือง เกิดเมื่อ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๕ ที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี อุปสมบทเมื่อ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๗ พอครบ ๑๐ พรรษา ท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ เพื่อออกธุดงค์ จนมาถึงเขาสามยอด จ.ลพบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ อาศัยในถ้ำเป็นเวลา ๔๘ ปี โดยไม่ลงจากเขาเลย ต่อมาได้มีผู้คนที่รู้ข่าวพากันขึ้นไปกราบไหว้ท่าน มีทหารไปช่วยสร้างกุฏิ และสิ่งจำเป็นต่างๆ ขณะเดียวกันได้มีผู้ขออนุญาตสร้างพระเครื่อง เพื่อเป็นที่ระลึกยึดเหนี่ยวใจ ปรากฏว่าพระเครื่องของท่านมีประสบการณ์ทุกรุ่น จนเป็นที่กล่าวขานในวงกว้าง หลวงปู่ได้ละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ สิริรวมอายุ ๑๐๑ ปี 

 

คมเลนส์ส่องพระ : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 

 

          ** พบกับ คมเลนส์ส่องพระ ได้ใหม่ในวันเสาร์ต่อไป ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาตลอด นะมัสเต ***
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ