Lifestyle

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระราชินี ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานโขน ตอน "พิเภกสวามิภักดิ์" ส่งเสริมครอบครัวอบอุ่น

          เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 4 กันยายน ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดงานแถลงข่าวพร้อมตัวอย่างการแสดงโขน   ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ในโอกาสครบหนึ่งทศวรรษโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดง โขนสมบัติอันล้ำค่าของชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้อยู่สืบไป 

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

         ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ     ให้สืบสานและอนุรักษ์โขน ซึ่งถือเป็นสมบัติและเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ 7 ตอนด้วยกัน  ได้แก่    ชุด “ศึกพรหมาศ” ในปี 2550 และ 2552 , ชุด “นางลอย” ในปี 2553 , ชุด “ศึกมัยราพณ์”  ในปี 2554 ,  ชุด “จองถนน” ในปี 2555, ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” ในปี 2556, ชุด  “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ในปี 2557และ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ในปี 2558 จนประสบความสำเร็จและได้รับกระแสตอบรับให้มีการเพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดงในทุกปี ในปีนี้ทางมูลนิธิฯ จึงเลือกแสดง ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์”  ขึ้น อันเป็นการสื่อความหมายของความจงรักภักดี และการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต นำเสนอในการแสดงครั้งนี้

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

         “เดิมทีเมื่อปี 2546-47 ช่วงนั้นโขนไม่ค่อยแพร่หลาย ไม่ค่อยมีคนดู เพราะเห็นว่าไม่สนุก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำความกราบทูลฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ว่าโขนดูซบเซา จึงเป็นที่มาที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้  ในลักษณะหลายหน่วยงานมาร่วมมือกันไม่เฉพาะกรมศิลปากร อีกทั้งมูลนิธิเองก็มีช่างศิลป์หลายแขนง จึงเริ่มจากการแต่งหน้าโขนที่อยากให้ออกมาเป็นธรรมชาติของตัวละครแต่ละตัว แล้วมาดูเรื่องเครื่องแต่งกายให้มีความงดงามเช่นอดีต เพราะเดี๋ยวนี้หาช่างฝีมือด้านนี้น้อนลงทุกที จึงมีรับสั่งในเมื่อมูลนิธิมีช่างปัก ช่างทอ ช่างเขียน อยู่แล้วก็มาช่วยกัน เพราะการนำโขนมาเล่นในโรงละครต้องใช้แสง สี เสียงเหมือนการแสดงในต่างประเทศ จึงต้องทำฉากและเทคนิคต่างๆ ขึ้น ซึ่งได้ อ.สุดสาคร ชายเสม มาเป็นผู้ออกแบบฉาก แล้วมีนักเรียนศิลปาชีพจากจังหวัดต่างๆ ช่วยเป็นลูกมือ ถือเป็นการรื้อฟื้นศิลปะแขนงนี้ไว้ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงยกย่องคนไทยว่ามีสายเลือดการเป็นช่างอยู่มาก ทรงอยากให้ฝึกเด็กรุ่นใหม่ให้มาเล่นโขน ที่ผ่านมาเป็นที่พอพระราชหฤทัยอยู่มาก “ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว 

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

         ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เผยด้วยว่า การเลือกโขนแต่ละตอนมาจากการสำรวจความชื่นชอบและอยากชมของผู้คนทั่วไป ซึ่งตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” คนอยากรู้ว่าทำไมพิเภกอยู่ดีๆ จึงต้องไปสวามิภักดิ์กับพระราม เราจึงเลือกตอนนี้มาทำการแสดง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยว่าคนไทยวัยไหนสนใจโขนบ้าง ทรงอยากให้โขนอยู่ในความนิยม ซึ่งการชมโขนทำให้ได้เห็นสังคมไทยอบอุ่น เพราะมีการหอบลูกจูงหลานมาชมการแสดง ทรงปลื้มพระราชหฤทัยมากที่เห็นสถาบันครอบครัวอบอุ่น 

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแสดงครั้งนี้ ได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่เมื่อปี 2559 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอันยิ่งใหญ่ โดยคัดเลือกจากนักเรียน นักศึกษา ทั้งจากวิทยาลัยนาฏศิลป และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกันมาร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย ซึ่งจัดให้มีคัดเลือกนักแสดง จำนวน 5 ตัวละคร คือ โขนพระ มีผู้สมัคร 73 คน ละครพระ มีผู้สมัคร 198 คน ละครนาง มีผู้สมัคร 204 คน โขนยักษ์ มีผู้สมัคร 137 คน และ โขนลิง มีผู้สมัคร 160 คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัคร จำนวน 772 คน ซึ่งแต่ละประเภทตัวละครจะมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเพียง 5 คน รวมจำนวน 25 คน และสำหรับปีนี้ มีตัวละครโขนยักษ์ได้คะแนนเท่ากันในลำดับที่ 5 จึงมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกและรับทุนการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 26 คน จากผู้สมัครทั้งหมด จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนคนไทย รีบจองบัตร เพราะจัดแสดงเป็นระยะเวลา 1 เดือน ไม่อยากให้พลาดชมความครั้งยิ่งใหญ่ของการแสดงโขนครั้งนี้

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

         ด้าน อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2,รัชกาลที่ 6 และบทโขนของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดงมาประมวลในส่วนที่มีชั้นเชิงในการแสดงและความไพเราะของบทเพลงมาเรียงร้อยปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็นตอนต่างๆ ได้แก่ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ, ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา, ตอนที่ 3 เนรเทศ  และ องค์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก, ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์, ตอนที่ 3 มณโฑทูล  ตัดศึก, ตอนที่ 4 สนามรบ และ ตอนที่ 5 แก้หอกกบิลพัท โดยที่ผู้ชมจะได้ชมการแสดง ที่ยังคงความวิจิตรและกระบวนท่ารำตามแบบฉบับโขนหลวงไว้อีกด้วย

โขนศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

         ภายในงานแถลงข่าวยังได้รับเกียรติจากคณะกรรมการโขน อาทิ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากประกอบการแสดง, ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิต, ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิต, อาจารย์เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง ฯลฯ มาร่วมงานแถลงข่าว พร้อมร่วมชมการแสดงไฮไลต์ ชุด “ขับพิเภก”
         สำหรับ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กำหนดจัดแสดง ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน– 5 ธันวาคมนี้ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.0-2262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 420,620,820,1,020, 1,520 และ 1,820 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 220 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์)  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ