Lifestyle

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แสดงความคารวะผู้อาวุโส 36 คน จาก 18 อำเภอที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคม

          คนไทยเป็นชนชาติที่มีความสุนทรียะ ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสวยงาม แสดงให้เห็นถึงความละเมียดประณีตในจิตใจ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมเหล่านี้ ที่นับวันจะลบเลือนไปตามกาลเวลาและอยากอนุรักษ์ไว้ จึงเป็นที่มาของจัดงาน  “สระเกล้าดำหัว” ในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2561 เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการเคารพนบนอบผู้สูงอายุ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงบุตรี วิระไวทยะ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานจัดงาน พร้อมด้วย คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, นคร พงษ์น้อย กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) และ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และบุคคลสำคัญจากทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง)

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

เจ้าชูศรี สิโรรส-เจ้าพนอ ณ เชียงใหม่ วางตุงหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จย่า

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

          นคร พงษ์น้อย เผยว่า ด้วยพระปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ในการมุ่งพัฒนาโดยทรงไม่เลือกว่านั่นเป็นชาวเขานี่เป็นชาวเมือง แต่ที่ผ่านมามูลนิธิฯ มัวแต่ไปทำงานด้านการพัฒนา จึงหลงลืมไปว่าคนในเมืองก็ต้องการการพัฒนาและการดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้ มูลนิธิฯ ห่างหายจากกิจกรรมรดน้ำดำหัวไปนานกว่า 20 ปี ในวันนี้เมื่อตระหนักได้ว่า เราดำเนินงานตามรอยพระองค์ท่านจึงได้รื้อฟื้นประเพณีดังกล่าวนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยในงานนอกจากจะมีพิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปไม้โบราณอายุกว่า 100 ปีจำนวน 16 องค์ ผ่านรางพญานาค ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน และกิจกรรมกวีล้านนาร่ายกะโลงแสดงความคารวะผู้อาวุโสทั้งปวงจาก 18 อำเภอ จำนวน 36 คน ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่สังคมเชียงราย พร้อมมอบน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องคำนับแด่ผู้อาวุโสที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมเชียงรายตามประเพณีดังดั้งเดิมที่เชื่อว่า น้ำขมิ้นส้มป่อย เป็นสิ่งมงคลสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีต่างๆ ให้หมดไป โดยขบวนสาวสงกรานต์จะเป็นผู้อัญเชิญเครื่องคำนับสู่บริเวณพิธี

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

พระสงฆ์นำร่วมสรงน้ำตามแบบล้านนาโบราณ

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

นคร พงษ์น้อย รดน้ำดำหัว ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

          “พิธีวันนี้เกิดจากความต้องการของคนส่วนใหญ่ ที่เห็นว่าพิธีสงกรานต์ไม่ใช่การละเล่นสาดน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ประเด็นสำคัญคือการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณต่อเรา ซึ่งมิได้หมายความว่าเป็นปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ ข้าราชการบ้านเมือง ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล ต่างๆ ชาวเชียงรายจึงคิดว่าควรจะทำอะไรขึ้นมาสักทีให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้เป็นพิธีที่สวยงามมีระเบียบ พิธีในวันนี้อาจจะไม่สมบูรณ์นัก ด้วยว่าเว้นว่างมานานแล้ว ก็อยากใช้พื้นที่ไร่แม่ฟ้าหลวง เนื่องจากสมเด็จย่า พระราชทานให้ทำประโยชน์ต่อเรื่องศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา ดังนั้นอยากให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นที่ดีต่อบางสิ่งบางอย่าง แล้วศึกษาว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร เพื่อนำไปปรับปรุงในวันข้างหน้าดูแลแก้ไข ทำให้ดีขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไป ประเพณีการแสดงความคารวะต่อผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีเห็นเด่นชัดในชาติอื่น ชาติของเราควรหยิบประเพณีนี้ขึ้นมาทำให้โดดเด่น เป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่โบราณ” ผอ.อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง กล่าว

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

ท่านผู้หญิงบุตรี วิระไวทยะ นำคณะรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส 

        ทั้งนี้ นคร พงษ์น้อย กล่าวถึงจุดเด่นงานนี้ว่า คือการแสดงความคารวะต่อผู้ใหญ่ คำว่าสระเกล้าดำหัว คือการแสดงความคารวะ แสดงความกตัญญูรู้คุณ อันนี้คือจุดเด่นที่สุด ไม่ใช่การตกแต่งดอกไม้ ไม่ใช่พิธีรีตองต่างๆ อันนี้เป็นส่วนปลีกย่อย แต่ส่วนสำคัญคือต้องการให้เราปัจจุบันและเยาวชนรุ่นหลังรู้จักการมีความกตัญญูรู้คุณ อันนี้คือหัวใจสำคัญที่สุด เรื่องพิธีกรรมต่างๆ ถือเป็นส่วนย่อยอะไรสวยเราก็ทำแค่นั้น ส่วนขั้นตอนสำคัญนอกจากพิธีทางศาสนา เรายังมีพิธีที่เราจะถวายน้ำขมิ้นส้มป่อยแด่พระฉายาลักษณ์สมเด็จย่า เพราะถือว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้มีพระคุณต่อประชาชนชาวเชียงราย นอกจากนี้เรายังเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีคุณภาพและมีการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม นอกจากจะเป็นการคารวะแล้ว ยังเป็นกำลังใจแก่ผู้สูงอายุทั้งหลายว่า ถ้าดำเนินชีวิตดี คนทั่วไปก็จะเห็นคุณค่า

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

คุณหญิงพวงร้อย ดิสกุล ณ อยุธยา ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปไม้

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

กวีล้านนาร่ายกะโลงแสดงความคารวะผู้อาวุโส

ย้อนประเพณีล้านนาโบราณงาน "สระเกล้าดำหัว"

บรรยากาศในงานสระเกล้าดำหัว

          "สำหรับพิธีการ สรงน้ำพระพุทธรูปไม้โบราณผ่านรางพญานาค  ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อโบราณของชาวล้านนาว่า พระพุทธรูป คือ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่มีชีวิตไม่ใช่เป็นเพียงอิฐ ปูน หรือไม้ การสรงน้ำพระเป็นการแสดงความเคารพนพนอบ เป็นสิริมงคลต่อตัวเอง ซึ่งในครั้งนี้ได้นำ “พระพุทธรูปไม้ 16 องค์” ที่งดงามที่สุดของมูลนิธิฯ ออกมาจัดวางในองค์ประกอบให้สวยงาม มิได้เน้นว่าต้องมีความหมายใดๆ เพียงแค่ต้องการออกมาให้ประชาชนกราบไหว้บูชา ไม่ใช่จะเก็บไว้ในห้องเฉยๆ และเหตุที่ต้องใช้ “ราง” แทนการใช้ขันตักน้ำสาดไปที่องค์พระ เป็นการแสดงความเคารพสูงสุด โดยการเทน้ำผ่านรางน้ำให้ไหลไปสู่ขันน้ำเบื้องหน้าพระพุทธรูป ซึ่งในขันน้ำใบนั้นมีเชือกเป็นตัวเชื่อมนำน้ำไปสู่พระพุทธรูปอีกชั้นหนึ่ง ส่วนที่ต้องเป็น “พญานาค” ตรงนี้่น่าจะมีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนามาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังนั้น “พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปผ่านรางพญานาค” จึงเป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่โบราณอย่างแท้จริง สุดท้าย “น้ำส้มป่อย” เพราะคุณลักษณะชำระล้างความสิ่งสกปรกได้ เหมือนชำระความสกปรกในใจมนุษย์ให้สะอาด เมื่อส้มป่อยอยู่ในน้ำ น้ำนั้นจึงมีความสะอาดพอที่จะใช้ในพิธีสรงน้ำพระนั่นเอง" อ.นครเล่าถึงพิธีสรงน้ำพระที่มีมาแต่โบราณ พร้อมกับย้ำว่า ประเพณีรดน้ำดำหัว ต้องปฏิบัติกันหลังจากวันสงกรานต์ โดยสามารถจัดวันไหนก็ได้จนไปถึงสิ้นเดือน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ