Lifestyle

ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สกว. วางแนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานล้ำค่าของชาติที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี

 

     แนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานล้ำค่าของชาติจะอาศัยเพียงการบูรณปฏิสังขรณ์เชิงศิลปกรรมอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะโครงสร้างที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยปีอีกทั้งปัจจัยแวดล้อมต่างๆ หากละเลยการสำรวจตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอย่อมนำมาซึ่งความเสียหายโดยภาพรวม เพื่อการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและให้เกิดการความร่วมมือแบบบูรณาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” โดยมีคณะวิจัยมาจากส่วนหนึ่งของชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. และผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรร่วมให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลในการทำวิจัย พร้อมกันนี้ได้จัดสื่อมวลชนสัญจร “ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว.” ที่พระนครศรีอยุธยาเมืองมรดกโลก เมื่อเร็วๆ นี้

ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว. การสำรวจธรณีฟิสิกส์ฯ

       เบื้องต้นคณะวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สำรวจโบราณสถานและสามารถสรุปได้ว่าสาเหตุของความเสียหายเกิดจากคุณภาพของวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง อายุของโครงสร้าง ขาดการบำรุงรักษา และการเสื่อมสภาพ รวมถึงสภาพทางภูมิประเทศและสภาพของดิน ส่วนโบราณสถานที่ยังมั่นคงอยู่นั้นเกิดจากการบำรุงรักษาหรือดำเนินการป้องกันไว้ก่อนหน้า ขณะที่อุปสรรคในการฟื้นฟูโบราณสถาน ได้แก่ ขาดแคลนบุคลากร ขาดการเก็บข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม/วิศวกรรม รวมถึงงบประมาณและเทคโนโลยี

       องค์ความรู้สมัยใหม่มีประโยชน์ต่อการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานอย่างมาก อย่างอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กรมศิลปากรไม่มี ซึ่งการซ่อมแซมโบราณสถานนั้นมีงานวิจัยเพิ่มในเรื่องชั้นดิน ความชื้น เน้นเรื่องที่น่าสนใจ และต้องทำต่อเนื่อง   

ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว. ผศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล-รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์

       ระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา คณะวิจัยได้ลงพื้นที่ทำงานอย่างแข็งขัน รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ​และ ผศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล ​ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลเชิงวิศวกรรมของวัสดุและสภาพโบราณสถานว่า คณะทำงานได้ทำการเก็บข้อมูลคุณสมบัติวัสดุสภาพปัจจุบัน ส่วนวัสดุทดสอบอย่างอัฐกับปูนก่อโบราณ การรับน้ำหนัก การเกิดกรด เกลือ มีการเก็บข้อมูลจากหลายๆ วัดว่าแต่ละที่ใช้วัสดุอะไรบ้าง โดยใช้เลเซอร์สแกนสภาพปัจจุบันไว้เพื่อติดตามสภาพในอนาคต ทั้งหมดนี้รวบรวมไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ 

ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว.

รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม

       ด้าน รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม  หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการใช้ความรู้ตามหลักวิศวกรรมมาใช้อนุรักษ์โบราณสถานได้วางแนวทางการทำงานไว้ 4 ด้าน เริ่มจากโครงการเก็บรูปทรงโบราณสถานเพื่อจะได้ทราบว่ามีการทรุดตัวอย่างไร รวมถึงคุณสมบัติวัสดุ อีกทั้งการทดสอบโดยการไม่ทำลาย โครงการถัดมาคือการศึกษาในเรื่องของการทำให้เทคนิคในการสร้างแบบจำลองมีความง่าย ด้วยการถ่ายภาพแล้วขึ้นภาพเป็นแบบจำลองสามมิติ แล้วนำสิ่งนี้ไปสร้างแบบจำลองสำหรับการวิเคราะห์โครงสร้าง จากนั้นข้อมูลที่ได้จากสองโครงการนี้จะนำไปสู่โครงการที่สามคือการประเมินว่าแรงที่กระทำกับโบราณสถานนั้นทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรแล้วหาทางซ่อมแซม และโครงการสุดท้ายเป็นเรื่องของการใช้เทคนิคการสำรวจใต้ดิน โดยใช้เครื่องมือทางด้านจีโอฟิสิกส์สำรวจดูว่าใต้ดินนั้นมีวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างหรือไม่

       “ผลที่ได้จากการศึกษา เราได้ประยุกต์เข้ากับสถานที่หลายๆ แห่ง เช่น วัดใหญ่ชัยมงคล วัดไชยวัฒนาราม วัดอรุณราชวรารามฯ เป็นต้น ได้ข้อมูลรูปทรงอาคารไว้ทั้งหมดจนทราบว่าเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลเอียงไปแล้ว 15 องศา เอียงไปทางไหน แล้วข้อมูลนี้ก็จะช่วยในการตัดสินใจว่าอีก 5 ปีข้างหน้าเจดีย์จะเอียงมากขึ้นมั้ย ถ้าเอียงจะทำอย่างไรต่อ เรามีแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างว่าขณะนี้โครงสร้างปลอดถภัยมั่นคง สมมุติเอียงอีก 1 องศาจะเกิดอะไรขึ้น ก็มีแบบจำลองช่วยในการตัดสินใจ รวมทั้งข้อมูลของวัสดุสมัยนั้นใช้อิฐและปูนก่อประเภทไหน มีองค์ประกอบทางเคมีอะไรบ้าง ถ้าจะบูรณะโดยใช้องค์ประกอบแบบโบราณจะทำอย่างไร” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว 

ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว. การทดสอบอิฐโบราณ

       ทั้งหมดนี้เป็นการหยิบตัวอย่างการศึกษามาใช้ โดยพยายามพัฒนาเป็นกระบวนการที่ทางกรมศิลปากรสามารถเข้าใจหลักสากลหรือทางวิศวกรรมที่จะช่วยในทำงานในอนาคต อย่างการประยุกต์ใช้การสำรวจธรณีฟิสิกส์ คณะทำงานของ ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ จาก ม.เกษตรศาสตร์ ได้ลากเครื่องมือไปในหลายๆ ส่วนของวัดไชยวัฒนาราม พบความไม่ปกติของโครงสร้างใต้ดินอยู่บ้าง ซึ่งอาจจะมีแนวกำแพง หรือร่องบางอย่างซ่อนอยู่ ส่วนนี้จะมีการให้ข้อมูลแก่กรมศิลปากรเพื่อการขุดสำรวจต่อไป 

       ประเด็นสำคัญของการวิจัย คือการเก็บข้อมูลเบื้องต้นว่ารูปทรงโบราณสถานมีรอบแตกร้าว หรือเกิดการเอียงเพิ่มหรือไม่ ซึ่งอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญคือการใช้โดรนบินโดยรอบเพื่อสร้างแบบจำลองสามิติ ในอนาคตอีก 2-3 ปี เมื่อมีการบินสำรวจอีกครั้งสภาพจะเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเริ่มสำรวจตอนนี้ก็ยังไม่สาย อย่างน้อยการทำงานที่ผ่านมาถือว่าได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก

ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว. การประเมินโครงสร้าง

       “ผมคิดเสมอว่างานวิจัยถ้ายึดติดอยู่กับนักวิจัยมักจะไม่ยั่งยืน จึงพยายามทำให้สิ่งที่เราวิจัยได้ส่งต่อไปยังผู้ที่จะเอาไปใช้ได้ เราจะเกาะติดกรมศิลป์ไม่ห่าง มีการสอบถามอยู่เรื่อยๆ ว่ามีปัญหาที่โบราณสถานไหนบ้าง มีโจทย์ที่วัดไหนเราจะไปที่วัดนั้น มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด อยากได้เทคนิคอะไรมาสำรวจหรือบูรณะ บางเรื่องเป็นงานวิจัยผู้ปฏิบัติอาจจะทำไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้ผู้ปฏิบัติทำได้ อย่างงานของ ดร.กฤษฎา ไชยสาร ที่ขึ้นโดรนสำรวจ เราอยากให้กดปุ่มสองปุ่มแล้วขึ้นรูปเป็นสามมิติเลย จะได้ไม่ยุ่งยาก แล้วส่งมอบให้กรมศิลป์ต่อไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ใช่ติดอยู่ที่เรา”  รศ.ดร.นคร กล่าวทิ้งท้าย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ