Lifestyle

แลวิถีอนุรักษ์ผ้าใต้ชายคา'แน่นหนา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลปวัฒนธรรม : แลวิถีอนุรักษ์ผ้า ใต้ชายคา 'แน่นหนา'

 

                         ศรัทธาและความรักในศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน ปลุกให้สุภาพสตรีจากเมืองผู้ดีอังกฤษนาม แพทริเซีย ชีสแมน เดินทางค้นหาความงดงามตามวิถีผ้าของชาวเอเชีย จนวันนี้ใต้ชายคาบ้านไม้เก่าขนาดย่อมอายุกว่า 100 ปี ภายในซอยช้างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกปรับให้เป็นแกลเลอรีสะสมผ้าทอมือคอลเลกชั่นส่วนตัว อีกทั้งเป็นสถานที่ถ่ายทอดแรงบันดาลใจผ่านผืนผ้าหลากสีหลายลวดลาย โดยเฉพาะเทคนิคการมัดย้อม หรือ "มัดหมี่" ที่แต่ละผืนได้รับการถักทออย่างตั้งใจภายในแหล่งเรียนรู้ที่เธอให้ชื่อว่า "สตูดิโอแน่นหนา"

                         จุดเริ่มต้นของสตูดิโอแน่นหนา เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดยแพทริเซีย หรือที่รู้จักคุ้นเคยของคนในพื้นที่ว่า "อ.แพทริเซีย" ศิลปินและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า ได้เกิดแรงบันดาลใจที่จะชุบชีวิตศิลปะแห่งการทอผ้าด้วยการผสานเทคนิคต่างๆ ในการทอ โดยสนับสนุนช่างทอที่มีฝีมือและฝึกฝนช่างทอรุ่นใหม่ๆ ให้สืบทอดวัฒนธรรมอันเก่าแก่และงดงามนี้ ปัจจุบัน "โมนา" ลาโมนา ชีสแมน ผู้เป็นลูกสาวเป็นผู้สืบทอดกิจการสตูดิโอแน่นหนาทั้งหมด รวมทั้งเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าต่างๆ

                         แพทริเซีย กับอีกบทบาทหนึ่งคืออาจารย์ประจำภาควิชาผ้าไทย แผนกศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายผ้าที่เธอสนใจว่า เป็นชาวอังกฤษแต่มาเกิดที่สิงคโปร์ แล้วเติบโตที่อินโดนีเซีย เนื่องจากคุณพ่อเป็นนายธนาคารที่ต้องย้ายที่ประจำการบ่อยๆ ส่วนสามีเป็นศิลปินไฟน์อาร์ต ทั้งตัวเองและสามีเป็นนักเดินทาง เมื่อปี ค.ศ.1971 ได้เดินทางไปยัง สปป.ลาว จากความหลงรักที่นี่จึงคิดสร้างครอบครัว แล้วทำงานให้กับองค์การสหประชาชาติที่ลาวเพื่อพัฒนาเซรามิกของคนลาวให้สามารถส่งออกได้

                         "8 ปีหลังจากนั้นลาวเกิดการปฏิวัติการเมือง สถานทูตต่างๆ ประกาศให้ผู้คนอพยบออกนอกพื้นที่ แต่ฉันดื้อไม่ยอมหนีไปไหน ช่วงนั้นคนอพยบไปรวมกันที่นครหลวงเวียงจันทน์หมด คนลาวไม่มีงานทำ เกิดความอดอยาก หลายคนจึงนำผ้าที่สะสมไว้ออกมาขาย ฉันสนใจศิลปะอยู่แล้วจึงรับซื้อไว้และเริ่มเกี่ยวศึกษาผ้าลาวอย่างจริงจัง จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย แล้วย้ายมาอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ปี 1987 จนได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาเครื่องปั้นดินเผา และเกี่ยวกับผ้าไทยนับแต่นั้นมา ฉันว่าไม่แปลกนะที่คนต่างชาติจะสอนศิลปะไทย เพราะที่ผ่านมามีคนไทยสอนศิลปะฝรั่งมากมาย เป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง" สุภาพสตรีวัยใกล้ปลดเกษียณ เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

                         กว่า 30 ปีมาแล้วที่สตูดิโอแน่นหนาต้อนรับแขกเหรื่อผู้สนใจใครรู้เรื่องผ้าทอมือ นอกจากแกลเลอรีอนุรักษ์ผ้าโบราณจัดแสดงคอลเลกชั่นสะสมของเจ้าของบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผ้าทอมือจากลาวใต้ ไทย และประเทศในละแวกอาเซียน อาทิ ผ้าซิ่นเมืองน่าน ผ้าซิ่นลับแล อุตรดิตถ์ ผ้าโจงที่ใช้เส้นยืนพิเศษแล้วสลับดอกเล็กๆ ทอยากมากเพราะต้องทอพร้อมกันสองด้าน ผ้าเส้นยืนพิเศษจากลาวที่ทั้งใช้เทคนิคการจกและมัดหมี่ รวมถึงผ้าผืนแรกที่เริ่มสะสมได้มาจากอินโดนีเซียอายุกว่า 40 ปีแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นการตั้งสมาคมนักทอผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำงานกับชุมชนทอผ้าและช่วยเหลือสมาชิก ซึ่ง "โมนา" บอกเล่าด้วยภาษาไทยอย่างชัดเจนว่า ที่นี่เน้นมัดหมี่ ซึ่งเป็นเทคนิคแพร่ทั้งไทย ลาว อินโดนีเซีย เขมร และพม่า ขึ้นอยู่กับกลุ่มชนจะกำหนดกฏเกณฑ์ในการใช้ผ้าเพราะผ้าบ่งบอกอารยธรรมของกลุ่มนั้นๆ โดยคุณแม่ (แพทริเซีย) ศึกษาผ้าเก่าและเรียนรู้จากชาวบ้านมานาน จนเกิดการเกื้อกูลกันในการทำงาน

                         "เราทำงานเชื่อมโยงกับชาวบ้าน โดยยังคงเทคนิคโบราณตั้งแต่การมัด ย้อม และทอ แต่หนึ่งคนไม่ได้ทำทุกขั้นตอน มีคนมัดหมี่ แกะหมี่ ย้อมสี คนทอ ทำงานกันเป็นทีมใช้เวลาแรมเดือนกว่าจะได้ผ้าผืนงามหนึ่งผืน ขณะเดียวกัน อ.แพทริเซีย ก็มีการพัฒนาและออกแบบลวดลายผ้าเอง และเมื่อมีการทำเป็นธุรกิจมากขึ้น การใช้ไหมอย่างเดียวคงลำบาก จึงปรับมาใช้ฝ้ายบ้าง ส่วนสีย้อมก็ยังคงเน้นสีที่ได้จากธรรมชาติ อย่างใบมะฮ่อมให้สีน้ำเงิน, สีแดงจากไม้ฟาง,สีเหลืองจากไม้ขนุนและสมอ แต่ถ้าอยากได้สีสดๆ ก็อาจจะใช้สารเคมีมาช่วย ขณะเดียวกันก็พยายามดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการควบคุมการใช้สีเคมี ที่นี่จึงมีบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบ" ทายาทนักอนุรักษ์ผ้าทอมือ อธิบายแนวทางการทำงานพร้อมกับเน้นย้ำว่าผู้เป็นแม่ได้ถ่ายทอดแรงบันดาลใจและเธอจะสานต่อให้ดีที่สุด

                         ทุกวันนี้สตูดิโอแน่นหนาเปิดต้อนรับผู้มาเยือนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ อีกทั้งได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องผ้าสำหรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยผู้เป็นเจ้าของบ้านยอมรับว่าหลังจากเดินทางมาแล้วเกือบทั่วโลก เมืองไทยคือบ้านหลังสุดท้ายที่จะปักหลักพร้อมอยู่กับอาณาจักรผ้าที่รักเป็นแห่งสุดท้าย...

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ