ข่าว

การถวายสัตย์ปฏิญาณ กับการล้มรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3496 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.2562 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

การถวายสัตย์ปฏิญาณ

กับการล้มรัฐบาล

 

                  การเมืองวันนี้ แม้พรรคพลังประชารัฐจะสามารถเป็นแกนนำรวบรวมเสียงสนับสนุน ส.ส.และ ส.ว. โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศแล้ว แต่พรรคการเมือง 7 พรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล แทนที่จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน เคารพเสียงข้างมาก ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารของรัฐบาล ตามหน้าที่ฝ่ายค้านที่ดี แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ฝ่ายค้านชุดนี้กับทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายแค้น” โดยมุ่งคิดแต่จะหาทางล้มรัฐบาลชุดนี้ให้ได้ทุกวิถีทาง ทนไม่ได้แม้แต่วันเดียวที่ต้องเป็นฝ่ายค้าน ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งเริ่มต้นทำงาน

                  ประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำกล่าวข้อความโดยไม่ครบถ้วนขาดข้อความบางส่วนนั้น ฝ่ายแค้นก็กระโดดงับเอาประเด็นนี้ไปเล่นเป็นการเมือง นอกจากอภิปรายในสภาแล้ว ถึงวันนี้ยังโหมกระพือขยายประเด็นไม่เลิก มั่นใจว่าเรื่องนี้จะน็อกนายกรัฐมนตรี ล้มรัฐบาลประยุทธ์ให้ได้

                  พลพรรคฝ่ายแค้นต่างดาหน้าออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ ไล่เลียงตั้งแต่ นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ขยายความเรื่องนี้ไปว่า “การกล่าวคำปฏิญาณที่ขาดสาระสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้รัฐบาลเป็นโมฆะ” ไปโน่นเลย ไม่รู้เอามาจากรัฐธรรมนูญมาตราใด

                  ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ไปอ้างเอาข้อเขียนของ อ.วิษณุ เครืองาม มาอ้างสนับสนุนว่าการกระทำของนายกรัฐมนตรีขัดรัฐธรรมนูญ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียะเวส ก็ออกมาผสมโรงกดดันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ ซึ่งก็คงอยากให้ลาออกพ้นตำแหน่งไป ขบวนแถวฝ่ายแค้นคนอื่นๆ ล้วนมุ่งหมายไล่บี้อยากให้นายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่ง ต้องการล้ม ครม.ทั้งคณะทั้งสิ้น

                  ปัญหาเรื่องนี้ ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มีผลทำให้นายกรัฐมนตรีกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่? ครม.ต้องพ้นไปทั้งคณะและความเป็นรัฐบาลนี้ ไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะหรือไม่ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดอย่างไร กลไกทางกฎหมายและกระบวนการตรวจสอบใด จะเป็นผู้ทำให้เรื่องนี้ยุติด้วยความเป็นธรรม เป็นประเด็นที่สังคมควรใช้สติพิจารณา เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองไปตามกระแสของฝ่ายแค้นๆ ที่กำลังพยายามปั่นอยู่ในขณะนี้

                  ประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ได้บัญญัติไว้เพียงว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

                  การที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี กล่าวปฎิญาณโดยไม่ครบถ้วนทุกถ้อยคำคือขาดข้อความ“ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” นั้น จะมีผลทำให้เป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีผลให้รัฐบาลเป็นโมฆะหรือไม่ เรื่องนี้ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ในมาตราใดเลย ทั้งไม่เคยมีประเพณีการปกครองว่าต้องจัดการอย่างไรและมีความผิดประการใดหรือไม่?

                  การวินิจฉัยของนายชัยเกษม อดีตอัยการสูงสุดก็ดี หรือความเห็นของนายปิยบุตรก็ดี จึงไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ ไม่อาจเชื่อถือและรับฟังได้ และหากพิจารณาความในวรรคสอง ของมาตรา 161 แม้คณะรัฐมนตรียังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ คณะรัฐมนตรียังสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนได้ โดยบัญญัติให้ ครม.ที่มีอยู่ก่อนพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ครม.ชุดใหม่

                  การถวายสัตย์ปฏิญาณที่มีข้อความตกหล่นบางประการนั้น รัฐธรรมนูญมิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรง แตกต่างจากกรณีการกระทำผิดหรือขัดรัฐธรรมนูญด้วยเหตุอื่นๆ เช่น การขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนด หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต

                  นอกจากนี้ ในส่วนของข้อความที่ขาดหายไปนั้น แม้รัฐมนตรีมิได้กล่าวในการถวายสัตย์ปฏิญาณ ก็มิอาจทำให้ ครม. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิยึดถือและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจแต่อย่างใด รัฐธรรมนูญ มาตรา 164 ยังได้บัญญัติไว้ว่า “ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังที่บัญญัติไว้

                  ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 แล้วจะเห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นเพียงการกำหนดแบบพิธีกรรม เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง คณะรัฐมนตรี กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น บนหลักการที่ยึดถือว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นหลักพึ่งพิงที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย เป็นที่สร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชนแก่รัฐบาลทุกคณะ อันเนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยทั้งมวลนั่นเอง

                  การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี เป็นการกล่าวต่อเบื้องพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีได้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณเสร็จสิ้น และพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัส ดังปรากฎตามภาพข่าวแล้วนั้น ก็ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินการถวายสัตย์ปฏิญาณที่มีผลเสร็จสมบูรณ์แล้วตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมิได้กล่าวข้อความโดยครบถ้วนทุกถ้อยคำก็ตาม ย่อมต้องถือว่า ครม.ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการให้ ครม.กล่าวถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์แล้ว

                  การตกหล่นไปบางข้อความนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดต่อรัฐธรรมนูญหรือทำให้ความเป็นรัฐบาลกลายเป็นโมฆะ หรือมิชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใดไม่ และเมื่อเป็นการกระทำต่อเบื้องพระพักตร์พระมหากษัตริย์ จึงย่อมต้องถือว่าเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้วหรือไม่ มิควรที่บุคคลใดจะก้าวล่วงไปวินิจฉัยเสียเอง อันมิใช่อำนาจหน้าที่ของตนตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นเป็นความผิดและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของ ส.ส., ส.ว. หรือผู้มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินหรือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

                  การกล่าวข้อความโดยไม่ครบถ้วนทุกถ้อยคำ คงเป็นเพียงความบกพร่องของผู้กล่าวเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดโดยประหม่า พลั้งเผลอ หรือโดยเหตุใดๆ ที่มิได้มีเจตนา เมื่อมีการยอมรับคำถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น
จากพระมหากษัตริย์แล้ว ประกอบกับไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เป็นความผิด การกระทำนั้นจึงไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

                  กรณีดังกล่าว อาจเทียบเคียงได้กับการกล่าวคำสาบานตนของบุคคลที่จะมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตนหรือกล่าวคำปฏิญาณว่า จะให้การต่อศาลตามสัตย์จริงเสียก่อน ซึ่งแม้ศาลจะเขียนข้อความให้พยานกล่าวตาม แต่พยานอาจมิได้กล่าวข้อความโดยครบถ้วนทุกถ้อยคำ เพียงได้ความว่าจะให้การต่อศาลโดยสัตย์จริง ก็ถือว่าคำให้การของพยานรับฟังได้ตามกฎหมาย เว้นแต่พยานนั้นมิได้กล่าวคำสาบานเท่านั้น จึงมิอาจรับฟังคำให้การพยานปากนั้นได้ เทียบเคียงได้กับฎีกาที่ 7988/2551

                  ดังนั้น การถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี กรณีนี้จึงถือว่าสมบูรณ์จบสิ้นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงไม่จำต้องกระทำการใดต่อไปอีกตามที่ฝ่ายแค้นเรียกร้อง เดินหน้าบริหารประเทศให้เกิดความสงบสุขแก่ประชาชนต่อไป ปล่อยฝ่ายแค้นดิ้นรนไปตามกรรมเถอะครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ