ข่าว

กลเกมดิวตี้ฟรี ยุทธวิธีดูแล 'คิงเพาเวอร์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ค.2562 โดย...พรานบุญ

กลเกมดิวตี้ฟรี

ยุทธวิธีดูแล

‘คิงเพาเวอร์’

 

            แม้การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบิน ซึ่งถือเป็นเค้กก้อนโตที่กลุ่มคิงเพาเวอร์คว้าชัยไปได้ด้วยการจ่ายค่าสัมปทาน ก้อนมหึมาขั้นตํ่าตกปีละ 15,419 ล้านบาท จากเดิมแค่ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563-31 มีนาคม 2574 จะจบลงไปแล้ว

            แต่ในทางการดำเนินการเรื่องของการดูแลรายละเอียดของสัมปทานดิวตี้ฟรีของ คณะกรรมการและผู้บริหารบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่มี “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการ ยังไม่จบ ต้องดูแลธุรกิจมูลค่าการซื้อขายกันปีละ 1.95 แสนล้านบาท ให้เดินหน้าไปอย่าง Smooth ที่สุด

            พรานฯแอบได้ยินกรรมการ AOT เขาพูดกันว่าประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้มีเดิมพันถึงอนาคตกันหลายเรื่องทีเดียวพ่อคุณเอร้ย... เพราะผลตอบแทนที่กลุ่มตระกูลศรีวัฒนประภา เจ้าของคิงเพาเวอร์ยอมจ่ายรอบนี้แพงหูฉี่ ชนิดที่บอร์ดและฝ่ายบริหารแทบตกเก้าอี้

            ถ้าเทียบกับ 10 ปีก่อน ค่าสัมปทานที่สนามบินสุวรรณภูมิและภูมิภาค AOT ได้มาแค่ 30,760 ล้านบาท หรือแค่ 15.8% ของยอดขายสินค้าปลอดอากรทั้งหมด 1.95 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละ 3,076 ล้านบาทเท่านั้น

            เพิ่งจะปี 2559-2561 ที่มีรายได้ค่าสัมปทานดิวตี้ฟรี 4,965-5,000 ล้านบาท แต่ค่าสัมปทานรายปีนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ผู้ชนะประมูลต้องจ่ายขั้นตํ่าสูงลิ่วปีละ 17,750 ล้านบาท สูงกว่าเดิมร่วม 6 เท่าตัว

            แสดงว่ายอดขายดิวตี้ฟรี จำนวนนักท่องเที่ยว ต้องมากพอ ถ้าธุรกิจนี้ขยายตัวไม่ถึง 50% กลุ่มคิงเพาเวอร์ สลบแน่...

            ถ้าคิงเพาเวอร์ ที่มี อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เป็นหัวเรือใหญ่สลบ “ท่าอากาศยานไทย” ก็คางเหลืองเหมือนกัน...555

            เพราะเดิมกลุ่มคิงเพาเวอร์มียอดขาย 8.4 หมื่นล้านบาท หักค่าสัมปทาน ค่าดำเนินการ ค่าประชาสัมพันธ์ แล้วมีกำไรปีละ 2,000-2,500 ล้านบาท

            แต่ถ้าจ่ายสัมปทานปีละ 17,750 ล้านบาท แสดงว่ายอดขายดิวตี้ฟรีทั้งหมดต้องเพิ่มขึ้นเท่าตัว

            แต่ยอดขายดิวตี้ฟรีนั้นปัจจุบันมาจาก 2 ทางเท่านั้น!

            ทางแรกคือ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยปีละ 38-40 ล้านคน มาใช้จ่ายอยู่ 2 ล้านล้านบาท ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ซื้อของในดิวตี้ฟรีเมืองไทยก่อนขนกลับบ้าน

            พรานฯ แม้เป็นนักท่องไพร แต่มีรสนิยมอันวิไลย์ในทางตัวเลข หยิบมือถือมากดตัวเลขดู ถ้า 38 ล้านคน ซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีคนละ 1,000 บาท เท่ากับยอดการซื้อตก 38,000 ล้านบาท ถ้า 38 ล้านคน ซื้อของดิวตี้ฟรีคนละ 2,000 บาท เท่ากับมียอดขาย 76,000 ล้านบาท อัยหยา....

            ถ้าใช้จ่ายกันทุกคน คนละ 3,000 บาท... ยอดขายดิวตี้ฟรีจะตก 1.14 แสนล้านบาท...เหนื่อยจริงๆ

            บอร์ด AOT บอกกับพรานฯไพรมาว่า นักท่องเที่ยวที่ซื้อของในดิวตี้ฟรีนั้น ซื้อกันเกิน 5,000 บาทอยู่แล้ว เพราะของที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อสินค้า พระเอกเป็น สุรา ไวน์ ยาสูบ เครื่องสำอาง นาฬิกากว่า 70-80% ที่เหลือเป็นเสื้อผ้า ครีม ฯลฯ ราคามักเกิน 5,000 บาทอยู่แล้ว แต่การจะให้ทุกคนมาซื้อนั้นยากเย็นแสนเข็ญมากๆ

            ทางที่ 2 คือ มีรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศปีละ 10.9-11.2 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 30,000 บาทต่อทริป มูลค่าการใช้จ่ายปีละกว่า 3.3 แสนล้านบาท ต้องทำให้คนเหล่านี้ซื้อของดิวตี้ฟรีในประเทศด้วย...อันนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

            แต่แว่วว่าบอร์ดต้องคิดและต้องหาทางช่วยคิงเพาเวอร์ด้วย...มิเช่นนั้นตายหมู่...

            พรานฯซอกแซกถามว่าทำอย่างไรละ...เพราะดิวตี้ฟรีในเมือง เขตปลอดอากรในเมืองก็พร้อมเปิดกันพึ่บพั่บ

            อะแฮ่ม..เขาห้ามบอก แต่พรานฯ ขอเขียนก็แล้วกันนะขอรับ

            ทางแรกคือ ดึงเช็ง...ดึงเกม การอนุมัติเขตปลอดอากรในเมือง มิให้กระจายตัวออกไปกว้างกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน...จุ๊ๆ รู้แล้วอย่าเอ็ดไป

            อันนี้ตามกฎหมายแล้วอยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรที่จะเป็นผู้อนุมัติให้มีการจัดตั้งเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนและร้านปลอดอากร ตามพ.ร.บ.ศุลกากร

            ทางที่ 2 คือ จัดการเรื่องจุดรับส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบินให้ได้ ถ้าเปิดประมูลเสรีเมื่อใด...อ.ต.ร.มั่กๆ

            เพราะการออกของง่ายขึ้น ซื้อในเมืองมาออกของในสนามบินโดยใครก็ไม่รู้ ผู้ที่จะสลบก่อนคือ คิงเพาเวอร์ ที่ยอมจ่ายแพง แต่คนที่เปิดขายของปลอดอากรในเมือง เอาต์เลต ที่ไม่มีค่าสัมปทานรายปี ขนของออกได้สะดวกโยธิน ...ทำแบบนี้ก็เจ๊งสิขรั่บ

            ว่าแล้วอย่าเอ็ดไป แผนเดิมที่จะมีการประมูลจุดรับส่งสินค้าปลอดอากร “ปิกอัพ เคาน์เตอร์” ในสนามบินเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ช็อปในเมืองมารับของที่สนามบินก่อนเดินทางออกนอกประเทศในปลายปี 2562-2563 ของบริษัท AOT จึงถูกปรับใหม่...

            ยืด...ยื้อออกไป ไม่ก็ให้บริษัท AOT นี่แหละทำเอง...แล้วค่อยเรียกเก็บเงินจากเอกชนที่มาใช้บริการ...555

            ส่วนพื้นที่จุดรับส่งสินค้าในสนามบินสุวรรณภูมิ และที่ดอนเมือง ในปัจจุบันนั้น ไม่ต้องมีใครมาแตะ เพราะจุดรับมอบส่งสินค้าที่มีอยู่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนผู้ได้สัมปทานร้านปลอดภาษีในสนามบินไปโดยปริยายอยู่แล้ว

          แค่นี้...แหละ...เอาอยู่!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ