ข่าว

สังคมไทยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฉบับ 3488 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค.2562 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

สังคมไทย

กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

 

            ในช่วงเวลาวันหยุดพักผ่อนยาวๆ คุยกันเรื่องเบาๆ แต่ก็ได้สาระดีกว่าผมกำลังอ่านหนังสือ “ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 Shaping the Fourth Industrial Revolution” เขียนโดย ศ.เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum ร่วมกับ นิโคลัส เดวิส แปลโดยคุณศรรวริศา เมฆไพบูลย์ ของสำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู กรุงเทพ มหานคร อยู่พอดีครับ บังเอิญระหว่างนี้ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ เชิญชวนคนไทยให้รีบหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย เพื่อรับมือและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

 

สังคมไทยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

 

            จากข้อแนะนำและเชิญชวนคนไทยให้อ่านหนังสือของท่านนายกฯเช่นนี้ ก็พอทำให้ทราบว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจใฝ่ศึกษาและเรียนรู้ในการพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลกอยู่เสมอ ประสบการณ์ 5 ปี ในตำแหน่งผู้นำประเทศ ได้ทำ ให้ท่านนายกฯ เรียนรู้สั่งสมประสบ การณ์มากมาย ในการบริหารประเทศ ทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลสำคัญในระดับโลก ในเวทีประชุมและการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันเป็นการเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแก่ท่าน ในการที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปทันกับโลกของการเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่โลกก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ผมสนับสนุนเต็มที่ครับในเรื่องนี้ และเห็นด้วยที่คนไทยควรอ่านตามที่ท่านนายกฯแนะนำ

            กว่า 250 ปีที่ผ่านมา การปฏิวัติอุตสาหกรรม 3 ครั้ง ได้พลิกวิธีที่มนุษย์สร้างคุณค่าและได้เปลี่ยนแปลงโลก ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้งเทคโนโลยี ระบบการเมือง และสถาบันทางสังคม ล้วนมีวิวัฒนาการร่วมกัน การเปลี่ยน แปลงจึงไม่ได้เกิดแค่ในภาคอุตสาห กรรมเท่านั้น วิธีการมองตนเอง การเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ และการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงด้วย

            การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เริ่มในอุตสาหกรรมสิ่งทอของอังกฤษเมื่อกลางศตวรรษที่ 18 โดยมีเครื่องจักรที่ใช้ปั่นด้ายและทอผ้าเป็นตัวจุดประกาย จากนั้นจึงเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ตั้งแต่เครื่องมือกล การผลิตเหล็กกล้า เครื่องจักรไอนํ้า และรางรถไฟ

            เมื่อเกิดคลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีที่มีความเชื่อมโยงเข้ามา คือวิทยุ โทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้เกิดรถยนต์ เครื่องบิน ระบบนิเวศน์ โครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทาง การคิดค้นด้านเคมี ทำให้โลกมีวัสดุใหม่ๆ เช่น พลาสติกเทอร์มอเซต และในภาคเกษตรเกิด “การปฏิวัติเขียว” ไปจนถึงการเดินทางอากาศระหว่างประเทศ ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2  ที่ผลักดันโลกให้ก้าวหน้าสู่โลกทันสมัย

            ส่วนการคิดค้นเปลี่ยนแปลงโลกหลายประการด้านทฤษฎีสารสนเทศและการประมวลผลดิจิทัล ทำให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นแกนหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งการปฏิวัติครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการมีเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังเกิดวิธีการต่างๆ ที่เทคโนโลยีเหล่านั้น เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของเราด้วย ความสามารถในการเก็บ การประมวลผล และการส่งข้อมูลที่อยู่ในรูปดิจิทัล ได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมไปเกือบทุกวงการ และพลิกชีวิตการทำงานและชีวิตทางสังคมของผู้คนหลายล้านคนด้วย ผลกระทบโดยรวมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งสามครั้ง ช่วยให้ความมั่งคั่งและโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อย่างน้อยสำหรับผู้คนในประเทศพัฒนาแล้ว

            บัดนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ดังที่ ศ.เคลาส์ ชวาบ ได้กล่าวไว้ในบทนำของหนังสือดังกล่าว โดยท่านได้กล่าวถึงบริบททางสังคมและการเมืองยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ว่า “เรากำลังเผชิญทั้งโอกาสและสิ่งท้า ทายของเทคโนโลยีสารพัดที่กำลังเกิดขึ้น และทรงพลังยิ่ง ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ไปถึงเทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุลํ้าสมัยไปถึงการประมวลผลควอนตัม ซึ่งจะขับเคลื่อนให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างขุดรากถอนโคน นี่คือสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”

            เราจะรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างไร เป็นปัญหาและเป็นประเด็นใหม่มากมายที่น่าสนใจ ที่ผู้นำประเทศและประชาชน ต้องศึกษาและเตรียมการรับมือร่วมกัน

            หันกลับมามองสังคมไทย ประเทศไทยได้ผ่านยุคสมัยแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญๆ มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้งเช่นกัน โดยในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 1 คือ การปฏิรูปทางสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการพัฒนาการเมือง การปรับปรุงการปกครองการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นแบบใหม่ทันสมัยทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและศาล มีการเลิกทาส ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และอื่นๆ มากมาย

            การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 2 คือเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยาม เปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นการปกครองในระบอบประชา ธิปไตยแบบรัฐสภาหรือที่เราบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งที่ 2 ที่มีผลต่อวิถีชีวิตประชาชนและสภาพทางการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทย

            ครั้งที่ 3 คือเหตุการณ์นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของไทย ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต่อเนื่องมาถึงยุคปัจจุบัน

            ประเทศไทยวิวัฒนาการมาโดยลำดับ ไปพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง 3 ครั้ง เมื่อโลกก้าวสู่ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทย สังคมไทยต้องเกิดการปฏิวัติเปลี่ยน แปลงสังคมไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโลก อยู่ที่ใครจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

            เมื่อนายกรัฐมนตรีได้อ่านหนังสือเรื่อง ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของ ศ.เคลาส์ ชวาบ แล้ว โปรดนำพาพี่น้องประชาชนไทย ลุกขึ้นมาร่วมมือและจับมือกัน ก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบใหม่นี้ร่วมกัน เพื่อความสุข ความก้าวหน้า ความมั่นคงมั่งคั่งร่วมกันด้วยเถอะครับ เพราะความคาดหวังของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ “ความก้าวหน้าที่ครอบคลุมและยั่งยืนหมายถึง การทำงานร่วมกับทุกสาขาวิชาชีพและทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริมการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันและขจัดวิธีคิดแบบไม่แพ้ก็ชนะ หรือแบบถ้ามีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย หากทำสำเร็จ เราจะเลือกทางแยกของถนน ที่เปิดโอกาสให้เราได้จัดการความล้มเหลวจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านๆมา และสร้างโลกใหม่ที่สงบ รุ่งเรือง และยั่งยืนยิ่งกว่าหลายเท่าได้”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ