ข่าว

จับตารัฐบาลลุงตู่ งัดอาวุธลับสู้ศึกเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3488 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

จับตารัฐบาลลุงตู่

งัดอาวุธลับสู้ศึกเศรษฐกิจ

 

            16 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรีทั้ง 35 คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน และจะมีการประชุม ครม.ชุดใหม่นัดแรกทันที ท่ามกลางข่าวที่เล็ดลอดออกมาว่าจะมีการนำเสนอกรอบนโยบายรัฐบาลที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภาให้ ครม.ใหม่พิจารณาอนุมัติ เรียกว่า เป็นการทำงานแบบทันทีไม่มี “ฮันนีมูนพีเรียด”

            ข้อสังเกตจากสาธารณะคือ เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในสภาวะที่รัดตัวทุกอย่าง เศรษฐกิจโลกชะงักงัน สงครามการค้ากดดันหนัก กำลังซื้อหดตัว การลงทุนเอกชนตํ่า การท่องเที่ยวเริ่มหัวทิ่ม แต่อาวุธในการสู้ศึกกลับน้อยมาก เพราะ “จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563” ไม่ทัน

            สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ มีทางเดียวคือ ใช้กรอบงบประมาณเดิมปี 2562 ไปพลางๆ ก่อนที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่กำหนดกรอบรายจ่ายไว้ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 5 แสนล้านบาท รายได้ตกประมาณ 2.75 ล้านล้านบาท จะคลอดออกมา

            ข้อมูลทางลับบอกว่า กว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะคลอดออกมาไวสุดก็ตกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563

            นั่นหมายความว่า วงเงินที่มีใช้จำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง ในขณะที่ทุกพรรคการเมืองหาเสียงกับประชาชนไว้เริ่ดหรู อลังการ

            ปัญหาคือจะหาเงินมาจากไหนไปใช้ตอบสนองนโยบายที่ให้สัญญาประชาคมไว้...

            สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ใบ้ว่า กรอบนโยบายรัฐบาลที่จะมีการชี้แจงต่อสภานั้นเป็นการเดินตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้หลายอย่าง เนื้อหาทั้งนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำในช่วง 1 ปีแรก อาทิ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชน การลดความเหลื่อมลํ้า และจะบรรจุเรื่องที่เป็นนโยบาย 4 ปี ที่เป็นการสร้างความยั่งยืนของประเทศ ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งแต่ละนโยบายของทุกพรรคมีเป้าหมายเดียวกัน คือการยกระดับราคาสินค้าเกษตร

            นโยบายด้านพลังงานนั้น จะเน้นการเข้าถึงรากหญ้า ดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้น้อยที่สุด

            นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตตํ่าเป็นวันละ 400 บาท ทุกพรรคเห็นตรงกันว่า ควรต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าให้เป็นอัตราที่เพียงพอต่อผู้ใช้แรงงาน ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น จะกำหนดลงไปในนโยบายและมาตรการของรัฐบาลอีกครั้ง

            ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายรัฐบาลต้องคำนึงถึงกรอบวงเงินของรัฐบาล เพราะต้องผูกพันกับเรื่องของงบประมาณ และอยู่บนพื้นฐานวงเงินงบประมาณที่สามารถจัดสรรได้ ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขวงเงินได้

            ภาระเรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลลุงตู่จึงไปตกอยู่ในมือคนนี้...อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งตอนนี้รับโจทย์มาชัดเจนว่า นโยบายเร่งด่วนจะมี 3 เรื่อง 1.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.พักหนี้เกษตรกร 3.มารดาประชารัฐ เพราะได้หาเสียงไว้

            เรื่องอื่นๆ จะบวกลบคูณหารจากงบประมาณที่มี และต้องจัดสรรเงินงบประมาณให้กับพรรคร่วมในการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้

            คำถามที่ต้องการคำตอบคือ จะหางบมาจากไหนไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

            ผมพาทุกท่านมาสแกนแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลลุงตู่พบว่า จะมีการจัดงบลงไป รอบแรก คือ จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2562 จะดึงเม็ดเงินคงเหลือจากงบกลางฉุกเฉินที่เหลืออีกราว 6 หมื่นล้านบาทมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ใช้ได้จริงแค่ 4-5 หมื่นล้านบาท เพราะที่เหลือต้องไว้รองรับภัยแล้ง ภัยพิบัติ

            นอกจากนี้ จะมีเงินจากกองทุนประชารัฐ บัตรคนจน ที่จัดสรรไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการใช้อยู่อีก 1.5 หมื่นล้านบาท

            รอบที่ 2 คือ จัดเงินจากงบกลางปีที่ตั้งขึ้นไว้ในปี 2562 แต่ยังไม่มีการใช้อยู่อีก 2-3 หมื่นล้านบาท จากที่เคยขอไว้ 8.9 หมื่นล้านบาท แต่ต้องตัดจากโครงการที่กำหนดไว้เดิมที่ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

            ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังบอกผมว่า แนวทางที่รัฐบาลลุงตู่แจ้งมานั้นจริงๆ แล้วต้องใช้เงินทั้งหมดอย่างน้อย 1.5-2 แสนล้านบาทที่นอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายเดิม แต่มีเงินที่สามารถใช้จริง 8-9 หมื่นล้านบาท

            โจทย์นั้นมีอะไรบ้างนะหรือครับ มารดาประชารัฐแจกเงิน 181,000 บาทต่อคน ค่าแรงขั้นตํ่า 400-425 บาทต่อวัน ประกันราคาสินค้าเกษตร ข้าวเจ้า 12,000 บาทต่อตัน ยางพารา 65 บาท ยกเว้นภาษีการค้าออนไลน์ 2 ปี ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10 ปี เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน พักหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ 4 ปี ตั้งกองทุนประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท ฯลฯ หากรวมทั้งหมดกว่า 2 แสนล้านบาท           

            นั่นหมายถึงว่าต้องหาทางออกในการหาเงินมาใช้ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยหัวทิ่มแน่!

            ทางออกจึงไปอยู่ที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งเรียกขานกันว่า เงินทุนสำรองจ่าย ที่ให้อำนาจ ครม.อนุมัติใช้ได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน และกรณีงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไม่เพียงพอ ซึ่งกฎหมายกำหนดกรอบไว้ให้ถึง 5 หมื่นล้านบาท

            กฎหมายนี้ เพิ่งมีการปรับปรุงแก้ไขในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2561 โดยมีการนำกฎหมาย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งกำหนดให้ ครม.สามารถใช้เงินทุนสำรองจ่ายกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินเพียง 100 ล้านบาทมาปรับแก้ไขใหม่ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้รัฐบาลให้สามารถจัดการในยามฉุกเฉินได้ โดยให้อำนาจ ครม.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ไม่ต้องเข้ารัฐสภา เหมือนการตั้งงบกลางปี

            กฎหมายฉบับนี้เปิดให้กำหนดงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากร สามารถโอนงบข้ามหน่วยงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องตราเป็น พ.ร.บ. หรือมีการควบรวมหน่วยได้เป็นครั้งแรก เพียงแต่งบประมาณที่นำมาบูรณาการต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

            นี่คืออาวุธที่ “รัฐบาลลุงตู่2/1” มีอยู่ แต่จะสู้ศึกเศรษฐกิจได้หรือไม่ ผมไม่รู้...รู้แต่ว่าศึกนี้ใหญ่หลวงนัก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ