ข่าว

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย (จบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3482 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-29 มิ.ย.2562 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย (จบ)

                คนไทยส่วนหนึ่งไม่ยอมรับอำนาจใดๆ ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและสมบูรณ์ในตัว โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภาได้ แม้อำนาจนั้นมาจากชัยชนะในการเลือกตั้งก็ตาม ดังนั้น ประชาธิปไตยของไทยต้องมีธรรมาธิปไตย คือ หลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาเข้าไปกำกับดูแลควบคุมการใช้อำนาจร่วมด้วย และต้องมีกระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐที่สามารถดำเนินการได้จริง

                ชนชั้นกลางของไทยยังรับไม่ได้กับประชาธิปไตยที่มีการโกงกิน ซื้อสิทธิขายเสียงและตรวจสอบไม่ได้ หากเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขให้เกิดคุณภาพประชาธิปไตยได้แล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถครองใจและได้รับการยอมรับจากชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ดังนั้น ส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 จึงกำหนดมาตรการต่างๆ ที่ป้องกันไว้ไม่ให้การเมืองเกิดการฉ้อฉลได้ง่าย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ซึ่งคนไทยยอมรับโดยการผ่านประชามติเกือบ 17 ล้านคน

                อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดขณะนี้ คือ กลุ่มคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนเผด็จการ ส่วนกลุ่มคนที่มีแนวโน้มท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกมองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ในอดีตที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีกลุ่มที่ให้การสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนประชาธิปไตยด้วย โดยการต่อต้านการแทรกแซงของทหารทางการเมือง ดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ในปัจจุบันมีการแย่งชิงคำว่า “ประชาธิปไตย” และผลักไสอีกฝ่ายให้เป็น “เผด็จการ” ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกได้ง่ายและเป็นอันตรายกับสังคมไทย

 

บทสรุปการเมืองไทย

                จากการปฏิวัติในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ผมเองมีข้อสรุปเสนอว่า เอาเข้าจริงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์แบบหนึ่งไปสู่ระบอบกษัตริย์อีกแบบหนึ่ง นั่นคือ จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นปรมิตตาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นธรรมาธิปไตยและเป็นธรรมราช ระบอบกษัตริย์ สะสมความชอบธรรมเสมอแทบไม่หยุด ผ่านการทรงงาน ในขณะนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้กลายมาเป็นผู้รับรองความชอบธรรมทั้งหมดในประเทศ ซึ่งในเงื่อนไขนี้ ประเทศเห็นจะมีทางออกในการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ 2 ทาง สำหรับนักวิชาการที่ยึดถือประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์คือ

                1.ยอมรับในปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) ขอเน้นว่ามิใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์(Absoleute Monarchy) ยอมรับความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามดุลกำลังและดุลทางวัฒนธรรม ที่เป็นจริงของประเทศ ให้ราชาธิปไตยเป็นที่อิงและประคับประคองประชาธิปไตย เป็นที่มาแห่งความชอบธรรมทางการเมือง และผ่องถ่ายความชอบธรรมนี้ไปสู่ระบอบประชา ธิปไตยในอนาคต ให้ประชาธิปไตยสามารถสร้างความชอบธรรมให้ระบอบตนเองได้

                2.การไม่ยอมรับในสถาบันพระมหากษัตริย์ทางการเมือง การสร้าง “สาธารณรัฐ” ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยพระมหากษัตริย์ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวการเมืองได้เลย พระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพียงในนาม เป็นเพียงเกียรติยศของประเทศ ดำรงอยู่เพียงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น หรือจะถึงขั้นยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยหวังว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ผมขอให้ระมัดระวังถึงการล้มลงและสูญเสียไปทั้งสองสถาบันของชาติ คือ ประชาธิปไตยและปรมิตตาญาสิทธิราชย์

                สำหรับผมประชาธิปไตยที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญของสังคม ความสร้างสรรค์ของคนในประเทศที่จะออกแบบประชาธิปไตย ให้มีความสอดคล้องกับดุลกำลังและดุลทางวัฒนธรรมที่เป็นจริงของประเทศ

                ผมมีความเห็นว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองในระบอบประชา ธิปไตย ต้องเป็นความหวังของประเทศ สามารถเป็นทางออกของประเทศได้ ไม่ได้เป็นนักธุรกิจการเมืองซึ่งกลุ่มชนชั้นกลางไม่ยอมรับ พรรคการเมืองกับนักการเมืองต้องสร้างความชอบธรรมให้ตนเองได้ โดยต้องสร้างการยอมรับจากประชาชนทุกกลุ่มในประเทศจากแนวคิดข้างต้น และต้องเป็นแสงสว่างให้ประเทศได้

                ประเทศไทยควรเป็นราชอาณาจักร ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การตัดมิให้พระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองเลยนั้น เป็นไปไม่ได้ในระยะที่มองเห็น สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเป็นที่พึ่งพิงของระบอบประชาธิปไตย โดยประชาธิปไตยเองก็ต้องพยายามสร้างความชอบธรรม และการยอมรับจากประชาชนด้วยตนเองด้วย ดุลอำนาจระหว่างปรมิตตาญาสิทธิราชย์ และประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้น สามารถแปรเปลี่ยนไปได้จากผลงานของระบอบ และอาจแปรเปลี่ยนกลับไปมาได้ในอนาคต

                การพัฒนาประชาธิปไตยให้เหมาะสม ต้องอยู่แบบผสมผสานคือ ทำให้กลุ่มของ The One,The Few และ The Many อยู่ร่วมกันในการปกครองด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ซึ่ง The One ของไทยคือ พระมหากษัตริย์ ส่วน The Few ได้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการของประเทศ รวมถึงข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมือง และสื่อมวลชนในฐานะผู้สร้างและนำเสนอความคิดต่อสาธารณะ และ The Many ได้แก่ ปวงชนชาวไทยทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ทุกระดับรายได้ โดยเฉพาะผู้คนในขั้นพื้นฐานและชนชั้นกลางระดับล่าง

                ทั้งหมดคือความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในวาระครบรอบ 87 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากปี 2475 -ปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าทรงคุณค่าอันควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง สมควรที่จะเป็นทางเลือกให้กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย แตกต่างจากพรรค การเมืองหนึ่ง ที่พยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ ตัดตอนพูดเหตุการณ์ปี 2475 เพื่อรับใช้การเมือง ปลุกระดมสร้างความแตกแยกในสังคมไทย โดยมิได้เสนอแนวคิดใดในทางสร้างสรรค์ ทั้งมีพฤติกรรมส่อไปในทางสร้างประชาธิปไตยที่คนไทยไม่พึงปรารถนา เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสังคมไทย

                จึงเป็นดุลยพินิจของท่านผู้อ่านอย่างยิ่ง ในการศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจจะสนับสนุนพรรคและนักการเมืองใด ที่อาจทำให้อนาคตประเทศมอดไหม้ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ