ข่าว

ทึ้ง..กระทรวงพลังงาน? กลุ่มทุนเดิมพันผลประโยชน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทึ้ง..กระทรวงพลังงาน? กลุ่มทุนเดิมพันผลประโยชน์ น้ำมัน-ก๊าซ-โรงไฟฟ้า

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ โดย...กระบี่เดียวดาย

 

ทึ้ง..กระทรวงพลังงาน?

กลุ่มทุนเดิมพันผลประโยชน์

น้ำมัน-ก๊าซ-โรงไฟฟ้า

 

                โปรดเกล้านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้ว เข้าสู่โหมดจัดตั้ง ครม.ที่ยังไม่จบ โดยแก่งแย่งเก้าอี้อย่างเมามัน โดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ สยบคลื่นพรรคร่วมรัฐบาลลงได้ ในวันรับตำแหน่งไม่ให้โควตาพรรคร่วมที่เจรจาไว้เดิมกระทบ เพียงกำชับพรรคร่วมคัดเลือกตัวบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น

                แต่ศึกในพรรคพลังประชารัฐที่ต้องใช้พลังและบารมีนายกฯสยบคลื่นลมให้สงบให้ได้ หลังกลุ่มสามมิตร พลาดหวังเก้าอี้กระทรวงหลักที่ตกเป็นของพรรคร่วมไปแล้ว เหลือเก้าอี้สำคัญที่หมายปอง ที่ต้องหันมาฟาดฟันกันเอง โดยเฉพาะที่กระทรวงพลังงาน

                เดิมที ณัฐพล ทีปสุวรรณ ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์ 1 รองหัวหน้าพรรค จับจองเก้าอี้นี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยอาศัยทั้งภาพลักษณ์ส่วนตัว กลุ่มทุน กลุ่มก๊วน ขุมกำลังภายในพรรค นอกพรรคเป็นแบคอัพ แต่กลุ่มสามมิตรภายใต้ สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ฮึดสู้ประลองกำลัง ขอเบียดชิงตำแหน่งรมต.พลังงาน ล่าสุดได้มีการผ่าทางตันให้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค มาเสียบในตำแหน่งนี้แทน เพื่อลดความขัดแย้งในการแย่งชิงเก้าอี้ตัวนี้

                ทำไม ต้องแย่งชิงกระทรวงพลังงานทั้งที่เป็นกระทรวงที่มีงบประมาณเพียงเล็กน้อยในการบริหาราชการ โดยปีงบประมาณ 2562 งบประมาณ อยู่ที่ 2,300,931,500 บาท มีเงินนอกงบประมาณอีก 8,527.4749 รวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท 

                ดูเผินๆเก้าอี้ตัวนี้ไม่เป็นที่น่าจับจองและแย่งชิง แต่ต้องไม่ลืมว่าพลังงานเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ น้ำมัน ไฟฟ้า ขยับแต่ละครั้งล้วนกระเทือนและเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล

                ดูข้อมูลความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เดือนมีนาคมปีนี้ มีปริมาณรวม 5,696 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 183.6 ล้านลิตร หรือ 1,154,901 บาร์เรลต่อวัน ส่วนใหญ่นำเข้าเกือบ 100 % จากแหล่งผลิตน้ำมันทั่วโลกส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลาง  

                การจัดหาน้ำมันจากแหล่งต่างๆนั้นบริษัทน้ำมันไม่สามารถเดินดุ่มๆไปจัดหาได้ตามลำพัง ต้องได้รับไฟเขียวจากกระทรวงพลังงานให้พยักหน้าด้วย จึงดำเนินการได้ ว่ากันว่าเวลาจะเปลี่ยนแหล่งน้ำมันแต่ละครั้งมีค่าจัดการ 3 ดอลลาร์หรือ 90 บาทต่อบาร์เรล โดยต้องจัดส่งผู้ให้ไฟเขียว 1 ดอลลาร์หรือ 30 บาทต่อบาร์เรล เราใช้น้ำมันวันละล้านบาร์เรลเท่ากับเงินส่วนนี้ 30 ล้านบาทเดือนละ 900 ล้านเป็นเม็ดเงินไม่น้อยทีเดียว 

                ยังไม่รวมการอนุมัติจัดหาก๊าซ การอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้า ที่ทุกอย่างล้วนเป็นเงินเป็นทองและผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ

                เมื่อเร็วๆนี้ครม.ผ่านความเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในแผน พัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพีฉบับใหม่  โดยมุ่งให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่ หันไปพึ่งการใช้ก๊าซธรรมชาติเกือบจะทั้งหมด ไม่กระจายความเสี่ยงไปให้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

                พีดีพีฉบับใหม่นี้ยัง มีข้อกังขา ที่กพช.มีมติเห็นชอบแผนพีดีพี ให้อำนาจเต็มกับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่รัฐมนตรีพลังงานเป็นประธาน ไปพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพีดีพี โดยที่ไม่ต้องนำกลับมาเสนอให้กพช.เห็นชอบอีกครั้ง

                กบง.ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าถ่านหินบางโรง เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติได้ ทั้งที่ผิดเงื่อนไขการประมูลไอพีพีเมื่อปี 2550 และให้สิทธิบริษัทยักษ์ใหญ่พลังงาน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซ ในพื้นที่ภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ เป็นการสร้างทดแทน 1 โรง กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ และสร้างใหม่ 1 โรง กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ โดยไม่ใช้วิธีการประมูล ขัดกับหลักการ การเปิดรับซื้อไฟฟ้า จากเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพี ที่ปฏิบัติกันมา เพื่อให้เกิดการแข่งขันให้ได้ค่าไฟฟ้าตํ่าสุด

                โครงการแบบนี้ต้องใช้เงินลงทุนโรงละ 2-3 หมื่นล้าน จะทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้ไฟเขียวจากรมต.พลังงาน  แม้เคาะผ่านไปแล้วแต่ยังรื้อกันได้ ตราบใดที่ยังไม่มีสัญญาปักเสาเข็ม เมื่อไล่รื้อได้กลุ่มทุนที่ดีลเข้าไปสวมซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า1.4 พันเมกะวัตต์ในอัตรา 40 % ต้องมั่นใจว่าไม่ถูกไล่รื้อ

                ตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานจึงสำคัญยิ่งกว่าสำคัญ  เป็นที่จับจ้องของกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ที่ต้องให้ไฟเขียวหรือคนรู้ใจไปทำงาน เพื่อหลักประกันชัดเจนถึงผลประโยชน์มหาศาล แค่เงื่อนไขไม่รื้อเมกกะวัตต์ละ1ล้านก็ปาเข้าไป 1,400 ล้านที่จะกลายเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นใหม่

                เอาแค่ 2 เรื่องน้ำมันและโรงไฟฟ้า ยังไม่นับรวมสัมปทานอื่นๆและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในสังกัดอย่างปตท.และบริษัทลูกอีกมากมายมหาศาล จริงอยู่มีบอร์ด มี CEO บริหารในบริษัทเหล่านั้น แต่ถ้าไม่ได้รับการพยักหน้าจากรมต.พลังงาน บอร์ดก็ไม่สามารถปฏิบัติได้

                เห็นกันหรือยัง .....ทำไมต้องทึ้งกระทรวงพลังงาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ