ข่าว

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย การเมืองไทยปี 2519-2544 (2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย การเมืองไทยปี 2519-2544

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3470 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค.2562 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

ความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย

การเมืองไทยปี 2519-2544 (2)

 

                เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย นักศึกษาบางส่วนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่อย่างไรก็ตาม สังคมไทยก็สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แก้ไขปรับปรุงตนเองได้เสมอ ประเทศไทยไม่ล้มลงง่ายๆ

                หลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะทหารได้ทำการยึดอำนาจและแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็เกิดการรัฐประหารตามมาอีกครั้งในเวลาอีก 1 ปี โดยครั้งหลังนี้มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลทหารคณะนี้ได้ยอมรับนักศึกษาที่เข้าไปอยู่ป่าให้กลับคืนสู่สังคม และในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการส่งสัญญาณแห่งการปรองดองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด คือการออกคำสั่งที่ 66/2523 จนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด

                การเมืองไทยจากปี 2523-2544 คือการสร้างสมดุลระหว่างคณะทหารและพลเรือน ในระยะแรก ระหว่างปี 2523-2531 การเมืองไทยยังเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ภายใต้ผู้นำอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ที่มีบุคลิก อุปนิสัยและคุณสมบัติ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ นักการเมือง และบุคคลทั่วไป เมื่อเข้าถึงยุคที่มี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2531-2534 จึงเกิดเป็นประชาธิปไตยที่เต็มใบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้รัฐบาลก็ยังต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทหารและกองทัพไว้ ต้องประคับประคองตนเอง แต่หากไม่มีการคอร์รัปชัน สื่อมวลชน และ ประชาชน ก็จะไม่เรียกร้องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงและแก้ปัญหาบ้านเมือง

                การเมืองไทยระหว่างปี 2533-2544 มีลักษณะเป็น “สองนคราประชาธิปไตย” ตามที่ผมได้เคยเสนอไว้แล้ว การเลือกตั้งเป็นการสถาปนาอำนาจทางการเมืองและการล้มอำนาจของรัฐบาล มักเกิดขึ้นด้วยการรัฐประหาร ความคิดเรื่องประชาธิปไตยถูกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย สองนคราประชาธิปไตยที่เกิดจากคนละมุมมองของคนในชนบทและคนเมือง ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ทั้งนี้ประชาธิปไตยที่สามารถนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้คือ ต้องยอมรับมุมมองต่อประชาธิปไตยทั้ง 2 แบบ และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างคนชนบทและคนเมือง

                สรุปว่า การเมืองไทยตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นแกนหลักของชาติ และได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีการยึดอำนาจของทหารมาสลับเป็นพักๆ

                เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในระยะต่อมาได้แก่ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี2535ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังทางสังคมอันเกิดจากชนชั้นกลางอย่างชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534 เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้แสดงให้เห็นพลังของขบวนการนักศึกษา ซึ่งมองอีกแง่หนึ่งก็เป็นพลังของกลุ่มคนที่ยังไม่มีอาชีพ ไม่ใช่ชนชั้นกลาง

                แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พลังของชนชั้นกลางกลุ่มนี้ เป็นพลังหลักของการปฏิรูปทางการเมือง โดยวิพากษ์วิจารณ์การเมืองที่เป็นอยู่จากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงก่อนการยึดอำนาจ ในปี 2534 ว่า เต็มไปด้วยนักการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่เป็นเครื่องมือของทุนการเมือง เป็นการเมืองในระบอบธนาธิปไตย (Money Politics) เกิดนักธุรกิจการเมือง นักการเมืองและนักธุรกิจร่วมมือกันแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาว่าเป็นรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” เป็นการเมืองเพื่อเงิน และอาศัยเงินที่ได้มาไปซื้อและสร้างคะแนนเสียง

                การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงในระยะนี้หนักและเป็นปัญหาสำคัญของประชาธิปไตย เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่อำนาจ ในยุคนี้ พลังของชนชั้นกลางเป็นพลังหลักที่พยายามปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศ จนนำไปสู่การยกร่างและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ การเมืองไทยทำท่าจะไปได้ด้วยดี หากแต่เกิดปัญหาทางการเมืองอื่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาอีก

                นับแต่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ประเทศไทยค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นของชนชั้นใหม่ในสังคม เกิดชนชั้นกลาง ประเทศไทยไม่มีเหตุการณ์สำคัญที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันอย่างเหตุการณ์ปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก แต่ในหลายทศวรรษนี้ ชีวิตของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แม้ว่าคนยากจนยังมีอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คนไทยย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองขนาดใหญ่ การศึกษาของไทยพัฒนาจากที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปัจจุบัน

                การเมืองไทย จากปี 2544 ถึงปัจจุบัน (อ่านในตอนต่อไป)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ