ข่าว

ความคิดพินิจ ประชาธิปไตยไทย (1)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความคิดพินิจ ประชาธิปไตยไทย (1)

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3468 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค.2562 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

ความคิดพินิจ

ประชาธิปไตยไทย (1)

 

                ผมได้รับบทความ “เค้าโครงความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย” จาก ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตย สภา สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งได้รับเชิญจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉลองครบรอบ 70 ปี ให้ย้อนพินิจประชาธิปไตยไทย บทความนี้จึงเป็นมุมมองของ ดร.เอนก ที่ผ่านชีวิตโชกโชนเปี่ยมด้วยประสบการณ์ ที่เป็นนักวิชาการ นักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหว นักการเมืองและนักปฏิรูปสังคม นับว่ามีคุณค่าและน่าสนใจอย่างยิ่ง ผมจึงได้ขออนุญาตสรุปและคัดย่อในส่วนเนื้อหาที่สำคัญๆ นำมาเผยแพร่เพื่อผู้อ่านที่สนใจเรื่องของชาติบ้านเมือง

                ดร.เอนก มองว่า 87 ปี นับแต่ปฏิวัติ 2475 เราเอาประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในลักษณะอุดมคติแบบโลกตะวันตก ซึ่งแท้จริงประชาธิปไตยเป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งทางการเมือง ควรใช้ความเป็นจริง พลังที่แท้จริงของสังคมมาพิจารณา โดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีตะวันตก

                จากการปฏิวัติ 2475 - 2500 ความเป็นจริง คณะราษฎรขณะนั้นก็มิได้เข้มแข็ง ไม่สามารถดำเนินการได้ตามอุดมการณ์ ที่สำคัญคือไม่ได้สถาปนาประชาธิปไตย ที่ให้ประชาชนเป็นรากฐานแห่งความชอบธรรม ไม่ได้จัดตั้งพรรคการเมืองที่มีมวลชนอันเข้มแข็ง หากแต่ใช้การเข้าควบคุมกองทัพ เพื่อใช้อำนาจปกครอง และต่อมาคณะราษฎรก็กลายเป็นคณะทหารมากกว่าพลเรือน มีการขับเคี่ยว ถกเถียง เจรจาและต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับรูปแบบและอุดมการณ์ ระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายคณะที่นิยมเจ้าว่า ประเทศไทยควรเป็น“สาธารณรัฐ” ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือควรเป็นระบอบราชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนประเทศอังกฤษ

                ในที่สุดการปฏิวัติของคณะราษฎร ก็ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามอุดมการณ์และเป้าหมาย เหมือนการปฏิวัติในฝรั่งเศสที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สาธารณรัฐ” ได้ ระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงเป็นอย่างที่เห็นและเป็นปัจจุบัน

                กล่าวได้ว่า ในระยะเวลา 15 ปีแรก หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาธิปไตยของไทยไม่มีความมั่นคง ไม่มีฐานอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน คณะราษฎรใช้การสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ซึ่งมาจากการแต่งตั้งเพื่ออยู่ในอำนาจ โดยมีกองทัพสนับสนุน จนกระทั่งถึงปี 2490 คณะราษฎรก็ได้หมดกำลัง ขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์และคณะนิยมเจ้ามีความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อผนวกกับพลังของฝ่ายทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสถาบันหลักและหลักชัยของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นฐานความชอบธรรมทางการเมืองในทุกระบอบจนถึงปัจจุบัน

                โดยความเห็นของผู้เขียน เหตุที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มั่นคง ต่อเนื่องมายาวนานด้วยการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รอดพ้นจากภัยคุกคามจากลัทธิทางการเมืองอื่นมาได้เช่นนี้ ก็ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9โดยแท้

                การพินิจประชาธิปไตยไทยย้อนหลังนับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ผ่านปี 2500 -2519 ดร.เอนก สรุปไว้น่าสนใจว่า จากปี 2475 ล่วงเลยไปถึง พ.ศ.2516 ประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นการปกครองในรูปแบบที่เรียกว่า “อำมาตยาธิปไตย” ซึ่งปกครองด้วยคณะข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน ทั้งที่ยังประจำการและเกษียณอายุแล้ว กระแสประชาธิปไตยลงสู่ประชาชน ครั้งแรกราวปี 2512 เมื่อเกิดขบวนการนักศึกษาในขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อประท้วงและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ขบวนการนักศึกษานี้ฝากความหวังไว้ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ในระยะนี้พระมหากษัตริย์ทรงมีความใกล้ชิดกับนักศึกษาและมองนักศึกษาเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นอนาคตและความหวังของประเทศ แต่ก็มิได้สนับสนุนความคิดใดๆ ที่สุดโต่งหรือรุนแรง

                เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกได้ว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่ยึดกุมโดยประชาชนเป็นครั้งแรก ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นประชาธิปไตยที่ใกล้เคียงเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกมากขึ้น ในระยะนี้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 แล้ว แต่มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง โดยอำนาจยังอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรมากกว่าวุฒิสภาอย่างชัดเจน

                หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยได้เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง

                รวมถึงการเรียกร้องเรื่องความเป็นอยู่ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน และการให้ความสำคัญกับประชาชน แต่แนวคิดเสรีประชาธิปไตย ก็ถูกท้าทายอย่างรวดเร็วจากความคิดแบบสังคมนิยม และประชาธิปไตยฝ่ายซ้าย รวมถึงกระแสต่อต้านทุนนิยม การเมืองและเศรษฐกิจขณะนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากขบวนการฝ่ายซ้าย ประชาธิปไตยที่ดำเนินอยู่ถูกวิจารณ์ว่า เป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ไม่ใช่ของมวลชนและคนยากคนจนอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย โดยต้องมีการปฏิวัติที่ดิน ปฏิรูปอุตสาหกรรมที่เป็นของรัฐ ยึดธนาคารของรัฐ ทรัพย์สินของรัฐต้องเป็นของประชาชน

                การเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่ได้สร้างฐานของความชอบธรรม แก่ระบอบเสรีประชาธิปไตยให้มั่นคงขึ้น สิ่งที่นักศึกษาได้ออกไปเผยแพร่ความคิดในที่ต่างๆ ของประเทศ คือแนวคิดประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม (Social Democracy) ที่กระเดียดไปทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นแนวคิดประชาธิปไตยของประชาชน ( Peaple Democracy) หรือเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพที่ทำเพื่อคนยากคนจน จนกระทั่งนำมาสู่การเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเกิดเป็นความแตกแยกและความรุนแรงขนาดใหญ่ในสังคม กลายเป็นบาดแผลใหญ่ที่ไม่อาจเยียวยาหรือลบออกจากใจหลายคนได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ