ข่าว

ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่และการก่อสร้างอาคาร City Garden(4)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่และการก่อสร้างอาคาร City Garden (4) คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้สรุปรายงานอันเป็นสาระสำคัญไว้ในตอนท้ายอย่างน่าสนใจ

ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3412 ระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค.2561 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่และการก่อสร้างอาคาร City Garden(4)

 

            ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้สรุปรายงานอันเป็นสาระสำคัญไว้ในตอนท้ายอย่างน่าสนใจอย่างยิ่งดังนี้

            2. การประกอบกิจการภัตตาคาร ชั้น 2 ของอาคาร City Garden ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สรุปได้ว่า บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ได้นำพื้นที่อาคาร City Garden ให้บริษัท ควอโทรวิน จำกัด ใช้ประโยชน์ทำธุรกิจภัตตาคาร โดยมีสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการภัตตาคาร เป็นผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแต่ผู้เดียว รวมขนาดพื้นที่ 8,276 ตารางเมตร อายุสัญญา 5 ปี นับแต่วันสนามบินเปิดบริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งบริษัท ควอโทรวินฯ ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการประกอบกิจการ ในอัตรา 20% ของยอดรายได้ในแต่ละเดือน ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ โดยกำหนดอัตราขั้นตํ่าของส่วนแบ่งทั้งปี ในปีที่ 1 ไม่น้อยกว่า 501,600,000 บาท (ห้าร้อยหนึ่งล้านหกแสนบาทถ้วน) (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และมีการปรับขึ้นอัตราขั้นตํ่าในปีต่อๆ ไป ตามสูตรคิดคำนวณที่กำหนดไว้

            นอกจากนี้บริษัท ควอโทรวินฯ จะต้องชำระค่าสิทธิในการประกอบกิจการต่างหากอีกเป็นเงิน 185,610,000 บาท (หนึ่งร้อยแปดสิบห้าล้านหกแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) หากผิดนัดไม่ชำระส่วนแบ่งต้องถูกปรับในอัตรา 1.5% ต่อเดือน และยังต้องมีหน้าที่ชำระค่าเช่าพื้นที่ และค่าธรรมเนียม เป็นสัญญาแยกต่างหาก โดยมีอายุการเช่าครั้งละไม่เกิน 3 ปี โดยชำระตามอัตราที่ ทอท.กำหนด พร้อมต้องนำหนังสือคํ้าประกันของธนาคารจำนวน 268,356,000 บาท มาวางเป็นหลักประกันข้อตกลงในสัญญาอีกด้วย รายละเอียดทั้งหมดปรากฏตามเอกสารแนบในรายงาน

            3. การปลูกสร้างและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อาคาร City Garden ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้พิจารณาจากเอกสารที่ปรากฏและได้ข้อเท็จจริงจากบุคคลผู้เกี่ยวข้องที่ระบุนามข้างต้น พอสรุปความเห็นได้ดังนี้

            3.1 จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคาร City Garden เป็นอาคาร ที่ไม่มีระบุไว้ในแผนงานหลักของการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และไม่มีอยู่ในแผนงานกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. อาคารดังกล่าวเกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทได้ลงนามในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ ไปแล้วหลายเดือน และการก่อสร้างดังกล่าว เป็นการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่แยกเป็นเอกเทศต่างหากจากส่วนก่อสร้างของอาคารผู้โดยสาร การออกแบบรูปทรงอาคารและการกำหนดพื้นที่ใช้สอย ตลอดจนการกำหนดตำแหน่งที่ตั้ง และการก่อสร้างทั้งหมดกำหนดโดย บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด โดยลำพัง ทอท.มิได้มีส่วนร่วมในการคิดพิจารณาและกำหนดรายละเอียดของอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด สิทธิการใช้พื้นที่ตามสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ จึงมิได้รวมไปถึงพื้นที่ในอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด

            ส่วนการดำเนินการเพื่อใช้พื้นที่และเข้าทำการก่อสร้าง กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ สรุปไว้ดังนี้

            3.2 การเข้าทำการก่อสร้างอาคารCity Garden ได้ดำเนินไปโดยอ้างความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ กทภ.ที่ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของบริษัทตามรายงานการประชุมครั้งที่ 4/2548 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ประกอบคำสั่งอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารโดยนายสมชัย สวัสดีผล นั้น

            คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า มติที่ประชุมน่าจะมิได้พิจารณาในเรื่องที่ 3 (เรื่องขอรับการจัดสรรพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารCity Garden) ที่ขอจัดสรรพื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้างอาคาร มติที่ประชุมน่าจะเห็นชอบเพียงเรื่องที่ 1 และ 2 เท่านั้น แต่ใช้ถ้อยคำรวมๆ มาว่า เห็นชอบในการขอปรับเปลี่ยนและปรับปรุง ซึ่งการขออนุมัติก่อสร้างอาคาร City Garden เป็นการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับแต่อย่างใดจึงยังไม่อาจถือได้ว่าที่ประชุมอนุกรรมการ กทภ.ได้ให้ความเห็นชอบในการขอจัดสรรพื้นที่ดังกล่าว

            จากหลักฐานดังกล่าว อาจทำให้เข้าใจได้ว่าที่ประชุมอนุกรรมการ กทภ.ได้ละเลย มิได้พิจารณาการขอจัดสรรพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งหากได้มีการพิจารณาข้อเสนอการขอจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวที่ประชุมคณะอนุกรรมการ กทภ. ก็น่าจะทราบและมีความเห็นว่า การขอจัดสรรพื้นที่ดังกล่าว เป็นเรื่องนอกเหนือสัญญาประกอบกิจการ ร้านค้าปลอดอากรและสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์และเป็นพื้นที่นอกอาคารผู้โดยสาร ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องใหม่ที่บริษัททั้งสองไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะดำเนินการตามที่เสนอขอได้

            จึงควรแยกพิจารณาไว้เป็นเรื่องต่างหากจากเรื่องขอปรับเปลี่ยนและขอปรับปรุงพื้นที่เพื่อสนับสนุนกิจการที่บริษัททั้งสองได้รับอนุญาตตามสัญญา การขออนุมัติการก่อสร้างและใช้พื้นที่ อาคาร City Garden ก็เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจของอนุกรรมการ กทภ. ที่จะพิจารณาอนุมัติ มติที่ประชุมครั้งที่ 4/2548 ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการอนุมัติให้บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ใช้ประโยชน์และก่อสร้างอาคาร City Garden ได้

            นอกจากนี้ นายสมชัย สวัสดีผล ผู้ที่มีหนังสืออนุมัติให้ก่อสร้าง ยังได้ให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 ว่า “ขณะนั้นนายสมชัยทราบดีว่าคณะอนุกรรมการ กทภ.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติให้ใช้พื้นที่และก่อสร้างอาคาร City Garden ได้ การที่ตนได้มีหนังสือแจ้งว่าที่ประชุมอนุกรรมการ กทภ. ได้อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้ ทั้งที่เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง ก็เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นความต้องการของผู้ใหญ่ใน ทอท.บางคน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจึงไม่กล้าขัดใจ”

            และที่ต้องแจ้งว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ทอท.จะต้องใช้ขยายอาคารผู้โดยสารออกไปในปี 2553(การขยายโครงการระยะที่3) ซึ่งอาจต้องรื้ออาคาร City Garden ออก จึงขอให้บริษัทยืนยันการก่อสร้าง ก็เพื่อใช้เป็นเหตุผลให้บริษัทเปลี่ยนใจไม่ก่อสร้างอาคาร City Garden เพราะหากต้องรื้อไปในปี 2553 ก็จะไม่คุ้มกับการลงทุนก่อสร้างอาคาร และเมื่อพิจารณาถึงขอบเขตตำแหน่งหน้าที่ของนายสมชัย สวัสดีผล ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติให้ใช้พื้นที่และให้ก่อสร้างอาคาร City Garden ได้

      คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จึงพิจารณาและมีความเห็นว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้ก่อสร้างและใช้ประโยชน์ในอาคาร City Garden ได้คือ คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการพิจารณาอนุมัติก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่กำหนด การที่บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด มิได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่และให้ก่อสร้างอาคาร City Garden โดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย บริษัทจึงไม่มีสิทธิก่อสร้างและใช้ประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

            การก่อสร้างและใช้ประโยชน์ในอาคารดังกล่าว ทั้งที่เป็นภัตตาคาร ครัว และโกดัง จึงเป็นการใช้พื้นที่โดยปราศจากสิทธิตามกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อ ทอท.ทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหาย และจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก็ไม่ปรากฏว่า บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ได้ทำนิติกรรมหรือสัญญาจ่ายค่าประโยชน์ตอบแทนในการใช้พื้นที่ดังกล่าวกับ ทอท.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ