ประชาสัมพันธ์

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ควรละเลยในช่วงสถานการณ์โควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ควรละเลยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มเสี่ยง

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการตรวจพบผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสนใจของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ มุ่งไปที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นหลัก จนอาจทำให้หลายๆ คนหลงลืมการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่มีการระบาดสูงในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และช่วงฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี

 


ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อคนละตัว แต่มีอาการคล้ายคลึงกัน  เช่น ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ถ่ายเหลว (ผู้ป่วยโควิด-19 อาจมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสร่วมด้วย) โดยทั้ง 2 โรคนี้ ต่างมีความรุนแรง และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มเสี่ยง ดังนี้
•หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 
•เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 
•ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดและเบาหวาน 
•ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 
•ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย 
•ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 
•ผู้ที่มีโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร


การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Flu) เป็นประจำทุกปีก่อนเข้าฤดูกาลระบาดของโรค จึงเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่พร้อมรับมือกับเชื้อที่จะเข้ามา และช่วยลดการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งยังช่วยลดความสับสนในการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย

 

ในภาวะที่มีแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนที่จะติดเชื้อโควิด-19 จะใช้เวลาในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่า เมื่อเทียบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน


 

โดยทุกคนสามารถวางแผนเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีหลักการเบื้องต้นในการเว้นระยะห่างของการฉีดวัคซีน ได้แก่
1.วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ต้องฉีดห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ 
2.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดเพียงเข็มเดียว โดยไม่ต้องรอให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม จึงสามารถฉีดระหว่างเข็มได้


ยกตัวอย่างการวางแผนเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลกับวัคซีนโควิด-19 ดังนี้
กรณีที่ 1 ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ก่อน วัคซีนโควิด-19
ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ 
โดยให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด-19


กรณีที่ 2 ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ระหว่าง วัคซีนโควิด-19
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 1 
และอยู่ระหว่างรอกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ 
โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนดนัด โดยให้มีระยะห่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน


กรณีที่ 3 ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หลัง วัคซีนโควิด-19
•ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 แล้ว ให้ฉีดจนครบทั้ง 2 เข็มก่อน 
โดยระยะการฉีดห่างกัน 2 - 4 สัปดาห์ จึงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ 
โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน 
•ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ครบทั้ง 2 เข็มแล้ว 
โดยระยะการฉีดระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกันประมาณ 10 - 12 สัปดาห์ 
สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 1 เดือน  
    

ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนตัวไหนก่อนถึงจะเหมาะสมนั้น อาจพิจารณาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ตนเองอยู่อาศัย หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีการระบาดสูง อาจต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นลำดับแรก


บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน มีความห่วงใยต่อสุขภาพของคนไทย จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงและไม่ควรละเลยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ก่อนเข้าสู่ฤดูแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ