ประชาสัมพันธ์

สสส. หนุน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ขับเคลื่อน "ครอบครัวปลอดบุหรี่" เพื่อลดจำนวนผู้สูบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สสส. หนุน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ขับเคลื่อน "ครอบครัวปลอดบุหรี่" เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และพบว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเสพสารเสพติดชนิดอื่นสูงถึง 17 เท่า

          
โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการสนับสนุนครอบครัวปลอดบุหรี่ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนการสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาออนไลน์ “มหกรรมครอบครัวปลอดบุหรี่ : ให้การเลิก (บุหรี่) เป็นของขวัญเพื่อคนที่คุณรัก" เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเลิกบุหรี่ แนวทางการสนับสนุนให้เป็นบ้านปลอดบุหรี่ และบทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานรณรงค์เพื่อลด ละ เลิกการสูบบุหรี่

         สสส. หนุน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ขับเคลื่อน "ครอบครัวปลอดบุหรี่" เพื่อลดจำนวนผู้สูบ

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวระหว่างพิธีเปิดว่า การทำงานลดจำนวน ผู้สูบบุหรี่ในระดับครอบครัว ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะบุหรี่ไม่ได้มีพิษแค่คนที่สูบเท่านั้น แต่มีพิษไปจนถึงคนรอบข้าง รวมถึงผลกระทบของบุหรี่มือสอง มือสาม และลูกในครรภ์ จึงจำเป็นที่จะต้องรณรงค์และส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวที่สูบบุหรี่ไม่สูบบุหรี่ภายในบ้าน เพื่อร่วมสร้างความตระหนักและสร้างความเข้าใจในการดูแล/ปกป้องสมาชิกภายในครอบครัวไม่ให้ได้รับควันบุหรี่มือสองหรือได้รับน้อยที่สุด และหนึ่งในมาตรการที่ใช้ในการปกป้องเด็กจากควันบุหรี่ในบ้าน คือ การรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือ บ้านปลอดบุหรี่

 

พร้อมย้ำว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมและลดการบริโภคยาสูบ พร้อมทั้งมุ่งมั่นดำเนินงานควบคุมยาสูบอย่างเข้มข้น ซึ่งการที่จะช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ในครอบครัวสามารถลด ละ เลิกบุหรี่ได้นั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการส่งเสริมสุขภาพ ในการส่งเสริมและเกื้อหนุนให้ครอบครัวและผู้สูบบุหรี่ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและครอบครัวแบบองค์รวม เพื่อนำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมสุขภาพที่สามารถปฏิบัติ ได้จริง จำเป็นต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ ผู้สูบบุหรี่ ครอบครัว ทีมบุคลากรสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบ เป็นต้น
         

สสส. หนุน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ขับเคลื่อน "ครอบครัวปลอดบุหรี่" เพื่อลดจำนวนผู้สูบ

 

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาธีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "หนุนแรงใจให้คนอยากเลิก (บุหรี่) ด้วยพลังรักครอบครัวและชุมชน" ว่า การขับเคลื่อนให้เลิกบุหรี่ในระดับครอบครัว ถือเป็นงานระดับสากลที่มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งผลเสียของการสูบบุหรี่ในบ้านต่อเด็ก คือ ควันบุหรี่จะเป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ ไปจนถึงโรคหูส่วนกลางอักเสบ และเพิ่มโอกาสให้เด็กเป็นโรคหืดได้ถึง 2 เท่า หรือมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ส่วนในผู้ใหญ่นั้น หากได้รับควันบุหรี่มือสองอาจจะเป็นมะเร็งปอด พร้อมทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและเส้นเลือดสมอง ทำให้เกิดอักเสบของหลอดเลือดของเยื่อบุภายในด้วย
           

 

ขณะเดียวกันเด็กอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ มีโอกาสติดบุหรี่มากกว่าบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่เลยถึง 3 เท่า ส่วนเด็กวัยรุ่นเมื่อติดบุหรี่แล้วจะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงอย่างอื่น เช่น ทฤษฎีเกตเวย์เอฟเฟค ที่การสูบบุหรี่จะทำให้วัยรุ่นหันไปใช้สารเสพติดชนิดอื่นมากกว่าปกติถึง 17 เท่า ซึ่งการรับสารนิโคตินจากบุหรี่จะเป็นการทำให้สมองเตรียมความพร้อมในการรับสารเสพติดชนิดอื่นมากขึ้น พร้อมมองว่าประเด็นการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน จะมีมิติของสุขภาพและฐานะทางการเงินในครอบครัว หากบ้านปลอดจากบุหรี่แล้วก็จะช่วยลดต้นแบบที่ไม่ดี ที่สามารถนำไปสู่การเสพสารเสพติดชนิดอื่น ๆ พร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรได้มากขึ้น

          

สสส. หนุน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ขับเคลื่อน "ครอบครัวปลอดบุหรี่" เพื่อลดจำนวนผู้สูบ


ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่จะมีผลต่อสมองของเยาวชน ซึ่งโดยปกติสารโดปามีนจะทำให้วัยรุ่นมีอารมณ์รุนแรงอยู่แล้ว จะสังเกตได้ว่าครอบครัวที่มีวัยรุ่นจะพบเรื่องทะเลาะกับผู้ปกครองในช่วงเช้า และช่วงเย็นก็จะลืมเหตุการณ์นั้นไป อันนี้คือกลไกปกติของทางสมอง โดยในช่วงวัยรุ่นจะเริ่มมีการพัฒนาสมองส่วนคิดชั้นสูงที่คอยจัดการกับความเครียดเหล่านี้หรือเบรคอารมณ์ แต่เมื่อมีสารนิโคตินเข้ามาจะเข้าไปกดการทำงานของสมองส่วนคิดชั้นสูง ที่ทำให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้มากขึ้น จนนำมาสู่วงจรแห่งความพึงพอใจ ที่ไปอยู่กับเพื่อนหรือสภาพแวดล้อมเดียวกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเด็กที่มีการสูบบุหรี่จะมีอารมณ์ที่รุนแรงมากกว่าปกติ และก็จะนำไปสู่เกตเวย์เอฟเฟคในการเสพยาเสพติดชนิดอื่นได้ต่อไป
            

 

ขณะที่นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการสนับสนุนครอบครัวปลอดบุหรี่ กล่าวถึงการดำเนินงานของโครงการกิจกรรมห้องเรียนครอบครัวปลอดบุหรี่ว่า หัวใจของโครงการนี้ คือ ครอบครัวของผู้สูบบุหรี่ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันแบบมีส่วนร่วม โดยมีประสบการณ์แลกเปลี่ยนร่วมกัน เริ่มทำแผนในระดับครอบครัว แผนชุมชน และเพิ่มทักษะการสื่อสารเพื่อให้เกิดการเลิกบุหรี่ในระดับครอบครัว มองว่าการสื่อสารทางบวกช่วยได้ โดยให้ครอบครัวเป็นส่วนช่วยกันการประคับประคองให้มีส่วนช่วยในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลง ขณะนี้ได้พัฒนาคู่มือในการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับครอบครัวอื่น ๆ เพราะบางทียังมีบางครอบครัวที่ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร ซึ่งจะมีการจัดการอารมณ์ตัวเอง การฟัง การชื่นชม การให้กำลังใจในความพยายาม เป็นส่วนช่วยในการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน
         

ด้านนางรัศมี มณีนิล ผู้ดำเนินรายการวิทยุเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงโครงการกิจกรรมพัฒนาดีเจน้อย เสียงเล็ก ๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ว่า ในโครงการนี้เป็นการต่อยอดจากโครงการกิจกรรมห้องเรียนครอบครัวปลอดบุหรี่ ให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยตนเองมองว่าเด็กน่าจะมีอิทธิพลกับการให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อเลิกบุหรี่ จึงได้เริ่มโครงการนี้ขึ้น นำร่องที่จังหวัดนนทบุรีและลำปางก่อน ทำให้เกิดผลเกินความคาดหมาย คือ ผู้ปกครองของเด็กที่เข้าร่วมโครงการดีเจน้อยเลิกบุหรี่ได้สองคน เพราะผู้ปกครองเกิดความรู้สึกผิดและอยากเลิก จึงได้ขยายผลเพิ่มขึ้นใน 4 จังหวัดคือ นนทบุรี ลำปาง ตรัง และอุบลราชธานี

 

โดยจัดโครงการในกลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีการให้ความรู้ประเด็นอันตรายจากบุหรี่ โรคร้ายจากบุหรี่ พิษภัยจากบุหรี่มือสองและมือสาม รวมทั้งเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า โดยนำภาพผลร้ายของการสูบบุหรี่มาใช้ จะทำให้เกิดภาพจำ เช่น ภาพปอดที่มีสีดำจากการสูบบุหรี่ เพื่อให้เด็กเตือนต่อไปยังพ่อแม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เกิดนักสูบหน้าใหม่ และสามารถนำมาต่อยอดได้ต่อไป พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมที่ชื่อว่า "ห้องแห่งความลับ" ที่ให้เด็กได้บันทึกเสียงเรื่องที่อยากจะบอกครอบครัวหรืออยากสื่อสารไปยังผู้ปกครอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุกความคิดเพื่อนำมาสู่การเลิกบุหรี่ในบ้านได้อีกด้วย
           

 

ขณะที่พ่อบุญโฮม คำสุข ตัวอย่างผู้เลิกสูบบุหรี่ กล่าวว่า สูบบุหรี่มากว่า 42 ปี เคยคิดอยากจะเลิก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีคนสูบ ทำให้ยังไม่สามารถเลิกได้อย่างเด็ดขาด พอเกิดอาการปวดหัวจึงไปพบแพทย์ พบว่ามีภาวะความดันสูงและปอดติดเชื้อ แพทย์จึงแนะนำให้มาคลินิกเลิกบุหรี่ ประกอบกับภรรยาได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนครอบครัวปลอดบุหรี่ จึงให้กำลังใจมาโดยตลอด และยังได้รับการดูแลทั้งจากแพทย์ และครอบครัวทุกคน ด้วยการให้ดื่มชาหญ้าดอกขาววันละ 3 แก้ว แม้ช่วงแรกจะรู้สึกหงุดหงิด ปวดหัวจนนอนไม่หลับบ้าง แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ จนทำให้ขณะนี้ตนเองเลิกบุหรี่มาได้กว่า 1 เดือน ซึ่งสัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับไปสูบอีกเด็ดขาด

 


ในการเสวนาครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มย่อย 3 ประเด็น ได้แก่ แนวทางการสนับสนุนให้บ้านปลอดบุหรี่ บทเรียนสำคัญในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ และบทเรียนการทำงานรณรงค์เผยแพร่ความรู้เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งแนวการสนับสนุนให้บ้านปลอดบุหรี่นั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างให้ความเห็นว่า ต้องมีการลงพื้นที่สำรวจไปในแต่ละชุมชนว่ามีจำนวนผู้สูบบุหรี่เท่าไหร่ พร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ปัจจัยสำคัญ คือ การสื่อสารในเชิงบวก ไม่ว่าจะมาจากลูก หรือคนในครอบครัว การให้กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พร้อมกันนี้หน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่นควรมีการจัดโครงการบุคคลต้นแบบในการเลิกบุหรี่ในระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อนเพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้ ควบคู่กับการทำสื่อประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ผ่านการรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ และขยายพื้นที่สำหรับการปลอดบุหรี่ในชุมชนให้กว้างขึ้น
         

 

ส่วนบทเรียนสำคัญในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ พบว่า ต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้สูบบุหรี่อย่างลึกซึ้ง ซึ่งนางสุพิมพ์ ค้าขาย ครูอาวุโส ที่ปรึกษาโรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ (โครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า ได้ปรับมุมมองคิดให้นักเรียนเลิกบุหรี่ให้ได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำเป็นพี่เลี้ยงให้เยาวชนเป็นแกนนำสื่อสารกันเองโดยมีครูเป็นผู้คอยกำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือในขั้นสุดท้าย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีที่ยืนในสังคม จนนำมาสู่การเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ซึ่งการทำงานต้องมีความชัดเจน ไม่มีวันหยุด มีกลไกในการดูแลอย่างเป็นระบบ มีการออกมาตรการในคู่มือนักเรียนอย่างชัดเจน ตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงผู้ปกครอง ซึ่งผู้บริหารต้องยอมรับในโครงการนี้ด้วย
          

 

ขณะที่บทเรียนการทำงานรณรงค์เผยแพร่ความรู้เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างให้ความเห็นว่า ต้องเริ่มจากสร้างแรงจูงใจและความตระหนักระดับบุคคล ให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัย มีความอดทน พร้อมกับสร้างความอบอุ่นในครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ช่วยกันตั้งกติกาในชุมชน โดยมีสื่อเป็นตัวกระตุ้นสนับสนุนให้เลิกบุหรี่ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายแกนนำ เพื่อให้เกิดสื่อสาร เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นต่าง ๆ เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ ใช้กระบวนการสื่อสารอกแบบปากต่อปากในระดับบุคคลเพื่อให้เกิดการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ซึ่งประสบการณ์จากทำงานที่ผ่านมา พบว่าบางส่วนยังไม่ได้ผลมากนักเพราะยังมีสภาพแวดล้อมและความอยากรู้อยากลองในกลุ่มเพื่อน ดังนั้น การที่คนในครอบครัวเป็นแบบอย่างในการไม่สูบบุหรี่ในบ้านและจัดสภาพแวดล้อมไม่ให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ได้อย่างสะดวก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ