ประชาสัมพันธ์

"การจดทะเบียนสมรส" เรื่องสำคัญที่บ่าว-สาวควรรู้ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครที่ยังกำลังถกเถียงหรือลังเล เรื่องการจดทะเบียนสมรส ลองอ่านเรื่องความสำคัญของทะเบียนสมรส และประโยชน์ของทะเบียนสมรสที่นำมาบอกกันก่อนดีกว่า

 

          ทะเบียนสมรส คือเอกสารราชการที่ออกโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายทะเบียนผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทะเบียนสมรสเป็นเอกสารยืนยันสถานะความสัมพันธ์ และเป็นหลักฐานสำหรับการยืนยันสิทธิ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างหญิงชายคู่นั้น เช่น การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดา และบิดา ซึ่งจะทำให้บุตรได้รับสิทธิ์ต่างๆ การแบ่งสินสมรส เป็นต้น ในปัจจุบันการให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนสมรสจึงแตกต่างกันไปตามรายบุคคลขึ้นอยู่กับการตกลงยินยอม และเหตุผลของคู่หญิงชายเอง 

 

 

         
          ถึงอย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีคู่หญิง-ชายใช้บริการจดทะเบียนสมรสเป็นจำนวนมาก อาทิ ในปี พ.ศ. 2562 มีผู้จดทะเบียนสมรสรวมทั้งสิ้นกว่า 328,875 คู่ทั่วประเทศ (ที่มา http://stat.bora.dopa.go.th/stat/marry) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี “วันวาเลนไทน์” ถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการเริ่มต้นชีวิตคู่  สำนักทะเบียนแต่ละแห่งต่างจัดกิจกรรมเพิ่มความสนุกสนาน และประทับใจ เพื่อร่วมยินดีกับคู่หญิงชาย เช่น  การจดทะเบียนบนหลังช้างของ จ.สุรินทร์ การจดทะเบียนใต้สมุทรของ จ.ตรัง การจดทะเบียนบนบอลลูนของ  จ.เชียงราย

 

          โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมากรมการปกครองได้เพิ่มงานบริการคัดรับรองเอกสารราชการ 2 ภาษา ซึ่ง “ทะเบียนสมรส” เป็น 1 ใน 27 เอกสารงานบริการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยการนำทะเบียนสมรสฉบับภาษาอังกฤษยื่นขอรับรองนิติกรณ์เอกสารที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวง   การต่างประเทศ ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างแปลเอกสาร ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในการนำไปประกอบการทำนิติกรรม และธุรกรรมต่างๆ  

 

 

"การจดทะเบียนสมรส" เรื่องสำคัญที่บ่าว-สาวควรรู้ 

 

 

          ทั้งนี้ ผู้จดทะเบียนสมรสต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 
          - ชายหรือหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ กรณีมีเหตุอันควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรส
          ก่อนที่ชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้ กรณีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
          - ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ 
          - ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
          - ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
          - ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
          - หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน 


          โดยคู่สมรสสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ 
หรือสำนักทะเบียนเขตทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-791-7018-19 และ สายด่วน 1548 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ