ข่าว

น้ำกับน้ำมัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต้องขออนุญาตพักซีรีส์เรื่องสเปกรถไว้สักตอนหนึ่ง วันนี้ก็จะหันกลับมาพูดกันถึงเรื่องการดูแลรถที่เกี่ยวข้องกับน้ำฝนน้ำหลากน้ำไหลน้ำท่วม จนทำให้เครื่องยนต์ที่วิ่งอยู่ดีๆ ดับไปเพราะเกี่ยวเนื่องกับ น้ำเข้าไปผสมกับน้ำมัน ในถังน้ำมันเชื้อเพลิงของรถ

  คงมีคำถามตามมาอีกว่า น้ำจากภายนอกหรือน้ำฝนน้ำท่วมน้ำขังเข้าไปในถังน้ำมันทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลได้อย่างไร จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นถังน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลของรถในปัจจุบันแม้ว่าถังน้ำมันในรถยนต์ส่วนมากจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นตัวถังแต่ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์นั้นเหมือนกับว่าเป็นระบบปิด ที่มีทางเข้าออกได้ทางเดียวคือ ที่เติม (ฝาถัง)

 ส่วนในเครื่องยนต์ดีเซลแม้ว่าจะมีท่อน้ำมันไหลกลับถัง(จากการเหลือใช้ที่ฉีดเข้าไปในห้องเผาไหม้)แล้วก็ตามแต่ถ้าไม่มีการรั่วซึมแล้วเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่น้ำจะเข้าไปในระบบโดยผ่านทางท่อไหลกลับแม้น้ำจะท่วมตัวรถจนมิดคัน ดังนั้นทางเดียวที่น้ำจะเข้าไปอยู่ในถังน้ำมันได้ก็คือทาง ฝาถัง หรือที่เติมน้ำมัน

 เมื่อต้องการเติมน้ำมันเราจะเปิดฝาครอบ(ฝาครอบตัวนี้เมื่อต้องการพ่นสีตัวรถหรือชิ้นส่วนบางชิ้นช่างสีจะสะกิดเอาฝาครอบตัวนี้ไปเป็นตัวอย่างเทียบในการผสมสี)ของฝาถังออกก่อนฝาครอบตัวนี้ไม่สามารถที่จะกันน้ำได้ ล้างรถ ฝนตก น้ำท่วม น้ำจะเล็ดลอดผ่านฝาครอบ ตัวนี้ แต่ไม่สามารถที่จะเข้าไปในถังได้ เพราะจะไปเจอกับฝาถังน้ำมันที่ปิดแน่นกับ ท่อเข้าถัง ฝาถังตัวนี้อาจจะเป็นเกลียว อาจจะเป็นล็อกบิด แต่ทั้งสองแบบก็จะมี ซีลยาง (แผ่นยางกลมสีดำจะเห็นได้เมื่อหงายฝาถังขึ้นดู) ป้องกันน้ำมันกระฉอก และป้องกันสิ่งปลอมปนที่จะเข้าไปในถัง

 โอกาสที่น้ำจะเข้าไปในถังน้ำมันผ่านทางนี้ได้ก็คือ ปิดฝาถังไม่สนิท หรือซีลยางหมดสภาพตามอายุการใช้งานที่ผ่านไป เมื่อแน่ใจว่าเครื่องดับเพราะน้ำเข้าไปผสมกับน้ำมัน จะต้องเริ่มหาสาเหตุที่ฝาถังน้ำมันตัวนี้ก่อน

 หนทางที่น้ำจะเข้าไปในถังได้เหลืออยู่อีกอย่างเดียวคือจาก ปั๊มน้ำมัน ที่มีน้ำเข้าไปผสมในถังเก็บน้ำมันใต้ดินที่อาจจะเกิดจากสภาพถังเก่าผุน้ำ(หนักกว่าน้ำมัน)ซึมเข้าไปสะสมสมไว้ หรืออาจจะเป็น ฝนตกน้ำท่วม พื้นผิวของปั๊มน้ำมันจนทำให้น้ำเข้าไหลลลงถังใต้ดินได้

 ในฤดูฝนหรือฤดูน้ำท่วมน้ำหลากการเติมน้ำมันควรจะหลีกเลี่ยงสถานีเติมที่ เก่าแก่ ปั๊มที่ที่อยู่ในเขต ในบริเวณน้ำท่วม น้ำหลาก หรือตัวปั๊มอยู่ต่ำกว่าระดับถนนสายหลัก มีบ่อยครั้งที่เติมน้ำมันแล้ววิ่งออกจากปั๊มไปได้ไม่นานเครื่องยนต์ดับ เมื่อพิสูจน์หรือสันนิษฐานได้ว่า มีน้ำเข้าไปผสมกับน้ำมัน แม้จะมีปัญหายุ่งยากที่จะทำการแก้ไข แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่จะเสียเงินเสียทองมากมาย เมื่อลากรถเข้าอู่ เข้าศูนย์บริการจากน้ำเข้าไปในถังน้ำมัน ผู้ใช้รถมักจะถูกขู่ ถูกเข็นว่า มีชิ้นส่วนราคาแพงเสียหายใหญ่โต เช่น หัวฉีดเสีย แล้วต้องเปลี่ยน ปั๊มแรงดันสูง (ในเครื่องดีเซลคอมมอนเรลพังแน่ๆ ต้องเปลี่ยน ปั๊มติ๊ก (ทั้งในเครื่องเบนซินและคอมมอนเรล) เสียต้องเปลี่ยน รวมราคาแล้วเป็นเงินหลายๆ หมื่นหรือเป็นหลักแสน

 แต่โดยความเป็นจริงแล้ว น้ำที่เข้าไปอยู่ในถังน้ำมันชั่วขณะหนึ่ง(หลังจากการเติมครั้งล่าสุด)ไม่ว่าจะมากจะน้อยเท่าใดไม่สามารถที่จะทำให้ชิ้นส่วนใดเสียหายได้เลย เพราะเมื่อมีน้ำเข้าอาการแรกเริ่ม(ทั้งเครื่องเบนซินดีเซล) เครื่องจะสะดุด เร่งไม่ขึ้นแล้วก็จะดับลง ทางแก้ไขหลังจากลากรถเข้าที่ซ่อมแล้วก็คือ ถ่ายน้ำมันในถังออก ทำความสะอาดในถังให้หมดจด

 ถอด ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ออกเปลี่ยนใหม่หรือล้างด้วยน้ำมันให้หมดน้ำ จากท่อส่งน้ำมันที่ถังจนถึงทางเข้าไส้กรอง ใช้แรงลมปานกลางเป่าไล่น้ำหรือน้ำมันที่ตกค้างอยู่ในท่อให้หมด ประกอบทุกอย่างเข้าที่ เติมน้ำมันใหม่ที่สะอาดลงไปพอประมาณ สตาร์ทเครื่องให้ติด จากก่อนนี้สตาร์ทกันแบบชึ่งเดียวติดแต่ตอนนี้อาจจะต้องสตาร์ทกันหลายชึ่งเพราะเชื้อเพลิงในระบบถูกทิ้งไปก่อนนี้

 เมื่อเครื่องติดระยะแรกอาจจะเดินไม่เรียบมีอาการสะดุดอยู่บ้างก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติเพราะ น้ำยังค้างคาอยู่ในรางน้ำมัน ในหัวฉีด ในปั๊ม (ทั้งปั๊มติ๊กและปั๊มแรงดันสูง) ปล่อยให้เครื่องเดินตามสภาพของมันจนระดับวัดอุณหูมิของเครื่องถึงระดับใช้งานปกติ (ครึ่งเกหรือที่ 80 บนมาตรวัด) จากนั้นขับทดสอบรอบๆสถานที่ซ่อม จนแน่ใจว่าเครื่องยนต์เป็นปกติแล้ว จ่ายเงินค่าแรง ค่าไส้กรองเชื้อเพลิง ค่าซีลยางที่ฝาถัง(ถือโอกาสเปลี่ยน) ซึ่งก็คงจะเป็นแค่หลักพันต้นๆ แล้วขับรถไปเติมน้ำมันตามเกรดที่ใช้ ค่าของความเสียหายก็มีอยู่เท่านี้ ถ้าถูกขู่ถูกเข็นให้เปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ก็บอกไปเสียงดังๆ ได้เลยว่า ไม่มีเงินโว้ย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ