ข่าว

ส่องชีวิตชาวไทยในกว่างโจว หลังเผชิญ "โควิด-19" แบบกลุ่มก้อน (คลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มีชาวไทยกลุ่มหนึ่งในประเทศจีนที่ต้องเผชิญกับการระบาดของ "โควิด-19" ที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง แม้จะอยู่ไกลบ้านแต่พวกเขาก็รู้สึกอุ่นใจไม่น้อย

ในยามที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ยังคงระบาดทั่วโลก พร้อมๆ กับการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของนานาประเทศ มีชาวไทยกลุ่มหนึ่งในประเทศจีนที่ต้องเผชิญกับการระบาดที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง แต่ถึงแม้จะอยู่ไกลบ้าน พวกเขาก็แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบของจีนทำให้ตนรู้สึกอุ่นใจไม่น้อย

ใกล้ครบหนึ่งเดือนแล้วนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ที่ นครกว่างโจว ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน รายงานกรณีการติดโรคโควิด-19 แบบเป็นกลุ่มก้อน โดยพบผู้ป่วยสะสมจากการติดเชื้อในท้องถิ่นรอบดังกล่าวรวม 151 ราย เมื่อนับถึงวันอังคาร (16 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ทางการนครกว่างโจวจึงสนับสนุนให้ประชาชนในเมืองฉลองเทศกาลวันหยุดโดยไม่เดินทางออกจากกว่างโจวหรือกว่างตงหากไม่จำเป็น

โรคโควิด-19, โควิด-19, วัคซีน โควิด-19

ไม่ต่างจากชาวกว่างโจวจำนวนมาก “เม” หรือ สุวศิน เกษมปิติ อาจารย์ชาวไทยผู้สอนวิชาภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง ก็ใช้เวลาช่วงวันหยุดอยู่ที่กว่างโจวเช่นกัน

แม้จะรู้สึกว่ากรณีพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในท้องถิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ สุวศิน กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกกังวลมากนัก เพราะตั้งแต่เดินทางเข้ามายังประเทศจีนเมื่อเดือนมีนาคม ก็ได้รับการดูแลจากรัฐบาลจีนอย่างเป็นระบบและเข้มงวด ตลอดทั้งช่วงกักตัว 14 วัน โดยเขาเล่าว่าทางมหาวิทยาลัยได้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทั้งด้านการตรวจกรดนิวคลีอิกและการฉีดวัคซีน โควิด-19 ซึ่งทำให้ตนรู้สึกสบายใจและปลอดภัยแม้จะอยู่ในต่างแดน

 

โรคโควิด-19, โควิด-19, วัคซีน โควิด-19

(แฟ้มภาพซินหัว : สุวศิน เกษมปิติ สอนภาษาไทยให้แก่นักศึกษาชาวจีน ที่มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง ในนครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน)

ด้านการเดินทางในปัจจุบัน สุวศิน กล่าวว่า ก่อนขึ้นรถประจำทางและรถไฟใต้ดินจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ และแสดงรหัสสุขภาพสีเขียวซึ่งแสดงถึงสุขภาพปกติ ส่วนรหัสสีเหลืองคือผู้ที่เคยเดินทางผ่าน เคยไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือมีประวัติติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการทดสอบกรดนิวคลีอิกและต้องทำงานจากที่บ้านทันที

นครกว่างโจวได้ทำการตรวจกรดนิวคลีอิกขนานใหญ่ให้ชาวเมืองทุกคนโดยแบ่งออกเป็น 3 รอบ ระหว่างวันที่ 21 พ.ค.- 12 มิ.ย. และเมื่อนับถึง 21.00 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. กว่างโจวทำการทดสอบกรดนิวคลีอิกแล้ว 36.02 ล้านครั้ง นับเป็นการทดสอบกรดนิวคลีอิกครั้งใหญ่ที่สุดของบรรดาเมืองต่างๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปีก่อน

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 4 - 5 มิ.ย. มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้งก็ได้ทำการทดสอบกรดนิวคลีอิกเพื่อ ตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา และพนักงานทุกคนในมหาวิทยาลัยรวมทั้งสิ้นเกือบ 25,000 คน

สำหรับเรื่องการกลับมาเรียนของนักศึกษาชาวต่างชาติ ไช่หง คณบดีคณะครุศาสตร์สำหรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยฯ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ไม่มีนักเรียนต่างชาติที่กลับมาเรียนด้วยวีซ่านักเรียน และการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงดำเนินไปในรูปแบบของหลักสูตรออนไลน์

ธัญชนิต แซ่ตัน นักศึกษาชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฯ เล่าว่า เธอได้เข้าร่วมการทดสอบกรดนิวคลีอิกด้วย โดยเธอมองว่าการตรวจคัดกรองขนานใหญ่สามารถรับประกันความปลอดภัยของนักเรียนและครูอาจารย์ได้ จึงไม่รู้สึกกังวลสำหรับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ การจัดการอย่างเป็นระบบของทางมหาวิทยาลัยเพื่อฉีดวัคซีน โควิด-19 ให้แก่นักเรียนชาวต่างชาติก็ทำให้ตนมั่นใจยิ่งขึ้น พร้อมเผยด้วยว่า ตนได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด

 

ข้อมูลทางการ ณ วันที่ 11 มิ.ย. ระบุว่า กว่างโจวฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 14.4 ล้านโดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีน โควิด-19 แล้ว 10.61 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้ว 3.8 ล้านคน การตรวจกรองกรดนิวคลีอิกขนานใหญ่และการฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบระเบียบ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในกว่างโจวมีแนวโน้มคลี่คลายลง

โรคโควิด-19, โควิด-19, วัคซีน โควิด-19

(แฟ้มภาพซินหัว : บารมี มีมาก นักศึกษาชาวไทยขณะสแกนรหัสสุขภาพเพื่อเข้าใช้บริการฟิตเนส ในนครกว่างโจว (กวางตุ้ง) มณฑลกว่างตง ทางตอนใต้ของจีน)
 

บารมี มีมาก หรือ เบียร์ เป็นนักศึกษาชาวไทยอีกราย ที่ต้องพับแผนเดินทางท่องเที่ยวเมืองตากอากาศในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) อย่างนครซานย่า เพราะการระบาดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เบียร์ซึ่งใช้ชีวิตในกว่างโจวมานานเกือบ 10 ปี กล่าวว่าแม้จะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาด โควิด-19 รอบล่าสุด แต่ตนก็ไม่รู้สึกกังวลใจ พร้อมเล่าถึงข้อดีของแอปพลิเคชัน Health Code ที่จีนพัฒนาขึ้นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมี เพราะสามารถบอกสถานะการตรวจกรดนิวคลีอิกและการฉีดวัคซีนได้

เบียร์เดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น เมื่ออายุ 18 ปี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในเมืองแห่งนี้ โดยบัญชีโต่วอิน (TikTok) ที่เธอมักเล่นในยามว่างนั้นมีผู้ติดตามถึง 70,000 คน

เดือนกันยายนปีนี้ เบียร์กำลังจะศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ ที่มหาวิทยาลัยครูหัวหนาน “ฉันหวังให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลงโดยเร็ว เพื่อที่จะสามารถเปิดเรียนได้อย่างราบรื่น” เบียร์ กล่าวทิ้งท้าย

ส่องชีวิตชาวไทยในกว่างโจว หลังเผชิญ "โควิด-19" แบบกลุ่มก้อน (คลิป)

โรคโควิด-19, โควิด-19, วัคซีน โควิด-19

(แฟ้มภาพซินหัว : สุวศิน เกษมปิติ สาธิตขั้นตอนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง ในนครกว่างโจว (กวางตุ้ง) มณฑลกว่างตง ทางตอนใต้ของจีน)

CR : xinhuathai.com

เอื้อเฟื้อบทความโดย รศ.หลัวอี้หยวน(อ.อ้อม)และ ผศ.เลี่ยวอวี่ฟู(อ.แก้ว)ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ