ข่าว

ศึกชิงบัลลังก์ยกใหม่ในซาอุดีอาระเบีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

           

               เหมือนกับเอาเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 4 ปีเศษมาเล่าใหม่ไม่มีผิด กรณีทางการซาอุดีอาระเบียจับกุมพระบรมวงศ์ชั้นสูงผู้ทรงอิทธิพล 3 พระองค์ ประกอบด้วยว่า เจ้าชายอาเหม็ด บิน อับดุลอาซิส อัล-สะอูด พระราชอนุชาในสมเด็จพระราชาธิบดี ,เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ พระราชภาติยะ อดีตมกุฎราชกุมารและรัฐมนตรีมหาดไทย  และ  เจ้าชายนาวาฟ บิน นาเยฟ พระอนุชาในเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ

 

                ศึกชิงบัลลังก์ยกใหม่ในซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่มีการจับกุมเจ้าชายผู้ทรงอิทธิพล   นับตั้งแต่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อต้นปี 2558 ก็ทรงเปลี่ยนกฎมณเทียรบาลที่ไม่ได้ตราเป็นลายลักษณ์อักษรว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์จากพี่สู่น้องตามประเพณีนิยมเป็นจากพ่อสู่ลูกแบบตะวันตก เพื่อจะผลักดัน เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือ เอ็มบีเอส พระโอรสองค์โปรด ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารด้วยวิธีพิเศษตั้งแต่ปลดเจ้าชายมกุฎราชกุมาร 2 พระองค์ และไม่ยอมเปิดประชุมสภาพระราชวงศ์ อันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและสภาผู้นำชนเผ่า เพื่อให้ลงฉันทามติรับรองการแต่งตั้งครั้งนี้ ดังนั้นในสายตาของคนวงในแล้วเจ้าชายเอ็มบีเอสไม่ใช่เจ้าชายมกุฎราชกุมารโดยชอบอย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรม

 

 

 

               กว่า 4 ปีที่ผ่านมา จึงมีการกวาดล้างกระแสไม่เอาเอ็มบีเอส.หลายครั้งด้วยข้ออ้างต่างๆนานา อาทิ การหลอกเจ้าชาย 3 พระองค์ที่ประทับที่ยุโรปและเป็นคนเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของสมเด็จพระราชาธิบดีและเจ้าชายเอ็มบีเอสผ่านสื่อตะวันตกอยู่เนืองนิตย์ ให้เสด็จกลับประเทศแล้วสั่งจับกุมคุมขังทันทีโดยไม่ให้เหตุผลใดๆ หรือการจับเจ้าชาย 11 พระองค์รวมทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจรวดเดียวหลายสิบคนในข้อหาทุจริตคอรัปชั่น

 

               หลายฝ่ายมองว่าการจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงครั้งล่าสุด ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของความพยายามจะกอบกู้พระราชอำนาจและรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของของเจ้าชาย เอ็มบีเอส พระชนมายุ 34 พรรษา หลังจากช่วงปีเศษที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าพระราชอำนาจเริ่มอ่อนลง ทรงถูกโจมตีมากขึ้นว่าทรงกระหายอำนาจและประสบความล้มเหลวในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ดังที่พยายามสร้างภาพผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ของตะวันตกอยู่เนืองนิตย์

               โดยเฉพาะการเชื่อกันว่าพระองค์ทรงรู้เห็นกับการสังหารจามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์ปากกล้า ทำให้แผนเปลี่ยนผ่านพระราชอำนาจโดยสันติมีอันสะดุดลง ในช่วงที่พระพลานามัยของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานไม่ค่อยสู้ดีนัก  เนื่องจากพระชนม์มากแล้วประกอบกับเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำให้เจ้าชายเอ็มบีเอสทรงรู้สึกว่าสถานภาพขององค์เองยังไม่มั่นคงมากพอ เพราะถูกต่อต้านจากเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเหล่านี้ โดยไม่ทรงมองว่าปัญหามาจากองค์เองตั้งแต่ต้นแล้ว จนทำให้ 3 เสาหลักที่ประคองสถาบันให้มั่นคงจนทุกวันนี้เริ่มปริร้าวมากขึ้นทุกขณะ

 

 

           

               พระราชาธิบดีอับเดลาซิซ อัล ซาอุด ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อัล ซาอุด ได้ทรงสร้าง 2 เสาหลักเพื่อเป็นหลักประกันเสถียรภาพของราชวงศ์

               เสาหลักแรกก็คือ ประชาชน ซึ่งพระองค์ตรากฎเลยว่า ต้องกระจายรายได้จากน้ำมันให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี แลกกับการจงรักภักดีต่อราชตระกูลอัล ซาอุด

               เสาหลักที่ 2 ก็คือการเป็นพันธมิตรกับนิกายวาฮะบี นิกายหลักของประเทศนี้ นอกจากนี้ยังทรงกำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะต้องเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเพื่อประกันเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งหลายคนเชื่อว่านี่คือ เสาหลักเสาที่ 3 

               แม้ว่าเจ้าชายเอ็มบีเอสทรงอ้างว่าได้ทรงพยายามสานต่ออย่างดีที่สุด อย่างไรก็ดีมีร่องรอยถึงรอยปริร้าวใน 3 เสาหลัก

               รอยร้าวในเสาหลักแรกเป็นเพราะประชากรขยายตัว มีคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษามากขึ้นขณะที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาแต่น้ำมันเริ่มไร้ผล สุดท้าย  ซาอุดีอาระเบียก็ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าชายเอ็มบีเอสไม่ได้พยายามจะล้มโครงสร้างการเล่นพรรคเล่นพวก อันเป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจอย่างจริงใจและจริงจัง เพียงแค่พยายามล้มกลุ่มอำนาจเก่าแล้วสร้างกลุ่มอำนาจใหม่ที่ภักดีต่อพระองค์ขึ้นมาแทนที่เท่านั้น

           

 

               นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมาร พระองค์ได้ทรงรวบอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐบาล ด้วยตั้งพระอนุชาเข้าไปรั้งตำแหน่งสำคัญๆ อย่างเจ้าชายอับดูลาซิซ บิน ซัลมาน พระอนุชาต่างพระมารดาเป็นรัฐมนตรีกิจการพลังงานอันเป็นเสมือนขุมคลังใหญ่สุด ตั้งเจ้าชายคาหลิด บิน ซัลมาน พระอนุชา เป็นเอกอัครราชทูตซาอุดีฯประจำสหรัฐ แต่ต่ออมาให้รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหม

           

                เจ้าชายบาดร์ บิน อับดุลเลาะห์ บิน โมฮัมเหม็ด บิน ฟาร์ฮัน อัล ซาอุด  ที่เป็นตัวหลอกว่าซื้อภาพศิลปะราคาแพง แทนเจ้าชายเอ็มบีเอสได้รับรางวัลตอบแทนเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรม ตั้งเจ้าชายอับดุลเลาะห์ บิน บันดาร์ บิน อับดูลาซิซ อัล ซาอุด เป็นรัฐมนตรีป้องกันประเทศ

 

 

           

               นอกจากนี้ พระองค์ยังดึงสามัญชนมาเป็นฐานอำนาจกลุ่มใหม่ โดยให้นั่งตำแหน่งสำคัญๆที่เคยสงวนสิทธิไว้ให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงโดยเฉพาะเท่านั้น อาทิ พลตรีอาเหม็ด อาซิน คนสนิทที่สุด เป็นรองผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ แต่ภายหลังถูกปลดในข้อหาเป็นตัวการสั่งให้สังหารจามาล คาช็อกกี ขณะที่อาหมัด อัล คาติ้บ คนสนิทอีกคนได้คุมกระทรวงการท่องเที่ยว ส่วนเตอร์กี อัล ชีค คนสนิทอีกคนหนึ่งได้เป็นที่ปรึกษาประจำพระองค์ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรีควบตำแหน่งผู้อำนวยการการกีฬาแห่งชาติและผู้อำนวยการสันทนาการที่เพิ่งตึ้งขึ้นมาใหม่

 

 ศึกชิงบัลลังก์ยกใหม่ในซาอุดีอาระเบีย

 

           สำหรับเจ้าชายเอ็มบีเอสแล้ว ก็ทรงมีตำแหน่งทางการยาวเหยียด นอกเหนือทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารแล้ว ยังทรงเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ทรงเป็นรองประธานคนที่หนึ่งของสภารัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทอุตสาหกรรมทหาร เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนการลงทุนสาธารณะ และเป็นประธานสภาสูงเพื่อซาอุดี อารามโก ฯลฯ

            พูดสั้นๆก็คือพระองค์ทรงคุมทั้งการทหารและการเงินการคลัง รวมถึงบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอารามโก อันถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ ทั้งนี้นับตั้งแต่ขึ้นมามีอำนาจ บริษัททาราวัต โฮลดิ้งในเครือของเจ้าชายเอ็มบีเอส ซึ่งมีเจ้าชายเตอร์กี บิน ซัลมาน พระอนุชาเป็นผู้บริหารแทนพระองค์ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดจากการทำสัญญาใหญ่ๆกับรัฐวิสาหกิจและสถาบันต่างๆ

 

              ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงพยายามสร้างคะแนนนิยมด้วยการรณรงค์ปราบการทุจริตคอรัปชั่น แต่เน้นที่การกวาดล้างและกวาดจับพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นปฏิปักษ์ นักการเมืองและอัครมหาเศรษฐี อาทิ เจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล ราชาสื่ออาหรับและโลก เจ้าชายมีเต้บ บิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีป้องกันประเทศ อับเดล ฟากีห์ อดีตรัฐมนตรีการวางแผนเศรษฐกิจ คาหลิด อัล ทูไวจรี อดีตผู้พิพากษาศาลและวาลีด อัล อิบรอฮิม,ซาเลห์ คาเมลและบาคร์ บิน ลาเดน นักธุรกิจใหญ่ แล้วจัดการตบทรัพย์หรือเรียกค่าไถ่ผู้ต้องหาเหล่านั้นคนละหลายสิบหลายร้อยล้านดอลลาร์แลกกับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ถือเป็นวิธีหาเงินทางลัดที่ทำให้ชื่อเสียงของพระอค์มีแต่จมดิ่งลง

             

               นอกจากนี้ เจ้าชายเอ็มบีเอสยังสร้างภาพว่าเป็นนักปฏิรูปเพื่อจะสร้างคะแนนนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ของชาวซาอุฯและประเทศตะวันตก ด้วยการลดอำนาจล้นฟ้าของกลุ่มศาสนาสายอนุรักษ์นิยม อันเป็นเสาหลักที่ 2 ก็แทบจะล้มคว่ำไม่เป็นท่า หนำซ้ำยังปลุกกระแสคนหัวเก่าให้ลุกขึ้นมาต่อต้าน   พระองค์ยังทรงผลักดันการปฏิรูปสังคม อาทิ ยกเลิกกฎหมายห้ามผู้หญิงขับรถ รื้อฟื้นคำสั่งให้ให้จัดคอนเสิร์ตและฉายภาพยนตร์ได้ ที่สำคัญทรงประกาศวิสัยทัศน์ วิชั่น 2030 เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่รวมทั้งเตรียมนำหุ้นอารามโกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์จากเดิมที่ผูกขาดอยู่ในมือของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงอิทธิพล

 

 

 ศึกชิงบัลลังก์ยกใหม่ในซาอุดีอาระเบีย                

               อย่างไรก็ดี มาตรการรัดเข็มขัดของพระองค์โดยไม่พยายามเข้าไปแก้ไขรากลึกของความยากจน ทำให้ประชาชขนไม่พอใจ กระทั่งบีบให้ยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัด ประกอบกับราคาน้ำมันมีแต่ดิ่งลง ทำให้การนำหุ้นอารามโกเข้าตลาดหลักทรัพย์ประสบอุปสรรค ทำให้วิชั่น 2030 แทบไม่มีอะไรคืบหน้า  ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่พระองค์ทรงฝากความหวังก็เริ่มนิ่งเฉยไม่ลุกขึ้นมาสร้างกระแสสนับสนุน เพราะท้ายที่สุดคนกลุ่มนี้ก็ถูกกวาดล้างเช่นกัน การสังหารคาช็อกกีและการกวาดจับนักเคลื่อนไหวหลายสิบคนทำให้ภาพลักษณ์ของพระองค์ในต่างประเทศมีแต่แย่ลง

           

               ส่วนเสาหลักที่ 3 นั่นก็คือผูกสัมพันธ์กับสหรัฐก็เริ่มง่อนแง่นเช่นกัน ทั้งๆที่พระองค์พยายามอิงแอบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงขั้นทุ่มงบโฆษณาหลายหมื่นล้านบาทให้กับบริษัทล็อบบี้ยิสต์ของนักการเมืองที่สนิทกับทรัมป์ หรือการลงนามในสัญญาซื้ออาวุธล็อตใหญ่จากสหรัฐนับแสนล้านบาท และการทำข้อตกลงทางการค้าอีกแทบนับไม่ถ้วน แม้ว่าทรัมป์จะพยายามทำตัวเป็นโล่คอยปกป้องพระองค์ไม่ให้ถูกรัฐสภาโจมตีจากการกรณีทรงเกี่ยวพันกับการสังหารคาช็อกกี โดยพยายามเบนประเด็นให้เป็นปัญหาภายในของซาอุดีฯแต่ทรัมป์ก็คือทรัมป์ ได้ออกปากทวงบุญคุณว่าถ้าสหรัฐไม่หนุนหลัง ทั้งสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานและเจ้าชายเอ็มบีเอสมีหวังถูกโค่นล้มภายในกี่ชั่วโมง สุดท้าย เจ้าชายเอ็มบีเอสเริ่มทรงตระหนักว่าการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐไม่ได้ช่วยเป็นหลักประกันความมั่นคงของพระองค์และเสถียรภาพในภูมิภาคอีกต่อไป

 

 

 

 ศึกชิงบัลลังก์ยกใหม่ในซาอุดีอาระเบีย

middleeastobserver

 

 

       ประวัติ เจ้าชายอาเหม็ด บิน อับอุล อาซิซ  

 

        เจ้าชายอาเหม็ด บิน อับอุล อาซิซ  พระชนมายุราว 70 พรรษา ถือเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่สุดที่ทรงถูกจับกุม ทรงเป็นพระอนุชาพระองค์เดียวของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานที่ยังมีพระชนม์อยู่

          พระองค์ทรงเป็น 1 ใน “7 พระโอรสสายซูไดรี  ในอดีตสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุล อาซิซกับพระชายาฮุสซา บิน อาเหม็ด อัล ซูไดรี แห่งราชตระกูลที่ทรงอิทธิพล โดยพระเชษฐาร่วมพระมารดาได้ขึ้นมาเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีหรือได้คุมอำนาจในตำแหน่งสำคัญๆ มาถึง 6 รัชกาล พระองค์เองก็มีสิทธิขึ้นครองราชย์เช่นกัน แต่ทรงปฏิเสธสิทธินั้นอย่างน้อย 2 ครั้งและทรงผ่านสิทธินั้นให้เจ้าชายซัลมาน พระเชษฐาต่างพระมารดาให้ขึ้นครองราชย์แทน  

 

 

 

         ส่วนพระองค์ทรงยึดมั่นในภาระกิจหลักในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูงนั่นก็คือค้ำจุนราชบัลลังก์ โดยทรงรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเรดแลนด์ในแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2511ทรงเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในปี 2555 แต่จู่ๆทรงลาออกหลังจากนั้นไม่ถึง 5 เดือน ปล่อยให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นายเยฟ ขึ้นมารั้งตำแหน่งแทน

 

 

         ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทรงดูแลสถานที่ศักดิ์สิทธิที่นครเมกกะและเมดินา ในฐานะสมาชิกของเบยะ หรือสภาพระบรมวงศ์ ซึ่งประกอบด้วยพระบรมวงศ์อาวุโสที่มีหน้าที่อนุมัติผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นรัชทายาทพระองค์ใหม่ ระหว่างการประชุมปี 2560 พระองค์ทรงเป็น 1 ใน 3 พระบรมวงศ์ที่คัดค้านการที่เจ้าชายเอ็มบีเอสจะขึ้นมาเป็นรัชทายาท อีกทั้งยังทรงคัดค้านการรณรงค์ของเจ้าชายเอ็มบีเอสที่เปิดฉากโจมตีเยเมน

 

          ราวกับทรงเป็นนกรู้ ได้รีบเสด็จไปประทับที่กรุงลอนดอนตั้งแต่เดือนพย.2560 ก่อนหน้าที่จะมีการจับกุมเชื้อพระวงศ์ นักการเมืองและนักธุรกิจครั้งใหญ่ในข้อหาทุจริตคอรัปชั่น ก่อนจะเสด็จกลับในเดือนตต. ปีที่แล้ว หลังจากได้รับคำรับรองว่าจะไม่ทรงถูกจับกุม ต่อมามีข่าวว่าพระองค์ทรง เดินสายไปพบปะกับสมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ ท่ามกลางข่าวลือว่าทรงต้องการยึดอำนาจจากเจ้าชายเอ็มบีเอส นำมาซึ่งการถูกควบคุมตัวในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ